Green Hydrogen

Green Hydrogen พลังงานสะอาดรูปแบบใหม่จะเข้ามาแทนที่ ‘พลังงานฟอสซิล’ ใน 3 ทศวรรษ

ทั่วโลกเห็นตรงกันว่า Green Hydrogen เป็นกุญแจสำคัญสู่เป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ข้อจำกัดด้านกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนสูงกว่าพลังงานทุกประเภทจึงทำให้ Green Hydrogen ยังคงเป็นแค่ตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ปัจจุบันธุรกิจกรีนไฮโดรเจนยังมี Supply Chain ที่ไม่สมบูรณ์ ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การขนส่ง ไปจนถึงตลาดรองรับ ทำให้เป้าหมายที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกมองว่า ภายในปี 2593 ต้นทุนการผลิต Green Hydrogen จะอยู่ในช่วงราคาที่สามารถแข่งขันกับก๊าซธรรมชาติได้กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก

‘Business+’ พบข้อมูลว่าอุปสงค์พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจึงถูกคาดการณ์ว่าจะสามารถเข้ามาทดแทนพลังงานฟอสซิล (Fossil Fuel) ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักของโลกในอีกไม่เกิน 3 ทศวรรษ เห็นได้จากข้อมูลในปี 2564 ความต้องการใช้พลังงานไฮโดรเจนได้พุ่งไปถึง 94 ล้านตัน เทียบกับช่วงปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤตการณ์ COVID-19 ซึ่งความต้องการใช้พลังงานไฮโดรเจนอยู่ที่ 91 ล้านตัน โดยอุปสงค์พลังงานไฮโดรเจนที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งทำให้เกิดวิกฤติด้านราคาพลังงานพุ่งสูงจนนำมาสู่การเกิดเงินเฟ้อด้านต้นทุน (Cost-Push Inflation) เป็นตัวผลักดันให้หลายประเทศต่างมองหาพลังงานทางเลือกอื่นแทนที่จะพึ่งพาเพียงแค่พลังงานฟอสซิลที่ผูกขาดอยู่กับประเทศผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย ดังนั้น ไฮโดรเจนที่เป็นธาตุที่มีปริมาณมากถึง 75% ของสสารทั้งหมดในจักรวาลจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกใหม่

โดยบนโลกของเราสามารถพบไฮโดรเจนในรูปของโมเลกุล อย่างเช่น น้ำ และสารประกอบอินทรีย์ต่างๆ (Organic Compound) เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมัน ซึ่งไฮโดรเจนนั้น มีข้อดีต่างๆ มากมายแล้วแต่กระบวนการผลิต เช่น ปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือการเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีจำนวนไม่จำกัด นอกจากนี้ยังสามารถให้พลังงานได้สูงมากถึง 2.5 เท่าของก๊าซธรรมชาติเมื่อเปรียบเทียบน้ำหนักที่เท่ากัน และยังสามารถนำมาทำเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ที่มีประสิทธิภาพสูงได้อีกด้วย (ข้อมูล : คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน)

ดังนั้น ไฮโดรเจนจึงกลายเป็นพลังงานที่มีบทบาทสำคัญและเป็นเป้าหมายของหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมโลหะซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์กับภาคการขนส่งที่ใช้ระยะทางไกล อย่างเช่นการใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักสูง ซึ่งมีการปล่อยคาร์บอนมากเช่นกันหากใช้พลังงานฟอสซิลอย่างน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง

และเป้าหมายสู่การ Net Zero Emission หรือปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ของสหประชาชาติได้ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลาย ๆ ประเทศได้เริ่มนำไฮโดรเจนเข้ามาเป็นพลังงานหลักเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติที่มีเป้าหมาย Net Zero Emission ให้ได้ภายในปี 2593 หลาย ๆ ประเทศจึงได้เร่งผลักดันพลังงานไฮโดรเจน โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง

ยกตัวอย่างเช่น การใช้พลังงานไฮโดรเจนเพื่อขับเคลื่อนรถไฟ (Hydrogen Fuel Cell Train) ในเยอรมนี ซึ่งถือเป็นรถไฟพลังงานไฮโดรเจนขบวนแรกที่ได้เริ่มใช้งานพลังงานทดแทนจากเดิมที่รถไฟจะใช้น้ำมันดีเซลในการขับเคลื่อน ซึ่งเยอรมนีมีรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลอยู่ราว 20% จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความต้องการเปลี่ยนเป็นรถไฟพลังงานไฮโดรเจนอยู่ถึง 2,500 – 3,000 คัน

แม้กระทั่งผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก ทั้งแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น อย่าง Toyota หรือสัญชาติเกาหลีอย่าง Hyundai ก็ได้พัฒนาเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน หรือแม้กระทั่งสัญชาติเยอรมันอย่าง Volkswagen และ BMW ต่างลงทุนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles : FCEV) ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงในการเปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้เริ่มออกวางจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงแล้วในบางพื้นที่ เช่น Honda FCX Clarity ที่มีจำหน่ายในสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น และ Toyota Mirai ที่ออกจำหน่ายในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตามถึงแม้ในหลายอุตสาหกรรมจะหันมาพุ่งเป้าพลังงานไฮโดรเจน แต่ ‘Business+’ ได้เจาะเข้าไปถึงประเภทของพลังงานไฮโดรเจนที่มีการผลิตและใช้งานในช่วงที่ผ่านมาเรากลับพบข้อมูลว่าปริมาณการใช้ไฮโดรเจนทั่วโลกที่เป็นพลังงานสะอาดยังค่อนข้างต่ำ โดยในปี 2564 มีไฮโดรเจนที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงถึง 95% ของไฮโดรเจนที่ผลิตได้ในโลก ซึ่งไฮโดรเจนที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น เป็นไฮโดรเจนที่ก่อให้เกิดมลภาวะ สร้างคาร์บอน และไม่ได้ส่งผลดีต่อวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) แต่การผลิตไฮโดรเจนที่ไม่ปล่อยคาร์บอน หรือ Green Hydrogen มีปริมาณการผลิตน้อยกว่า 1 Mt จากความต้องการใช้พลังงานไฮโดรเจน 94 Mt ในปี 2564 หรือคิดเป็นเพียงแค่ 1.06% เท่านั้น

ซึ่งหลักๆ แล้วชนิดของไฮโดรเจนที่เรานำมาใช้เป็นพลังงานมี 4 ประเภท ซึ่งแตกต่างกันที่แหล่งกำเนิด และปริมาณการปล่อยคาร์บอน

ประเภทไฮโดรเจน เชื้อเพลิงที่ใช้และกระบวนการผลิต อัตราการปล่อยคาร์บอน
สีน้ำตาล (Brown Hydrogen) นำถ่านหินมาผ่านกระบวนการแปลงถ่านหินเป็นก๊าซ 16 กก.ต่อไฮโดรเจน 1 กก.
สีเทา (Grey Hydrogen) นำน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติมาเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลด้วยไอน้ำ 9 กก.ต่อไฮโดรเจน 1 กก.
สีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) ใช้น้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติเช่นเดียวกับสีเทา แต่เพิ่มการดักจับคาร์บอน 3-6 กก.ต่อไฮโดรเจน 1 กก.
สีเขียว (Green Hydrogen) แยกน้ำด้วยกระแสไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานสะอาด (แสงอาทิตย์ ลม) 0 กก.ต่อไฮโดรเจน 1 กก.

โดย Blue Hydrogen และ Green Hydrogen มีอัตราการปล่อยคาร์บอนต่ำมากไปจนถึงไม่ปล่อยคาร์บอนเลย จึงถือเป็นพลังงานสะอาดที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ โดยเฉพาะ Green Hydrogen ซึ่งเป็นพลังงานที่จะช่วยให้โลกสามารถกำจัดคาร์บอนในภาคพลังงานและอุตสาหกรรม และไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emission ได้อย่างรวดเร็ว

แต่สิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญของการมุ่งสู่ Green Hydrogen คือ กระบวนการผลิตที่มีต้นทุนสูงกว่า Brown Hydrogen และ Grey Hydrogen เกินเท่าตัว สาเหตุเป็นเพราะ Green Hydrogen ต้องใช้พลังงานสะอาด อย่างพลังงานลม หรือ พลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ในการผลิต ซึ่งแน่นอนว่า หากโลกยังไม่มีนวัตกรรมที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานสะอาดต่ำลง ก็จะไม่สามารถทำให้ต้นทุนของ Green Hydrogen ต่ำลงได้เช่นกัน

นอกจากอุปสรรคด้านต้นทุนด้านพลังงานทดแทนที่เป็นเชื้อเพลิงใช้ในการผลิตกรีนไฮโดรเจนยังสูงแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตกรีนไฮโดรเจนสูง เช่น การจัดเก็บ และการขนส่งไฮโดรเจนซึ่งต้องอาศัยความชำนาญ ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างจึงทำให้เกิดปัญหาด้านการบริหารจัดการ Supply Chain

ข้อจำกัดของ ‘Green Hydrogen’

  1. จัดเก็บและขนส่งยาก : ไฮโดรเจนมีน้ำหนักเบา และยังมีคุณสมบัติในการกัดกร่อน จึงต้องมีกระบวนการจัดเก็บและขนส่งที่ยุ่งยากมากกว่าสสารประเภทอื่น ๆ ดังนั้น การขนส่ง และ Logistics ต้องมีความชำนาญ และเพิ่มการออกแบบเพื่อกันรั่วซึมสำหรับกักเก็บก๊าซไฮโดรเจน
  2. ต้นทุนสูง : ต้นทุนการผลิต Green Hydrogen เมื่อเทียบกับน้ำมันถือว่าสูงเป็นเท่าตัวเพราะเป็นการผลิตไฮโดรเจนด้วยการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า โดยใช้น้ำเป็นวัตถุดิบ และใช้ชีวมวลหรือขยะอินทรีย์เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหิน จึงต้องใช้พลังงานสะอาด อย่าง โซลาร์เซลล์ หรือ พลังงานลม เข้ามาผลิต ซึ่งการผลิตพลังงานสะอาดยังมีต้นทุนสูง จึงทำให้ราคาขาย Green Hydrogen สูงตาม
  3. ตลาดรองรับยังน้อย : เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงจึงทำให้ราคาขาย Green Hydrogen ในตลาดสูงตาม ดังนั้น จึงยังไม่มีตลาดรองรับมากนัก

จากข้อจำกัดทั้ง 3 ด้าน ทำให้ Green Hydrogen จึงยังเป็นเพียงพลังงานอนาคตที่จะต้องใช้เวลาเปลี่ยนถ่ายและพัฒนาอีกหลายทศวรรษ แต่ก็มีการประเมินกันว่าภายในปี 2593 ต้นทุนของ Green Hydrogen จะสามารถเทียบเคียงก๊าซธรรมชาติได้ จากต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มลดลงตามการพัฒนาเทคโนโลยี ประกอบกับนโยบายภาครัฐของหลายประเทศสนับสนุนการใช้ไฮโดรเจนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้าน Green Hydrogen มากกว่าพลังงานอื่นๆ

โดย Bloomberg New Energy Finance มองว่าหากต้นทุนการผลิตพลังงานทดแทนยังคงลดลงต่อเนื่องเหมือนปัจจุบัน ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิต Green Hydrogen ลดลงตาม ซึ่งคาดดการณ์ว่าราคาของ Green Hydrogen จะต่ำลงมาได้ถึง 0.70 – 1.60 เหรียญฯ ต่อกิโลกรัมภายในปี 2593 ซึ่งหากเป็นไปได้ตาม Bloomberg ก็จะทำให้ราคาของ Green Hydrogen สามารถแข่งขันกับก๊าซธรรมชาติได้ ซึ่งการประเมินนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับ NEL ผู้ผลิตและผู้ผลิตอิเล็กโทรไลเซอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก ที่เชื่อว่าต้นทุนการผลิต Green Hydrogen จะสามารถเทียบเท่ากับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ภายในปี 2568

“เมื่อหลายฝ่ายต่างมองว่า ในอนาคตต้นทุนการผลิต Green Hydrogen จะลดลง และกลายเป็นพลังงานหลักในอนาคต เราจึงได้เห็นจากการลงทุนจากผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วโลก เพื่อพยายามผลักดันให้ให้ตลาดพลังงานไฮโดรเจนกลายเป็นเชื้อเพลิงหลักแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล”

แม้วันนี้ต้นทุนการผลิต Green Hydrogen จะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ ‘Business+’ มองว่า ในอนาคตต้นทุนการผลิตจะปรับตัวลดลงตามต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในโลกซึ่งจะถูกพัฒนาโดยประเทศที่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ซึ่งเป้าหมายแรกของประเทศที่มุ่งเน้นด้านไฮโดรเจน คือลดต้นทุนการผลิต Green Hydrogen ลง 50% ภายในปี 2573 และเป้าหมายถัดไปคือ ปี 2593 จะต้องลดต้นทุนจาก 2.5-5.5 ยูโรต่อกิโลกรัมเหลือประมาณ 0.67-0.84 ยูโรต่อกิโลกรัม ซึ่งเป้าหมายของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไปตามความพร้อมและภูมิประเทศที่เอื้อต่อการผลิตพลังงานสะอาด

– สหภาพยุโรป : ตั้งเป้าการผลิต Green Hydrogen ให้ได้ถึง 1 ล้านตันในปี 2567 และเพิ่มเป็น 10 ล้านตันในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันได้สนับสนุนการผลิตพลังงานไฮโดรเจนด้วยการระบุลงไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาพลังงานสะอาด และล่าสุดได้เปิดเผยแผนการลุงทุน Green Hydrogen ขนาดใหญ่ด้วยมูลค่า 550 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

– สเปน : ซึ่งเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะกับการผลิต Green Hydrogen ด้วยพลังงานแสดงอาทิตย์และพลังงานลม ได้มุ่งเป้าหมายการผลิต Green Hydrogen ให้ได้ 20% ภายใน 2573

– ญี่ปุ่น : ถือว่าเป็นหนึ่งประเทศที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาด ด้วยการสร้างโรงงาน Green Hydrogen ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยญี่ปุ่นประกาศเป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายใน 2593

– เกาหลีใต้ : ผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ไฮโดรเจนอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวน 16,381 คัน ส่วนอันดับ 2 คือ สหรัฐฯ 11,024 คัน (ข้อมูลในปี 2564) โดยเกาหลีใต้ได้จัดตั้งสถานีชาร์จไฮโดรเจนสําหรับรถยนต์ไฮโดรเจนแล้ว 112 สถานี เป็นรองเพียงญี่ปุ่นที่มี 152 สถานี โดยเกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่พัฒนาและจัดตั้งสถานีชาร์จไฮโดรเจนได้รวดเร็วที่สุด และมีเป้าหมายภายในปี 2573 จะต้องใช้พลังงาน Green Hydrogen ให้มากถึง 50% ของการใช้พลังงานไฮโดรเจนทั้งหมดในประเทศ และภายในปี 2593 จะเปลี่ยนถ่ายไปสู่ใช้พลังงาน Green Hydrogen แบบสมบูรณ์แบบ 100%

– จีน : เป็นหนึ่งประเทศที่วางแผนพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนเอาไว้สำหรับแผนพัฒนาของประเทศ โดยได้มีการวางแผนพัฒนาว่าภายในปี 2568 จีนต้องการที่จะมีระบบการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนที่สมบูรณ์ ซึ่งจะต้องมีความพร้อมทั้งการพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม ตลอดจนเทคโนโลยีหลักและกระบวนการผลิตต่างๆ และภายในปี 2573 จะมีการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Green Hydrogen ในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลให้ภายในปี 2578 สัดส่วนการใช้งาน Green Hydrogen เพิ่มขึ้นอย่างมาก และกลายเป็นพลังงานที่จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานของประเทศ

ประเทศไทยกับแผน Net Zero ด้วย Green Hydrogen

สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้มีการตั้งเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ซึ่งวางแผนด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งในภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม คือเทคโนโลยีการผลิตและใช้ไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Hydrogen

โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานและภาคเอกชน มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกลุ่ม Hydrogen Thailand ร่วมมือกับสถาบันวิจัยต่างๆ แต่ปัจจุบันยังมีการผลิตไฮโดรเจนแบบไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ (Grey Hydrogen) ไม่มากนัก

และหากเมื่อเจาะข้อมูลเข้าไปถึงบริษัทที่มีศักยภาพเงินทุน และความเชี่ยวชาญด้าน Green Hydrogen ‘Business+’ พบข้อมูลว่า เครือบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย อย่าง ปตท. ได้ส่งบริษัทเข้าศึกษา รวมถึงลงทุนในโครงการ Green Hydrogen อย่างต่อเนื่อง เช่น บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทแรก ๆ ที่เข้าลงทุนในโครงการ Green Hydrogen ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ 5 พันธมิตรจากทั้งเกาหลีใต้ และฝรั่งเศส ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการผลิต Green Hydrogen ขนาดใหญ่ในรัฐสุลต่านโอมาน และได้รับสัมปทานนานกว่า 47 ปี ด้วยกำลังผลิต 2.2 แสนตันต่อปี

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ‘ท็อป เวนเจอร์’ บริษัทในกลุ่มบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) ก็ได้เข้าลงทุนใน Versogen สตาร์ทอัพสหรัฐฯ ที่มีเทคโนโลยีด้านเมมเบรน (Membrane) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิต Green Hydrogen แบบ AEM Electrolyzers ที่ความบริสุทธิ์สูง ด้วยต้นทุนที่ต่ำ

ต้องบอกว่าแผนการลงทุนใน Green Hydrogen ถึงแม้จะยังเป็นโครงการในอนาคต แต่บริษัทที่มีศักยภาพเพียงพอก็พยายามที่จะขับเคลื่อนไปสู่การสร้างพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ทาง PTTEP อาจจะเป็นรายแรกที่เข้าลงทุนโครงการ  Green Hydrogen  ซึ่งหากเริ่มดำเนินการผลิตก็จะได้เปรียบเรื่องของ Know How และการครองส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ที่ยังคงเป็น Blue Ocean

แต่ในปัจจุบัน ‘Business+’ มองว่า บริษัทรายอื่น ๆ ก็เปิดเผยแผนการลงทุนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้อยู่เช่นกัน ซึ่งในอนาคตอุปสงค์ Green Hydrogen มีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะหากมองในแง่ของผู้บริโภคแล้ว การเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนถือว่าเร็วกว่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นอย่างมาก โดยเชื้อเพลิงไฮโดรเจนใช้เวลาเพียง 5 นาทีสำหรับการเติมเต็มถัง แต่รถ EV ใช้เวลาที่มากกว่า ดังนั้น Green Hydrogen จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งในช่วงแรกอาจจะยังเป็นการเข้าร่วมลงทุน และพัฒนาเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมเพื่อให้มี Know How ให้เท่าทันกระแสโลก

ที่มา : คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS