เมื่อเศรฐกิจโลกถูกแบ่งขั้ว อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?

ตลอดทั้งปี 2022 ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงฟื้นตัวจาก COVID-19 แม้ว่าเกือบทั่วโลกเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกันแล้ว แต่ยังคงมีอีกหลากหลายวิกฤตที่เข้ามาให้เราฟันฝ่า อาทิ วิกฤตการเงิน วิกฤตพลังงาน วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ สงคราม-รัสเซียยูเครน ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจ ล้วนแต่ยือเยื้อยังไม่รู้วันบรรจบ เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเป็นอย่างไร?

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2023 มีความไม่แน่นอนสูง

ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปีหน้ามีโอกาสที่จะเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจเนื่องจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และเงินเฟ้อ (Geopolitical Recession ; Inflationary recession) ทั้งจากปัญหาสงครามในยูเครน และอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวสูงทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปส่งผลให้หน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลงอย่างมีนัยสำคัญ

โดยทาง BOT คาดการณ์ว่าในปี 2023 กลุ่มเศรษฐกิจหลักซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1/3 ของเศรษฐกิจโลกจะชะงักงันหรือแทบจะไม่โตจากปี 2022 เลยทีเดียว กล่าวคือ สหรัฐฯ 1.0% สหภาพยุโรป 0.5%

ซึ่งลดลงมากจากระดับ 3.1% ในปี 2022 ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาในเอเชียยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีบทบาทช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในปี 2022 และในปี 2023 ต่างออกไปจากจีนที่ในปีหน้า คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 4.4% เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในปี 2022 แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 6.5% ในช่วงก่อน COVID-19 (เฉลี่ยปี 2017-2019) ในทางกลับกันที่อินเดียและ ASEAN-5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์) ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้จะสรุปได้ว่าแรงกระแทกในปี 2022 จะเปรียบเสมือนการเปิดบาดแผลทางเศรษฐกิจอีกครั้งหลังจากที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 อีกทั้งในปี 2023เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน เนื่องจากความหวังที่เศรษฐกิจเอเชียจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในยามที่ตลาดสำคัญขนาดใหญ่ของโลกกำลังซบเซาก็อาจไม่เป็นดังคาด

อย่างไรก็ตาม ทาง EIC ได้คาดการณ์การเติบโตของทางเศรษฐกิจโลกไว้ ดังนี้

คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดย EIC

หน่วย : %YOY

GDP growth (%YOY) 2023
World 2.7%
US 1.2%
Euro 0.5%
Japan 1.5%
China 4.8%
India 6.0%
Brazil 1.0%
South Korea 2.0%
Malaysia 4.5%
Philippines 6.2%
Global Inflation 4.9%

 

จะเห็นได้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นในปี 2023 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อาจเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมโดดเด่นภายในประเทศที่สามารถดึงดูดเหล่านักลงทุนทั่วโลกได้

ทั้งนี้เอง ทาง ‘Business+’ ได้เรียบเรียงแนวโน้มเศรษฐกิจของแต่ละทวีปในปี 2023 ไว้ดังนี้

สหรัฐอเมริกาจีน 2 คู่แข่งตัวฉกาจ ถูกแบ่งขั้วเศรษฐกิจ

เพราะถ้าหากพูดถึงประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่ส่งผลต่อคนทั้งโลก คงหนีไม่พ้น 2 ประเทศใหญ่อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ กับคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง ‘จีน’ ซึ่งทั้ง 2 เปรียบเสมือนเหล่าผู้นำของโลก และถ้าหากเรามองย้อนดูวิกฤตเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้คงหนีไม่พ้นควันหลงหลัง COVID-19 ที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว และค่อย ๆ ฟื้น และเมื่อไม่นานมานี้การเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 3 ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในประเทศจีน ก็เกิดขึ้นท่ามกลางประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันที่ยังคงยืดเยื้ออยู่ด้วยเช่นกัน

ประกอบกับจีนที่วางนโยบายส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของในระยะยาว อาทิ Made in China 2025 และ Dual Circulation ส่งผลให้การแบ่งขั้วระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในระยะต่อไป ทำให้คาดการณ์ว่าการแบ่งขั้วของเศรษฐกิจโลกจะไม่ได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ เนื่องจากแต่ละประเทศเองก็ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งเต็มรูปแบบเช่นกัน

โดยจากรายงานของ National security strategy ปี 2022  ระบุว่าสหรัฐอเมริกาจะพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะนำไปสู่ภูมิรัฐศาสตร์โลกแบ่งขั้วตายตัว และจะเคารพการตัดสินใจของชาติต่าง ๆ ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตนเอง ด้วยเหตุนี้ทำให้ทาง EIC คาดการณ์ว่าจะเกิดการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้จะถูกจำกัดแค่อุตสาหกรรมที่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติ อย่าง เซมิคอนดักเตอร์

ทั้งนี้ จะส่งผลในวงกว้างจึงทำให้สองประเทศสูญเสียตลาดสำคัญและกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก แต่ในทางกลับกันถึงแม้ว่าการค้าและการลงทุนโลกอาจไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยจากการแบ่งขั้ว แต่จะมีจุดหมายปลายทางที่เปลี่ยนไปสู่ประเทศพันธมิตร หรือประเทศใกล้เคียงที่มีศักยภาพมากขึ้น

ยุโรปต้องทนต่อวิกฤตขาดแคลนพลังงาน

เดิมทีแล้วยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นอย่างมาก มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหิน จากรัสเซียสูงถึง 40% 23% และ 45% ตามลำดับ ดังนั้นการที่กลุ่มประเทศยุโรปออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งด้านราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นและด้านเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถึงแม้ว่ายุโรปจะเริ่มแผนการลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นการเร่งลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก หรือการเร่งสร้างท่าขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มเติม เพื่อนำเข้าจากประเทศอื่น

ซึ่งการนำเข้าก๊าซจากประเทศอื่นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ส่งผลให้ยุโรปต้องเผชิญวิกฤตด้านพลังงานที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น และทำให้รัฐบาลในกลุ่มประเทศยุโรปเริ่มกังวลว่า ปริมาณก๊าซสำรองในคลังจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยเฉพาะกับในช่วงฤดูหนาว

ซึ่งโดยปริมาณก๊าซในคลังสำรองต้องมีไม่ต่ำกว่าระดับ 80% (ข้อมูลเดือนสิงหาคม ปี 2565) ถึงจะเพียงพอสำหรับการใช้ในช่วงฤดูหนาว แต่ปัจจุบันปริมาณก๊าซในคลังสำรองของกลุ่มสหภาพยุโรปอยู่ที่ระดับเพียง 60% เท่านั้น รัฐบาลจึงกำหนดให้ลดการใช้ก๊าซลงกว่า 15% ต่อเดือน

ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ผลกระทบต่อกลุ่มประเทศยุโรปอาจเกิดขึ้นในปี 2023 ที่จะถึง ดังนี้

  1. ปริมาณการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ NS1 กลับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับก่อนปิดท่อ เพื่อซ่อมบำรุงที่ระดับ 40% ซึ่งเป็นระดับที่จะช่วยให้ปริมาณก๊าซในคลังสำรองเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 80% ก่อนถึงช่วงฤดูหนาว โดยไม่ต้องลดความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติลง
  2. ทางบริษัทซื้อขายก๊าซคงปริมาณการส่งก๊าซผ่านท่อ NS1 ที่ระดับ 20% ประกอบกับมาตรการประหยัดพลังงาน 15% ของทางสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าปริมาณก๊าซในคลังสำรองจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาได้ที่ระดับ 80% แต่แลกมาด้วยการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยุโรป
  3. EIC คาดการณ์หากเกิดการปิดท่อ NS1 100% (แต่อาจเกิดขึ้นได้ยาก) ซึ่งจะทำให้ราคาพลังงานไม่เพียงแต่ราคาก๊าซธรรมชาติ พุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง โดยสหภาพยุโรปจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนก๊าซในฤดูหนาวและเศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)

ถึงแม้ว่าในกรณีฐานที่คาดว่าท่อ NS1 จะกลับมาส่งก๊าซเพิ่มขึ้นที่ระดับ 40% และยุโรปจะมีปริมาณก๊าซสำรองในคลังที่เพียงพอสำหรับฤดูหนาวที่จะมาถึง แต่คาดว่ารัฐบาลของกลุ่มประเทศยุโรปคงต้องมีการจำกัดการใช้พลังงานบางส่วนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมในภาคการผลิต และกดดันให้เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัวลง และด้วยความไม่แน่นอนจากทางฝั่งรัสเซีย ทำให้ไม่สามารถทิ้งความน่าจะเป็นที่ Gazprom จะปิดท่อ NS1 ไปได้

นักท่องเที่ยวครึกครื้นเศรษฐกิจเอเชียคึกคัก

ช่วงเวลานี้เราคงเห็นเหล่านักท่องเที่ยวทั่วโลกมีจุดมุ่งหมายปลายทางสู่เอเชียเสียมากมาย ยกตัวอย่าง  ประเทศไทยเราเองที่เดินทางไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในปี 2023 เป็นที่น่าลุ้นว่าเมื่อการท่องเที่ยวดีเด่นแล้วเศรษฐกิจเอเชียจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ในปัจจุบันของ เอเชียทั้งหมด (รวมจีนด้วย) จะเติบโตเฉลี่ย 4.9% ซึ่งในส่วนเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียแบบไม่นับรวมจีน คาดว่าจะเติบโต 4.5%

แม้การท่องเที่ยวเปรียบเสมือนตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทว่าอัตราการเติบโตก็ยังคงน้อยลงเรื่อย ๆ อีกทั้งทาง ADB คาดว่าการเติบโตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน 2023 คาดว่าจะโต 5.0% เพียงเท่านั้น ซึ่งเพิ่มจากปัจจุบันเพียงนิดเดียว

ตัวเลขคาดการณ์ที่มีแนวโน้มที่ดีนั้น มาจากความแข็งแกร่งของอินโดนีเซียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง ADB คาดว่าจะเติบโต 5.4% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะโต 5.0% อีกทั้งในส่วนฟิลิปปินส์คาดว่าจะโต 6.2%

สำหรับประเทศไทย ADB คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.9% และคาดว่าปีหน้าจะโต 4.2% ซึ่งหากเทียบกับอัตราการเติบโตของบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างมาเลเซีย และเวียดนาม

แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขคาดการณ์ของประเทศไทยยังน้อยกว่าเพื่อน ไม่เพียงเท่านี้ทาง ADB คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียปี 2023 นี้จะเติบโตชะลอลงที่ 4.5%

ในส่วนของคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง ‘เวียดนาม’ ถือเป็นหนึ่งในประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น หลากหลายชาติต่างสนใจเข้าไปลงทุน ADB คาดการณ์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจของเวียดนามจะเติบโตขึ้น 6.5% และคาดว่าในปีหน้าจะเติบโตเป็น 6.7%

และถึงแม้ว่าตัวเลขจะแสดงให้เห็นว่าเอเชียกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวเอย่างต่อเนื่อง โดยมีการท่องเที่ยวเป็นตัวช่วยสำคัญ เห็นได้จากที่หลายประเทศเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อดึงเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในเศรษฐกิจ แต่การเติบโตโดยรวมของทั่วโลกกำลังชะลอตัว และ ADB บอกว่า นั่นเป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียแน่นอน ไม่มากก็น้อย

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คงสรุปภาพรวมของปี 2023 ได้ว่าหลาย ๆ ทวีปอาจต้องเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ ที่เป็นตัวแปรแตกต่างกันไป ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกไม่มั่นคงเท่าไหร่นัก ทั้งนี้ ทาง Business+ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะค่อย ๆ ฟื้นตัวท่ามกลางวิกฤตที่ต้องเผชิญไม่มากก็น้อย

 

ที่มา : SCB EIC, BOT, ABD, CNBC