‘อิสราเอล’ จ่อขายทุนสำรอง 3 หมื่นล้านดอลฯ เหตุสกุลเงินเชเกลดิ่งหนักรอบ 7 ปี หลัง ‘ฮามาส’ ถล่ม

ถือเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศอิสราเอล ภายหลังการถูมโจมตีจากกลุ่ม ‘ฮามาส’ ที่ส่งผลให้มีผู้คนล้มเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งในบรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้มีคนไทยรวมอยู่ในนั้นด้วย

อย่างไรก็ดี ล่าสุดวานนี้ (9 ต.ค.2566) ธนาคารแห่งอิสราเอลประกาศว่าจะทำการขายทุนสำรองระหว่างประเทศมูลค่าสูงสุด 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนสกุลเงินในประเทศซึ่งร่วงลงอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงเวลาดังกล่าวได้ปรับตัวลดลงไปมากถึง 1.63% ไปอยู่ที่ระดับ 3.90 เชเกล ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 7 ปี ภายหลังการรุกรานของกลุ่มติดอาวุธฮามาสเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยธนาคารแห่งอิสราเอลระบุในประกาศดังกล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารจะดำเนินการในตลาดในช่วงเวลาที่จะถึงนี้ เพื่อลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเชเกล และเพื่อให้เกิดสภาพคล่องที่จำเป็นสำหรับการทำงานที่เหมาะสมของตลาดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นอกเหนือจากโครงการมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์แล้ว ธนาคารแห่งอิสราเอลยังวางแผนที่จะสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดในประเทศผ่านกลไก SWAP ในตลาดที่มีมูลค่าสูงถึง 15 พันล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ไม่เพียงแค่สกุลเงินเชเกลซึ่งเป็นสกุลเงินหลักของอิสราเอลเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนี้ แต่ยังรวมไปถึง ดัชนี TA-35 ของอิสราเอลที่ปรับตัวลดลงอย่างหนักถึง 6.47% เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการขาดทุนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 3 ปี นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563

อย่างไรก็ดี ดัชนี TA-35 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.11% ในชั่วโมงแรกของการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาหลังจากการประกาศดังกล่าวของธนาคารแห่งอิสราเอล

อนึ่ง สำหรับประเด็นที่ผู้คนกำลังวิตกในแง่ของตลาดลงทุนโลก ทั้งด้านราคาน้ำมันและราคาทองคำที่อาจปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส นักวิเคราะห์ได้ประเมินว่าเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น

โดยนายวิเวก ธาร์ นักวิเคราะห์ด้านพลังงานของธนาคารคอมมอนเวลธ์ ระบุว่า เหตุการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันให้พุ่งขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

“การที่ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและอย่างยาวนาน เหตุการณ์ความขัดแย้งนี้จะต้องกระทบต่อการขนส่งน้ำมัน และทำให้ปริมาณน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก”

“ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ปฏิกริยาที่หนุนราคาน้ำมันมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และมักถูกบดบังจากปัจจัยอื่น” นายวิเวกกล่าว

ทั้งนี้ อิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างก็ไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ โดยอิสราเอลมีโรงกลั่นน้ำมันเพียง 2 โรง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันราว 300,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่ปาเลสไตน์ไม่มีการผลิตน้ำมัน

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการประเมินว่าเป็นเพียงการกระทบในระยะสั้น แต่เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอิสราเอลยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว ในแง่ของการลงทุน ผู้ลงทุนก็จำเป็นต้องเกาะติดสถานการณ์เช่นกัน เนื่องจากราคาน้ำมันและทองคำในตลาดโลกมีผลต่อตลาดทุนทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่เพียงแค่ภาคการลงทุนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการดำเนินชีวิตที่จำเป็นต้องอาศัยน้ำมันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการรับรู้ข่าวสารและประเมินสถานการณ์อยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นแม้ไม่ใช่เหตุการณ์ภายในประเทศก็ตาม

ที่มา : InfoQuest

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #อิสราเอล #แบงก์ชาติอิสราเอล #ธนาคารกลางอิสราเอล #ธนาคารแห่งอิสราเอล #เศรษฐกิจอิสราเอล