KBANK

สถานภาพ KBANK ยังดีอยู่ไหม? หลังเจอปมร้อน STARK เสี่ยงเบี้ยวหนี้

จากข่าว บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีประเด็นฉาวออกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 เริ่มตั้งแต่การเพิ่มทุนขายนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (เพิ่มทุน PP) มูลค่ารวมกว่า 5,580 ล้านบาท โดยอ้างวัตถุประสงค์เพื่อซื้อหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ที่ดำเนินธุรกิจประเภทโซลูชันสายเคเบิลสำหรับยานยนต์ ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 20,588 ล้านบาท แต่ต่อมาในวันที่ 13 ธ.ค. 2565 ทาง STARK ได้ประกาศยกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้น โดยอ้างเหตุผลว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบหลายด้าน

ซึ่งถึงแม้จะยกเลิกแผนการลงทุนไปแล้วแต่เงินเพิ่มทุนกว่า 5,580 ล้านบาท ทางบริษัทฯ ก็ออกมายืนยันว่าจะไม่คืนให้ผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่จะเก็บเม็ดเงินนี้เอาไว้ลงทุนในโครงการในอนาคตที่สร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต ซึ่งประเด็นนี้ได้ทำให้เกิดเป็นที่ตั้งคำถามว่า เป็นการใช้เงินเพิ่มทุนแบบผิดวัตถุประสงค์หรือไม่?

และเมื่อต้นปี 2566 ทาง STARK ก็ได้ออกมาประกาศเลื่อนส่งงบการเงินประจำปี 2565 ออกไปหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดได้ขอเลื่อนไปเป็นเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน 2566 ซึ่งถือว่าเลยจากกำหนดการจริงไปค่อนข้างนาน เพราะจริงๆ แล้วการส่งงบประจำปีของบริษัทในตลาดหุ้นต้องส่งงบไม่เกิน 60 วันหลังปิดไตรมาส (หากไม่ส่งงบไตรมาส 4)

ซึ่งการเลื่อนส่งงบของ STARK นั้น เกิดขึ้นหลังจากผู้สอบบัญชีของ STARK คือ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด และ Special Audit หรือ ผู้จัดทำรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษได้ขอเวลาเพิ่มเติมในการจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 นอกจากนี้ STARK ยังได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริษัททั้งชุดและผู้บริหารที่สำคัญ ทำให้เกิดเป็นการตั้งคำถามต่อความโปร่งใสของงบการเงิน และหลายคนต่างมองว่าโครงสร้างบริหารภายในบริษัทนั้น เกิดปัญหาหรือไม่? ซึ่งขณะนี้ (25 เม.ย.2566) ทางบริษัทยังไม่สามารถชี้แจงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในบริษัทได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ที่ผ่านมา STARK ได้มีการออกขายหุ้นกู้จำนวนมาก ปัจจุบันมีมูลค่าคงค้างรวม 5 ชุด มูลค่ากว่า 9,198 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน ดังนั้น STARK จึงถูกหลายฝ่ายคาดการณ์ว่ามีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงมาก และจะส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้รายใหญ่ 2 รายอย่าง ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ซึ่งเป็นเจ้าหนี้วงเงิน 5 พันล้านบาท และ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB วงเงิน ราว 3 พันล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ธนาคารอาจจะต้องตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่ม และกระทบต่อกำไรสุทธิในท้ายที่สุด

ซึ่งครั้งนี้ทาง ‘Business+’ จะพามาเปิดข้อมูลของ KBANK ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดว่าจะได้รับผลกระทบในประเด็นนี้อย่างไรบ้าง?

โดยไม่กี่วันก่อนหน้านี้ทาง KBANK ได้ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 ออกมา โดยมีกำไรสุทธิ 10,741 ล้านบาท ลดลง 4.14% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ซึ่งจากข้อมูลที่เรารวบรวมแล้ว ทำให้เห็นว่า KBANK เป็นหนึ่งใน 3 จาก 9 ธนาคารที่มีกำไรสุทธิลดลง  ถึงแม้ว่า KBANK จะมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 9.84% ตามอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และการปล่อยสินเชื่อใหม่เหมือนกับทางธนาคารพาณิชย์อื่นๆ  แต่ KBANK จำเป็นต้องมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจทำให้ลูกค้าบางกลุ่มที่มีความเปราะบางอยู่แล้วประสบกับสภาพคล่องทางการเงิน นอกจากนี้ในไตรมาส 1 มีลูกค้ารายใหญ่ที่คุณภาพหนี้มีสัญญาณความเสื่อมถอย ซึ่งคาดว่าคือ STARK โดย KBANK ได้มีการสำรองสำหรับหนี้ส่วนนี้ไว้แล้ว แต่ในอนาคตทาง KBANK อาจพิจารณาความเหมาะสมในการกันสำรองเพิ่มเติมในไตรมาส 2/2566 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2566 ด้วยเช่นกัน

ซึ่งในมุมมองของ บริษัท หลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) มองว่า STARK มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อ KBANK ที่เป็นผู้ปล่อยกู้  ทำให้อาจต้องตั้งสำรองเพิ่มเติม แต่ไม่น่าถูกตัดเป็นหนี้สูญทั้งจำนวน เพราะเงินกู้บางส่วนอาจถูกนำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้  สำหรับผลกระทบ KBANK หลังจากตั้งสำรอง คาดว่าจะกระทบต่อกำไรประมาณ 4.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 9.4% ของประมาณกำไรปี 66 ขณะเดียวกัน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองว่า KBANK ได้มีการตั้งสำรองลูกค้ารายใหญ่ไปแล้วในไตรมาส 1/2566 ทำให้ไม่น่าจะมีผลกระทบกับผลประกอบการในไตรมาสต่อไป แต่การตั้งสำรองทั้งปีอาจเพิ่มสูงขึ้นจากแนวทางเดิมที่ทาง KBANK เคยให้ไว้ ซึ่งหากมีเรื่องไม่คาดคิดเพิ่มเติม

ทั้งนี้เมื่อ ‘Business+’ พิจารณาไปถึงอัตราส่วนเงินกกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม พบว่าทาง KBANK ยังมีอัตราส่วนนี้ค่อนข้างความแข็งแกร่งอยู่ที่ 18.90% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.92% ด้านเงินสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.04% และค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 156.68% ซึ่งถือว่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ระดับ 154.26% โดยอัตราส่วนทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า KBANK ยังคงมีความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงิน

ประกอบกับหากมอง KBANK ในแง่ของการลงทุนแล้วนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น KBANK โดยมองว่า KBANK อาจจะได้รับผลกระทบจากการผิดชำระหนี้แต่ไม่ใช่เสียเงินไปทั้งหมด และอีกส่วนคือ KBANK ได้มีการตั้งสำรองไปค่อนข้างสูงในไตรมาส 4/2566 ทำให้มีเงินสำรองสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี

โดยประเด็นนี้ คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้เคยกล่าวถึงกรณีลูกค้าธุรกิจรายใหญ่รายหนึ่งที่มีปัญหา ซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องการส่งงบการเงินการล่าช้าและปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหารนั้น ธนาคารในฐานะผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้ของบริษัทดังกล่าวและบริษัทนั้นเป็นลูกค้าของธนาคารด้วย มองว่าเป็นปัญหาเฉพาะแห่ง เฉพาะบริษัท ไม่ใช่เป็นปัญหาของระบบ เชื่อว่าบริษัทก็อยู่ระหว่างการหารือแนวทางหรือทางออกกันอยู่ว่าจะปรับแก้ไขอย่างไร และยังไม่ได้มีการหารือกับทางธนาคารแต่อย่างใด

ซึ่งก่อนหน้านี้ในเอกสารแจ้งงบการเงินไตรมาสแรกประจำปี 2566 ธนาคารกสิกรไทยระบุว่า ในไตรมาส 1 ปี 2566 ธนาคารพบว่ามีลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งที่คุณภาพหนี้มีสัญญาณความเสื่อมถอย โดยธนาคารได้มีสำรองสำหรับหนี้ส่วนนี้ไว้แล้ว ซึ่งธนาคารอาจพิจารณาความเหมาะสมในการกันสำรองเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่มธนาคาร หรือผู้ให้สินเชื่อแล้ว ทาง ‘Business+’ มองว่ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อ กระทบเศรษฐกิจไทยมากกว่าคาด ทำให้มีโอกาสที่ลูกค้าจะประสบกับปัญหาสภาพคล่อง และเกิดหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ยังคงต้องคอยจับตากฏเกณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อการบันทึกบัญชี ซึ่งถึงแม้ว่าการตั้งสำรองจะช่วยให้ธนาคารมีเงินนำมาใช้ฉุกเฉินได้ แต่ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้โดยเฉพาะลูกหนี้รายใหญ่ซึ่งมีการกู้เงินในวงเงินสูงก็เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ถูกสถาบันจัดอันดับหั่นเครดิตลง และจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของลูกค้าได้เช่นเดียวกัน