‘ตรีเพชรอีซูซุเซลส์’ กับกลยุทธ์สู่ความสำเร็จครั้งสำคัญ

ท่ามกลางปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างมากในปี 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายสำหรับ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เป็นอย่างมาก แต่ด้วยกลยุทธ์การบริหารธุรกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้นอกจากจะสามารถก้าวข้ามปัญหามาได้อย่างแข็งแกร่งแล้ว ยังสร้างปรากฏการณ์สำคัญด้านยอดขาย ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ได้เป็นอย่างดี

 

คุณวิชัย สินอนันต์พัฒน์ กรรมการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจในปี 2565 ระบุว่า ถึงแม้ในปีที่ผ่านมาจะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจยานยนต์หลายด้าน เช่น การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ การพุ่งทะยานของราคาเชื้อเพลิง เหล็ก อะลูมิเนียม และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เป็นต้น ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ผนวกกับความกังวลเกี่ยวกับสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจลีสซิ่งเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทั้งหมดนี้จึงนับเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยการเปิดตัวรถ ใหม่! อีซูซุ ดีแมคซ์ MAGIC EYEs ซึ่งเป็นครั้งแรกของวงการรถปิกอัพเมืองไทยที่มาพร้อมกับระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ ADAS (Advanced Driver Assistance Systems) ด้วยกล้องหน้าคู่ 3D Imaging Stereo Camera เทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูง, ไลฟ์สไตล์ปิกอัพ “ใหม่! อีซูซุ เอ็กซ์-ซีรี่ส์”…INFINITE X-LIFE มันส์! มิดไมล์ เพิ่มลุคสปอร์ตเรซซิ่งพรีเมียมพร้อมเพิ่มสีเทาใหม่ Islay Gray Opaque และรถอเนกประสงค์ เดอะนิว มิว-เอ็กซ์ be UNCHARTED ซึ่งมุ่งเน้นในการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์หรู พร้อมสีใหม่ น้ำเงิน กลาเซียร์ ไมก้า (Glacier Blue Mica) และเสริมความครบครันทุกอรรถประโยชน์ด้วยฝาท้าย Smart Tailgate แบบ Step Sensor

 

และ “ความเชี่อมั่นและไว้วางใจของลูกค้า” ในแบรนด์อีซูซุ ทำให้สามารถสร้างประวัติการณ์ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในตลาดรถปิกอัพคือ 45.2% และสามารถทำยอดจำหน่ายรถนั่งอเนกประสงค์ทั้งปีสูงกว่า 20,000 คันเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังสามารถทำยอดขายอันดับ 1 ในส่วนของรถบรรทุกขนาดกลางและใหญ่ ด้วยส่วนแบ่งตลาดระดับสูงเกือบ 50% ได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย นับเป็นความภาคภูมิใจในความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

 

สำหรับวิสัยทัศน์องค์กรที่ยึดถือคือ “วิถีอีซูซุ : ผู้ใช้สุขใจ เพิ่มพูนรายได้ ช่วยให้สังคมพัฒนา” ซึ่งถือเป็นหลักพื้นฐานสำคัญในการกำหนดนโยบายในการบริหารธุรกิจในทุกด้าน โดยต้องทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจในการใช้รถอีซูซุ ซึ่งหมายถึงการผลิตรถที่มีคุณภาพสูง ให้บริการที่ยอดเยี่ยมทั้งด้านการขายและบริการหลังการขาย อันจะส่งผลให้เกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อในที่สุด

โดยปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ การสร้างคุณค่าของแบรนด์ (Brand Equity) ในทุกด้านให้แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้จำหน่ายอีซูซุ ซึ่งมีเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการมากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งความแข็งแกร่งของแบรนด์อีซูซุนี้จะทำให้ผู้ใช้รถเกิดความภูมิใจที่เป็นเจ้าของ และรู้สึกคุ้มค่าเงินเมื่อต้องการขายต่อ ดังนั้นเมื่อต้องการซื้อรถคันต่อไปก็จะเลือกแบรนด์อีซูซุ อีกทั้งยังช่วยแนะนำรถอีซูซุด้วยความเชื่อมั่นจากประสบการณ์ของตนเอง ก่อให้เกิดประชาคมอีซูซุ (Isuzu Community) ที่แข็งแกร่งและขยายตัวมากขึ้นต่อไป

 

นอกจากนี้ อีซูซุมีเป้าหมายที่จะเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน ด้วยนโยบายหลักสำคัญนอกเหนือจากผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจแล้ว คือ การเป็น “นิติบุคคลที่ดีของสังคม” (Good Corporate Citizen) ดังนั้น CSR จึงเป็นนโยบายสำคัญที่อีซูซุยึดเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่

  1. CSR in process คือ กิจกรรม CSR ที่มีผลต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสิ่งแวดล้อมขององค์กร เช่น ระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การสร้างอาคารสำนักงานที่ประหยัดพลังงาน, การใช้วัสดุรีไซเคิล เป็นต้น
  1. CSR after process คือ กิจกรรม CSR ที่มีผลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรโดยตรง เช่น โครงการ “อีซูซุให้น้ำ…เพื่อชีวิต” เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มสะอาดให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น
  2. CSR as process คือ องค์กรที่จัดตั้งเพื่อช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยไม่มุ่งหวังผลกำไร เช่น การจัดตั้งมูลนิธิกลุ่มอีซูซุ (The Isuzu Group Foundation) เป็นต้น

อีกทั้งกำลังศึกษาและพิจารณาแผนผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากรถยนต์ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ หรือ BEV และรถไฟฟ้าพลังไฮโดรเจน หรือ FCEV อย่างต่อเนื่อง สำหรับทั้งรถขนาดเล็ก และรถบรรทุกขนาดกลางและใหญ่อีกด้วย

 

“ในยุคแห่งการพลิกผันด้านเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมากนี้ กลยุทธ์หลักที่อีซูซุได้ใช้ในการบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่องตลอดมาคือ การสร้างความแตกต่าง (Differentiation) การตลาดเพื่อสร้างความภักดี (Loyalty Marketing) และการเป็นนิติบุคคลที่ดีของสังคม (Good Corporate Citizen) ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะทำให้แบรนด์อีซูซุโดดเด่นเหนือคู่แข่งขันในตลาดรถยนต์เมืองไทย” คุณวิชัย กล่าวทิ้งท้าย

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS