Competition

วัดขีดความสามารถการแข่งขัน ‘ไทย’ อยู่ที่เท่าไหร่ของโลก?

ความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ของประเทศ เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะสามารถใช้คาดการณ์ความเจริญก้าวหน้าของประเทศนั้น ๆ ได้ในอนาคต โดยที่ความสามารถในการแข่งขันจะถูกวัดด้วยหลากหลายแง่มุม แต่หากอธิบายให้เข้าในในแง่ของการทำธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขันคือ การเชี่ยวชาญ หรือมีอะไรที่เหนือกว่าธุรกิจคู่แข่ง และสิ่งนั้นทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ดีกว่า หรือมีกำไรสูงกว่า

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ อย่างเช่น การมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า หรือ การมีคู่ค้าหรือพันธมิตรที่มากกว่าก็จะทำให้สามารถกระจายสินค้าออกสู่ตลาดได้มากกว่า หรือแม้กระทั่งสามารถสร้างความแตกต่างในสินค้าหรือบริการก็ถือเป็นความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน

ซึ่งความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะต้องมองที่ภาพรวมในทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรม รวมไปถึงต้องมองที่เสถียรภาพทางการเมือง โดยประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง จะต้องมีการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และต้องมีนโยบายภาครัฐที่จะสามารถยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมจนเป็นที่ดึงดูดการลงทุนจากประเทศอื่นๆ

โดยล่าสุด ‘Business+’ พบข้อมูลว่า ประเทศไทยเริ่มมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นในปี 2566 โดยข้อมูลจากสถาบันการพัฒนาการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development – IMD) จากสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับโลกปี 2566 (The World Competitiveness Yearbook – WCY) ว่า ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 30 จากปี 2565 อยู่ที่อันดับ 33 (ดีขึ้นมา 3 อันดับ)

ซึ่งการจัดอันดับของสถาบัน IMD จะมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยพิจารณาวัดผลจากประสิทธิภาพของรัฐบาล ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆ ผ่านการเก็บข้อมูลและการสัมภาษณ์ผู้บริหารองค์กรทั่วโลก โดยอิงปัจจัย 4 ด้าน นำมาคำนวณเป็นคะแนน ประกอบด้วย ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ , ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ ,ด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน

โดยประเทศไทยนั้นมีอันดับแยกเป็น 4 ด้านดังนี้

  • ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในอันดับ 16 ขยับขึ้น 18 อันดับ (จากอันดับที่ 34 ในปีที่แล้ว)
  • ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ อยู่ที่อันดับ 24 ขยับขึ้น 7 อันดับ (จากอันดับที่ 31 ในปีที่แล้ว)
  • ด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ อยู่ที่อันดับ 23 ขยับขึ้น 7 อันดับ (จากอันดับที่ 30 ในปีที่แล้ว)
  • ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อยู่ที่อันดับ 43 ขยับขึ้น 1 อันดับ (จากอันดับที่ 44 ในปีที่แล้ว)

จะเห็นว่าประเทศไทยมีอันดับที่ดีขึ้นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ซึ่งขยับขึ้นมาได้ถึง 18 อันดับ ซึ่งทาง Business+ มองว่า ความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของไทยเพิ่มสูงขึ้นภายหลังจากทั่วโลกเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบเมื่อต้นปี ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่กลับเข้ามาท่องเที่ยว และกลับเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ของไทยในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และแน่นอนว่าเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้เราได้อย่างมากจากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม อุดมสมบูรณ์ ทั้งทะเล และภูเขาจึงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

นอกจากนี้ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐก็ถูกมองว่าดีขึ้นหลังจากประเทศไทยได้เปิดทำการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในปี 2566 ถึงแม้ว่าขณะนี้จะยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่ก็ทำให้ต่างชาติมองว่าไทยเริ่มมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น

หันมามองประเทศที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันมากที่สุดในโลกกันบ้าง โดยประเทศเดนมาร์ก ยังคงเป็นประเทศที่ติดอันดับ 1 ในรายงานขีดความสามารถในการแข่งขันโลกประจำปีนี้ (ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านมา) ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ไอร์แลนด์ (ขยับขึ้นจากอันดับ 11 ในปีที่แล้ว) อันดับ 3 คือ สวิตเซอร์แลนด์ (ขยับลงจากอันดับ 2 ในปีที่แล้ว) ส่วนสิงคโปร์ติดอันดับ 4 (ขยับลงจากอันดับ 3 ในปีที่แล้ว) และอันดับ 5 คือ เนเธอร์แลนด์ (ขยับขึ้นจากอันดับ 6 ในปีที่แล้ว)

จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีอันดับ 1-6 ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีการเติบโตเศรษฐกิจที่ดี และประชาชนในประเทศมีการเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งการจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้นนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาหลากหลายมิติ ทั้งการเมือง สังคม และวัฒนธรรมด้วย ดังนั้น จึงต้องจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา และการลงทุน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายที่มีประสิทธิภาพที่สนับสนุนการสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน

โดยการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของโลก ทาง IMD World Competitiveness Yearbook (WCY) ได้ใช้ข้อมูลครอบคลุมทั่วโลกด้วยการเปรียบเทียบ ด้วยสถิติและข้อมูลการสำรวจจากการวิจัยที่กว้างขวาง โดยใช้การวิเคราะห์และจัดอันดับ ประเทศต่างๆ ตามวิธีการจัดการความสามารถเพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าในระยะยาว และความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ได้มองเพียงแค่ GDP เท่านั้น

ที่มา : IMD
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS