ขึ้นดอกเบี้ยก็ไม่ได้ช่วยอะไร!! เงินเฟ้อด้านอุปทาน+เศรษฐกิจชะลอตัว แก้ไม่ได้ด้วยนโยบายการเงิน

บ้านเรากำลังเจอกับต้นทุนด้านพลังงานดีดตัวขึ้นตามตลาดโลก ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.พ. 2565 สูงขึ้น 5.28% เทียบกับช่วงเดือนก.พ.ของปีที่แล้ว (สูงขึ้น 1.06% จากเดือน ม.ค. 2565)

และในเมื่อสถานการณ์รัสเซียและยูเครน ยังไม่จบลงง่าย ๆ จะยิ่งทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นไปอีก เป็นตัวกดดันเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก แน่นอนว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมานั้นกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน เพราะราคาสินค้าในตลาดจะพุ่งสูงขึ้นนั่นเอง

ดังนั้น ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงต้องหารือประเด็นดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชน โดยในวันที่ 30 มี.ค.ที่จะถึงนี้จะมีการประชุม กนง. เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสถาบันต่างเชื่อว่าที่ประชุม กนง. จะยังคงดอกเบี้ยที่ระดับเดิม (สอดคล้องกับ Bloomberg คาดว่าที่ประชุมจะคงดอกเบี้ยเช่นกัน) เนื่องจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวในปัจจุบันมาจากต้นทุนพลังงานเป็นหลัก ไม่ใช่เงินเฟ้อฟากอุปสงค์เร่งตัว

ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยจึงไม่สามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อในครั้งนี้ได้ (สอดคล้องกับผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด 15 ท่าน ที่เห็นตรงกัน)

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คาดการณ์ว่า กนง. จะไม่ขึ้นดอกเบี้ย มาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เพราะอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อต้นทุนการจับจ่ายใช้สอย หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวแต่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เท่ากับว่าต้นทุนทางการเงินของแต่ละธุรกิจจะเพิ่มขึ้นตาม ยิ่งเป็นตัวซ้ำเติมเศรษฐกิจ

ซึ่งประเด็นนี้ ‘บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)’ มองว่า หลายฝ่ายได้ประมาณการ GDP จะขยายตัวได้ 3.4% จากปีก่อน แต่เชื่อว่าการประชุมครั้งที่จะถึงจะเห็นการปรับลดประมาณการ GDP สะท้อนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้นมา อาทิ น้ำมัน แก๊ส กดดันการบริโภคในประเทศให้ทรุดตัวหนักกว่าประมาณการเดิม

ขณะที่ล่าสุดหลายสำนักเริ่มปรับลด GDP ลงมาเหลืออยู่ในช่วงเพียง 2% +/- (จากประมาณการเดิมคาดกันราว 3-4%)

ด้าน ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน โดยปรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2565 ลดลงเหลือ 2.9% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.7% และปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเพิ่มเป็น 3.8% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.1% ภายใต้สมมุติฐานสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนสามารถเจรจาได้ข้อยุติภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล และประเทศตะวันตกมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ ‘Business+’ มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยจะเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบด้วยกัน ซึ่งต้องคอยจับตา 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ

– ต้นทุนพลังงาน โดยที่จะต้องจับตาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน (รัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก) รวมถึงการประชุม OPEC+ ว่าจะเพิ่มการผลิตหรือไม่ (หากเพิ่มกำลังการผลิตจะทำให้ปริมาณน้ำมันดิบสูงขึ้น ราคาน้ำมันจะต่ำลง)

– จับตาตัวเลขการแพร่ระบาด และความรุนแรงของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งมีผลโดยตรงต่อตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย (ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและส่งออกจำนวนมาก)

ขณะที่การแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้านอุปทาน ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทางภาครัฐควรใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วยเหลือประชาชนแทน เช่น การขึ้นค่าแรง หรือ การส่งเสริมความสามารถในการผลิตสินค้าต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นในระยะยาว เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : บล.พาย ,บล.กสิกรไทย

ติดตาม Business+ ได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #GDP #ตัวเลขเศรษฐกิจไทย #เศรษฐกิจไทย #เงินเฟ้อ #อัตราดอกเบี้ย