5 อันดับบริษัทระดมทุนในตลาดราคาวันแรกพุ่งเกิน 50% จับตาครึ่งหลังบริษัทใหญ่ Spin-Off เพียบ!

แม้ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2566 ช่วงที่ผ่านมาจะไม่สดใสนัก ทั้งจากปัจจัยภายนอกจาก เศรษฐกิจมหภาคของตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ทำให้เม็ดเงินไหลออก (Fund Flow) ขณะที่เมื่อดูตลาดหุ้นไทยเองนั้น ก็มีปัจจัยลบภายในอย่างข่าวที่สะเทือนวงการตลาดหุ้นมาตั้งแต่ปี 2565 อย่างกรณีของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่เป็นคดีฉ้อโกง/ปั่นหุ้น และประเด็นของ บริษัท สตาร์คคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่พบความไม่โปร่งใสของงบการเงินด้วยการตกแต่งบัญชี

ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งไทยและต่างชาติลดลงทำให้ตลาดหุ้นไทยล่าสุด หล่นลงมาต่ำกว่าระดับ 1,500 จุด จากต้นปีอยู่ที่ 1,678.97 จุด ลงมาอยู่ที่ระดับ 1,490.46 จุด (ปิดตลาด 6 ก.ค.66) คิดเป็นการปรับตัวลดลง 11.22%

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้วนั้น ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัว โดยมีบริษัทเข้าจดทะเบียนทั้งหมด 18 บริษัท แบ่งเป็น SET ทั้งหมด 6 และ mai ทั้งหมด 12 หลักทรัพย์ รวมมูลค่าระดมทุน 11,587 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO จำนวน 35,683 ล้านบาท

เทียบกับในปี 2565 ในช่วงครึ่งปีแรกมีบริษัทที่ระดมทุนผ่าน SET ทั้งหมด 8 บริษัท และ mai ทั้งหมด 5 บริษัท รวมทั้งหมด 13 บริษัท มูลค่าระดมทุน 11,300 ล้านบาท (ไม่รวมกองทุน)

เท่ากับว่า 6 เดือนแรกของปี 2023 มีบริษัทระดมทุนในตลาดหุ้นทั้งหมด 18 บริษัท มูลค่าระดมทุน 11,587 ลบ. สูงกว่าปี 2022 กว่า 2.48%

โดยครึ่งปีแรกของปี 2566 มีบริษัทที่มูลค่าระดมทุนสูงเกิน 2,000 ล้านบาท คือ บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ด้วยมูลค่าระดมทุน 2,300 ล้านบาท หรือโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช โรงพยาบาลด้านความงามที่ให้บริการศัลยกรรมครบวงจร และบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) หรือ MGC ซึ่งทำธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ครบวงจร ซึ่งมีมูลค่าระดมทุน 2,226 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเป็นที่จับตาต่อว่า ในปี 2566 ในช่วงท้ายปีมูลค่าระดมทุนของไทยจะมากกว่าปี 2565 หรือไม่? เพราะในปี 2566นั้นในช่วงครึ่งปีหลังมีบริษัทใหญ่อย่าง บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG ซึ่งทำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร เข้าจดทะเบียน ด้วยมูลค่าระดมทุนสูงถึง 17,392 ล้านบาท และยังมี บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่เข้าจดทะเบียน ด้วยมูลค่าระดมทุนสูงถึง 19,200 ล้านบาท

ส่วนบริษัทที่อยู่ระหว่างการรอเข้าจดทะเบียนในเร็วๆ นี้มีบริษัทที่ ‘Business+’ มองว่าน่าจับตา ดังนี้

บริษัทขนาดใหญ่ที่จะเข้าระดมทุน จำนวนหุ้น IPO
บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) 3,855 ล้านหุ้น
บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) 3,730 ล้านหุ้น
บมจ.ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น (CPFGS) 500 ล้านหุ้น

 

โดย SCGC นั้น เป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC โดย SCGC เป็น Holding Company ในธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีแผนจะเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นช่วงครึ่งปีแรก แต่ก็ได้มีการเลื่อนออกไปเป็นช่วงครึ่งปีหลัง เพราะมองว่าสถานการณ์ภายนอกอย่าง ด้านเศรษฐกิจ วิกฤตราคาพลังงาน  และภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงภาวะตลาดเงินและตลาดทุนยังไม่เอื้อ

ส่วน BRC เป็นห้างค้าปลีกรายใหญ่ของไทย ทั้งห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์,ร้านบิ๊กซี มินิ,ร้านขายยา Pure ซึ่งถูก เสี่ยเจริญ หรือ “คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี” เข้าเทคโอเวอร์ และควบรวมกิจการกับกลุ่มธุรกิจของตัวเองในปี 2559 ทำให้บิ๊กซีกลายเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) และถูกถอดออกจากตลาดหุ้นในปี 2560 และล่าสุดเสี่ยเจริญก็ได้นำบิ๊กซี แยกออกมา เพื่อจะนำกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่ามีเป้าหมายการระดมทุนครั้งนี้ราว 1.9 หมื่นล้านบาท

และ CPFGS บริษัทย่อยของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ซึ่งทำธุรกิจขายเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงกิจการร้านอาหารและขนมสัตว์เลี้ยง

จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 บริษัทนี้เป็นบริษัทย่อยของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งต้องการระดมทุนเพิ่มจึงทำการ Spin-off ธุรกิจออกมา โดยการ Spin-off มีข้อดีคือ บริษัทเหล่านี้จะสามารถระดมทุนก้อนใหม่ ผ่านการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้กับประชาชน (IPO) และเม็ดเงินที่ได้รับนี้ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากบริษัทแม่ นอกจากนี้บริษัทที่ถูกแยกออกมาระดมทุนใหม่ก็จะบริหารจัดการได้อย่างเป็นอิสระมากกว่า ทำให้การพัฒนา หรือดำเนินแผนธุรกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น (จากเดิมจะขออนุมัติงบประมาณต่างๆ จากบริษัทแม่ก็จะทำให้มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และใช้เวลานานกว่า)

ข้อมูลที่น่าสนใจของหุ้น IPO ในปี 2566

IPO

ขณะที่ ‘Business+’ มองว่า ในปี 2566 ตลาด IPO จะค่อนข้างคึกคัก เป็นเพราะตลาดหลักทรัพย์เตรียมปรับเกณฑ์การนำบริษัทเข้าระดมทุนที่เข้มงวดมากขึ้นในปี 2567 ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงคือ บริษัทที่จะเข้าระดมทุนต้องส่งงบการเงินย้อนหลังฉบับเต็มเป็นเวลา 3 ปี จากเดิมบังคับส่งแค่ 1 ปี ทำให้หลายธุรกิจต้องเร่งเข้าระดมทุนก่อนกำหนดใช้อย่างเป็นทางการ

โดยประเทศนี้ คุณแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ได้มองว่า ในปี 2566 คาดว่าจะมีหุ้น IPO เข้าระดมทุน ทั้งจำนวนบริษัทและมาร์เก็ตแคปมากกว่าปีที่ผ่านมา

ด้าน คุณเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า หากพิจารณาจากราคาหุ้นที่ปรับขึ้นของวันซื้อขายวันแรก พบว่าปี 2565 นักลงทุนได้รับผลตอบแทนไม่เต็มที่นัก เนื่องจากมีปัจจัยลบคอยรบกวน เช่น สงครามรัสเซียกับยูเครน อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น รวมถึงความกังวลที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้ตลาดหุ้นผันผวนตามไปด้วย

แต่ถึงแม้ในปี 2565 จะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบกับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น แต่จำนวนหุ้น IPO ที่เข้ามาระดมทุนก็มีจำนวนมากพอสมควร เพราะบริษัทที่ต้องการระดมทุนก็มองว่าเป็นจังหวะที่ดีในการเข้ามาระดมทุน ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะการกลับมาเปิดประเทศของจีน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อก็ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่จะเข้าระดมทุนตามแผนเดิมที่วางเอาไว้ เพียงแต่รอจังหวะเข้าซื้อขายในปี 2566 เท่านั้น โดยธุรกิจที่สนใจระดมทุน IPO ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจที่สอดคล้องกับเมกะเทรนด์

ที่มา :  SET
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS