หากพูดถึงปลาสลิด คงหนีไม่พ้นปลาสลิดบางบ่อ แห่งอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ผลจากการเพาะเลี้ยงในน้ำกร่อย จึงทำให้มีรสชาติเค็มหน่อย ๆ เมื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาสลิดแดดเดียว จะได้ปลาสลิดที่รสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งได้รับความสนใจในการบริโภคมากว่ามากกว่าปลาสลิดในภูมิภาคอื่น ๆ แต่หากจะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออก จำเป็นต้องได้รับมาตรฐานระดับสากลที่ได้รับการยอมรับเสียก่อน
เมื่อวันที่ 20 มกราคม ผู้สื่อข่าวของ Business+ ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติที่จะส่งมอบงานวิจัยด้านปลาสลิดจำนวน 13 โครงการให้กับหน่วยงานรัฐ เพื่อให้นำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าดังของจังหวัดสมุทรปราการ
รศ.ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ ให้ข้อมูลว่า โครงการทั้งหมดได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สสกว.) เพื่อที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มและเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจปลาสลิดจังหวัดสมุทรปราการ โดยงานวิจัยทั้งหมดประกอบไปด้วย
1.การสร้างมูลค่าเพิ่มกับการจดตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูศาสตร์ (Geographic indication หรือ GI)
2.การรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อลดต้นทุน
3.การพัฒนาช่องทางการตลาดที่หลากหลาย
4.การสร้างองค์ความรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
จากงานวิจัยทั้งหมด เราได้วิเคราะห์ออกมาเป็น 2 ข้อสำคัญคือ
การพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อให้ได้มาตรฐาน และ การขยายช่องทางการตลาด
การพัฒนาคุณภาพสินค้า
เราได้สอบถามจาก รศ.ดร. อิสยา จันทร์วิทยานุชิต รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ ได้ข้อมูลว่า เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขอรับมาตรฐาน GAP : Good Aquaculture Practice หรือมาตรฐานการเพราะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี และมาตรฐานอย. ซึ่งมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติได้อาสาเข้าไปทำหน้าที่ต่าง ๆ ในการอธิบาย ให้องค์ความรู้เพื่อผลักดันให้เกษตรกรเข้ามารับตรามาตรฐานมากชึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างช่องทางตลาดได้มากขึ้น โดยได้เล็งตลาดในประเทศจีนไว้เป็นอันดับต้น ๆ

จากการสำรวจพบว่า คนจีนส่วนใหญ่ ไม่รู้จักปลาสลิด แต่ได้มีโอกาสทานปลาสลิดจากการเดินทางมาเที่ยวที่ไทย ปลาสลิดที่คนจีนนิยมทานคือ “ปลาสลิดเลาะก้างทอดกรอบไร้น้ำมัน” ชื่ออาจจะยาวนะ แต่นี่คือสิ่งที่วิจัยมาแล้วว่าคนจีนชอบ โดยนิยมทานเป็นแบบ Snack หรือขนม แทนการกินเป็นกับข้าวเหมือนคนไทย
การขยายช่องทางการตลาด ทำไมจีนถึงเป็นตลาดใหม่ ?
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มหลักที่เดินทางเข้ามาเที่ยวภายในประเทศ และเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่กระเป๋าหนัก มีกำลังซื้อ และหากสินค้าใดถูกใจ จะซื้อกลับบ้านเป็นกอบเป็นกำเพื่อนำเป็นของฝาก หากเราสามารถสร้างความนิยมในหมู่คนจีนได้ จะเป็นโอกาสทองสำคัญของคนไทย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ในปัจจุบันกำลังผลิตของจังหวัดสมุทรปราการยังไม่เพียงพอที่จะส่งไปยังตลาดจีน เพราะการส่งเข้าไปแต่ละครั้ง ต้องส่งจำนวนล็อตใหญ่ และต้องขอรับมาตรฐาน อย.จีนอีกด้วย ฉะนั้นแล้ว หากพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากลที่สำคัญ ๆ อย่าง GMP , GAP , HACCP, HALAL l (เครื่องหมายฮาลาล) , และ GI ผมคาดว่าจะสามารถทำให้ปลาสลิดไทยดังไกล และอาจแหวกว่ายได้มากกว่าตลาดจีนเสียอีก

ทั้งนี้ผมอยากขอเสริมในเรื่องของมาตรฐาน Geographic indication หรือ GI ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในการประชุมครั้งนี้ โดยได้สอบถามกับ ดร.ศิริวรรณ ตันตระวาณิชย์ รองอธิการบดี ม.หัวเฉียว ฯ ได้คำตอบว่า มาตรฐานหรือตรา Geographic indication เป็นสิ่งที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมีชื่อเสียง คุณลักษณะเด่นของสินค้าที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์และส่งเสริมให้มีชื่อเสียงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
โดยในปี 2561 จังหวัดสมุทรปราการได้มีนโยบายสนับสนุนให้นำปลาสลิดไปขอขึ้นทะเบียน GI โดยใช้ชื่อ “ปลาสลิดบางบ่อ” โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุมัติตรา ซึ่งหากไม่มีใครคัดค้าน จะสามารถนำตราดังกล่าวมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าปลาสลิดของจังหวัดสมุทรปราการได้มาก
สุดท้าย โครงการทั้งหมดของ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้ส่งมอบให้กับหน่วยงานราชการในจังหวัดสมุทรปรการ ทั้งส่วนราชการกลางและหน่วยราชการท้องถิ่น เพื่อคาดหวังจะนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ “ปลาสลิด” ให้มีคุณภาพ มีมาตรฐานการส่งออก และอาจสร้างกำลังผลิตได้มากขึ้น เพื่อให้สลิดไทย ว่ายได้ไกล ในต่างแดน
อ่านเพิ่มเติม : ม.หัวเฉียวฯ รับทุน สกว. หนุนวิจัยปลาสลิด ปี 2