ไทยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เลือกใช้ Al มากกว่าสร้างคนให้มีคุณภาพ?

จากอัตราการเกิดที่น้อยลงอย่างมากของไทย โดยในปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 5 แสนคนเท่านั้น ขณะที่คนเสียชีวิตมีเกือบ 6 แสนคน ซึ่งจำนวนการเกิดนี้ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี และในอนาคตข้างหน้าประชากรเกิดใหม่อาจจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ สำหรับเหตุผลที่ทำให้คนในยุคสมัยนี้ไม่ต้องการที่จะมีบุตรก็มีหลากหลายปัจจัยด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการที่ค่าครองชีพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสังคมมีความเหลื่อมล้ำที่สูง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสภาพแวดล้อมที่อาจไม่เอื้ออำนวยนั่นเอง ซึ่งเมื่ออัตราการเกิดน้อยลงก็ทำให้เกิดความไม่บาลานซ์ในสังคม อย่างในเรื่องของแรงงานที่เริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น

สอดคล้องกับข้อมูลของนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ระบุว่า ประชากรในวัยทำงานของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยปี 2566 มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% ประชากรในวัยทำงานปัจจุบันอยู่ที่ 42.4 ล้านคน และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจากข้างต้นทำให้บางกิจการสามารถทำการผลิตต่อไปได้โดยอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ปรับใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์และเอไอมากขึ้น พึ่งพิงแรงงานมนุษย์ลดลง และผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น

โดยในอีกประมาณ 17 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือ 55% และวัยเด็กเพียง 12% ซึ่งทั่วทั้งโลกรวมถึงไทยได้มีความวิตกกับประเด็นการเกิด แรงงาน เศรษฐกิจ นายอนุสรณ์ จึงได้มีการเสนอให้มีการปฏิรูประบบแรงงานรับมือ AI เพิ่มความเป็นธรรมและความสามารถแข่งขัน การเร่งอัตราการขยายตัวทางผลิตภาพขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยดีขึ้นและตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมนุษย์ที่จะรุนแรงขึ้นในทศวรรษหน้า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ จักรกลอัตโนมัติจะทำให้อาชีพและตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกโฉม จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาเรียนรู้ ระบบพัฒนาทักษะ และระบบแรงงานทั้งระบบเพื่อให้แรงงานมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับ AI และระบบหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น

จากมุมมองของ ‘Business+’ การนำเทคโนโลยีหรือ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเรื่องขาดแคลนแรงงานอาจเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ หรือยังไม่ตรงจุด แต่ก็ถือว่าได้ผลในระดับหนึ่งไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของงานที่มีศักยภาพ ทันสมัย ลดต้นทุน และภาคการผลิตไม่ชะงักตัว แต่จากข้างต้นก็เหมือนกับว่าเราได้ละเลยแรงงานมนุษย์ที่ถือเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันระดับเวทีโลก

ซึ่งการที่จะนำ AI เข้ามาทดแทนนั้นไม่ผิด แต่อาจทำให้เกิดความเคยชินในภาคธุรกิจแม้จะมีการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานมนุษย์ก็ตาม โดยหลักการที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนของภาคแรงงานไม่ขาดแคลนแม้ช่วงอายุของคนวัยทำงานจะลดลง ก็คือ การสร้างคนให้มีคุณภาพ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงในหลาย ๆ ด้าน อย่างการขาดสวัสดิการที่ดี การเข้าถึงเทคโนโลยียาก การเปิดศูนย์ฝึกอบรมที่ไม่กระจายตัว จึงทำให้ความเชี่ยวชาญในด้านวิชาชีพลดน้อยลง และคนสูงวัยในบ้านเราก็เหมือนกับถูกปิดกั้นโอกาสทำให้เกิดความล้าหลัง และถดถอยตามกาลเวลา

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการรับพนักงานเข้าทำงานที่มักจะถูกกำหนดไว้ด้วยอายุที่ไม่เกิน 35 ปี โดยการกำหนดอายุแบบนี้ยิ่งทำให้คนที่มีอายุถูกมองข้ามไป ถึงแม้จะมีความเชี่ยวชาญในด้านวิชาชีพโดยตรง ซึ่งก็เหมือนเราได้ทิ้งคนที่มีคุณภาพไว้ข้างหลัง อีกทั้งในเรื่องของแรงงานเพื่อนบ้านที่เราไม่ได้จัดการอย่างจริงจังเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งในตอนนี้จะเห็นได้ว่าแรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาทำการค้าขาย รวมถึงเข้ามาเป็นแรงงานตั้งหลักปักฐาน โดยตรงนี้ก็เหมือนเป็นการตัดโอกาสคนในประเทศมากขึ้นไปอีก ซึ่งเสาหลักของการจัดสรรเรื่องพวกนี้คือ ภาครัฐ

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบความแตกต่างกับประเทศอื่นในเรื่องของผู้สูงวัย แรงงาน รวมถึงมี AI เข้ามาช่วยในการดำเนินงาน ไต้หวันก็ถือได้ว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ แต่ได้มีการปลูกฝัง สร้างการเรียนรู้ สนับสนุนประชาชนในทุกกลุ่มอายุ โดยภาครัฐได้มีการสนับสนุนให้คนสูงวัยทำงานไม่ละทิ้งไว้ข้างหลัง จะเห็นได้จากคนสูงวัยทำงานอยู่ตามสถานีรถไฟฟ้า ห้องน้ำสถานีรถไฟฟ้า โบกป้าย เป็นพนักงานขายของ ตามร้านอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย ถือเป็นคนสูงวัยที่มีคุณภาพ ต่างจากไทยที่มีขอบเขตกำหนดช่วงอายุ รวมถึงอาชีพ

อีกทั้งคนสูงวัยในไต้หวันยังสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นจำนวนมาก สามารถพบเห็นได้ตามท้องถนน หรือตามแถบในเมือง อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ ความแข็งแรง คนสูงวัยที่นั่นแข็งแรงมาก อาจเพราะชอบออกกำลังกายรวมถึงอาหารก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งไต้หวันมีการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องกฎหมายที่เข้มงวด การอำนวยความสะดวกประชาชน ขนส่งสาธารณะที่ไม่แพงซึ่งตรงนี้ก็ส่งผลพลอยได้ให้กับคนสูงวัยมีร่างกายที่แข็งแรง เพราะ ระบบขนส่งมีความทั่วถึงทำให้การเดินทางไปออกกำลังกายอย่างการเดินเขาเป็นเรื่องง่าย ต่างจากบ้านเราที่เดินทางลำบากมากกว่า

นอกเหนือจากนี้ยังมีในส่วนของแรงงานที่ไต้หวันจะเน้นคนในประเทศเป็นหลัก ซึ่งคนต่างชาติที่จะเข้าไปทำงานจะสามารถทำได้แค่ในส่วนที่ใช้แรงงาน หรือที่อนุญาตเท่านั้น ซึ่งหากทำผิดกฎก็จะขึ้นแบล็กลิสต์ทันที ต่างจากไทยที่คนต่างชาติสามารถทำการค้าขาย หรือบริการได้ เรียกได้ว่ามีความแตกต่างที่ค่อนข้างมาก คล้ายกับเราส่งเสริมคนต่างชาติมากกว่าคนในประเทศ

สุดท้ายนี้การที่คนจะมีศักยภาพ คุณภาพ ก็ต้องมาจากแรงสนับสนุน แรงผลักดันของภาครัฐ ซึ่งถึงแม้ไต้หวันจะถูกขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมเทคโนโลยีก็ยังไม่ละเลยแรงงานมนุษย์ พร้อมทั้งยังมีการปลูกฝังความรู้ ความสามารถ ที่เอื้ออำนวยต่อประชากรเพื่อให้แรงงานมนุษย์เป็นแรงงานหลัก ส่วน AI ก็เป็นเพียงแค่เครื่องช่วยเพิ่มความสะดวกเท่านั้น ซึ่งหากภาครัฐไทยต้องการให้คนแก่ไปอย่างมีคุณภาพก็ต้องเริ่มผลักดันอย่างจริงจัง เพราะไม่อย่างนั้นในภายภาคหน้าอาจเกิดสถานการณ์ที่ย่ำแย่ สำหรับการสนับสนุนในช่วงแรกอาจจะต้องใช้งบประมาณที่มากแต่อาจเป็นการจ่ายที่คุ้มค่าเพื่อให้ได้คนสูงวัยที่มีคุณภาพ ซึ่งการผลักดันอาจจะเป็นการเปิดศูนย์อบรมสร้างอาชีพที่ครอบคลุม การเพิ่มการเรียนรู้ทางภาษา การเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยี และที่สำคัญเลยคือ ต้องไม่ละเลยพื้นที่ห่างไกล อย่างพื้นที่ชนบท เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อทุกอย่างเข้าที่สิ่งที่ประเทศจะได้รับตอบแทนก็คือ คนสูงวัยมีคุณภาพสามารถทำงานได้ และยังช่วยลดทอนเรื่องปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ

.

ที่มา : IQ, taipei.mol

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #แรงงาน #ไทย #ไต้หวัน #คนสูงวัย #ขาดแคลนแรงงาน #AI #ปัญญาประดิษฐ์