Israel

‘สงครามอิสราเอล’ ส่งผลกระทบต่อ ‘การค้าไทย’ ด้านใดบ้าง?

จากสถานการณ์ ‘สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตส์’ ที่เกิดขึ้นยังไม่มีท่าทีจะยุติลง ส่งผลให้ทั้งประชาชน หน่วยงาน ภาคธุรกิจ และประเทศได้รับความเสียหาย ซึ่งไม่เพียงแค่ส่งผลร้ายให้กับทั้งสองเท่านั้น แต่ประเทศอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการค้า ราคาพลังงาน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ซึ่งสงครามนี้ก็มีความคล้ายคลึงกับ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีความยืดเยื้อจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

สำหรับประเทศไทยที่แม้จะไม่มีการทำสงครามกับประเทศอื่น แต่ก็ได้รับผลกระทบในเรื่องของเศรษฐกิจการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งในตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากการที่ท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกครื้น แต่เมื่อมีปัจจัยรอบข้างรุมเร้าก็จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความท้าทายมากขึ้น

ทั้งนี้อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบของสงครามอิสราเอลต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่ง ‘Business+’ พบว่ามีอยู่หลัก ๆ ด้วยกันทั้งหมด 6 ข้อ ดังนี้

1. ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเส้นทางที่มีสงคราม รวมถึงค่าประกันภัยในเส้นทางที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติอาจปรับตัวสูงขึ้น และอาจมีความล่าช้าในการขนส่ง ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และหากเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการยกระดับความขัดแย้ง ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ จะมีมากขึ้นตามลำดับ

2. ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนไปในทิศทางสูงขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์สู้รบ เนื่องจากกังวลสถานการณ์ความไม่สงบอาจกระตุ้นให้เกิดความไม่มั่นคงในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งน้ำมันในตะวันออกกลาง

3. ผลกระทบต่อการค้ากับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ในปัจจุบันตลาดตะวันออกกลางถือเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยมุ่งหวังจะเข้าไปทำการค้า เพื่อขยายเส้นทางการค้าให้มากขึ้น ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เป็นเป้าหมายการส่งออกของไทยเพื่อชดเชยตลาดหลักที่ชะลอตัว และเป็นแหล่งนำเข้าพลังงานสำคัญที่สุดของไทย แต่ทั้งนี้หากสงครามระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ลุกลามสู่ความขัดแย้งในระดับภูมิภาค จะส่งผลให้แนวโน้มการส่งออกไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางได้รับผลกระทบ และการนำเข้าพลังงานอาจติดปัญหาในด้านการขนส่ง

4. ผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลมายังไทย โดยนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลอาจเดินทางมาลดลง เนื่องจากการประกาศภาวะสงคราม ทำให้ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ความตื่นตระหนกสร้างความกลัว ทำให้นักท่องเที่ยวเก็บเงินเพื่อใช้สำหรับสิ่งจำเป็นต่อชีวิตมากกว่าที่จะเดินทางท่องเที่ยว

5. อิสราเอล เป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 42 ของไทย การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล มีมูลค่า 1,401.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกของไทยไปอิสราเอล อิสราเอลเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 38 ของไทย มีมูลค่า 850.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่ส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (28.6%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (9.6%) อัญมณีและเครื่องประดับ (9.6%) เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการที่มีทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งนี้อาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยากเกินจะควบคุม

6. ปาเลสไตน์ เป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 186 ของไทย การค้าระหว่างไทย-ปาเลสไตน์ มีมูลค่า 5.0 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตัวเลขการส่งออกของไทยไปปาเลสไตน์ ปาเลสไตน์เป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 169 ของไทย มีมูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสินค้าที่ส่งออก เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (62.8%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (33.7%) กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ (2.1%) และเครื่องดื่ม (1.4%) เป็นต้น สำหรับปาเลสไตน์แม้จะเป็นคู่ค้าที่มีบทบาทไม่มากนักแต่ก็สามารถสร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการไทยได้

โดยจากข้างต้นจะเห็นได้ว่าไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมมากกว่าทางตรง ด้วยไม่ใช่เป็นตลาดหลักอย่างจีน แต่อย่างไรก็ตามถึงจะเป็นเพียงทางอ้อมก็ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน ทั้งการนำเข้าและส่งออก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในจุดนี้ผู้ประกอบการอาจได้รับผลกระทบในเรื่องของต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อต้นทุนมีการปรับตัวขึ้นการขึ้นราคาสินค้าอาจเป็นเรื่องที่ตามมา และผลสุดท้ายก็จะตกไปถึงยังผู้บริโภคที่ต้องจ่ายแพงขึ้น

.

ที่มา : IQ

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #สงครามอิสราเอล #ปาเลสไตส์ #อิสราเอล #เศรษฐกิจ