Gig Economy ตลาดแรงงานแห่งอนาคต! คนทำงานได้อิสระ-นายจ้างประหยัดขึ้น 20%

คุณอยากทำงานอะไร คนเราทำงานทำไม เป็นคำถามที่บางทีก็นึกคำตอบไม่ออก อาจเพราะผู้คนทำงานเพื่อความอยู่รอด เพื่อสร้างรายได้ นำมาเลี้ยงดูครอบครัว เพื่อให้มีสถานะ ได้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เพื่อเรียนรู้ทักษะ หรือเพื่อจะไปถึงเป้าหมายและรู้สึกถึงความหมายของชีวิต

 

มีหลายข้อสงสัยเกี่ยวกับงาน เพราะลักษณะงานทุกวันวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต และกำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคตด้วยเช่นกัน และการเปลี่ยนแปลงนี้รวดเร็วและเร่งตัวขึ้นอย่างมาก เราควรจะปรับตัวอย่างไร วันนี้ Business+ จะพาไปหาคำตอบกัน

 

การเปลี่ยนงาน

เมื่อก่อนเรามักพบเห็นคนที่ทำงานที่เดียวเป็น 10 ปี 20 ปี แล้วค่อย ๆ ไต่เต้าเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ในบริษัทเดิม และถ้าหากคุณเป็นผู้สมัครงานที่เปลี่ยนงานบ่อยจะถูกมองว่าไม่น่าเชื่อถือ และบริษัทไม่กล้าจ้างคุณเพราะกลัวจะสูญเสียเงินค่าฝึกอบรมไป ปัจจุบันคนอเมริกันเปลี่ยนงานทุก ๆ 4.2 ปี คนGen X เปลี่ยนงานทุก ๆ5.2 ปี คนเจนมิลเลนเนียลเปลี่ยนงานทุก ๆ 2.9 ปี ส่วนคน Gen Z ทำงานที่เดิมประมาณ 2.3 ปี พวกเขามองหาตำแหน่ง อาชีพ และอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ไม่ยึดติดกับองค์กรหรือสถาบันทำให้พวกเขามีความยืดหยุ่นในการกำหนดตารางเวลาและสร้างรายได้จากงานหลาย ๆ งาน จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มที่คนทำงานรุ่นใหม่ ๆ จะเปลี่ยนงานบ่อยกว่าคนรุ่นก่อน

 

ในขณะที่ผลการสำรวจแรงงานในไทยในปี 2564 พบว่ามีแรงงานที่ต้องการเปลี่ยนงานใหม่สูงถึง 81% โดย 26.4% ของผู้ตอบแบบสำรวจมองหางานใหม่อย่างจริงจัง ขณะที่ 55.4% เปิดโอกาสตัวเองสำหรับงานใหม่ และ 18.2% ไม่ต้องการหางานใหม่

 

หากบริษัทต้องการดึงดูดและรักษาพนักงานรุ่นใหม่ไว้ ต้องทำงานร่วมกับพวกเขาเพื่อยกระดับทักษะและพัฒนาความสามารถ เพราะพวกเขาแสวงหาความรู้สึกมีเป้าหมาย และให้ผลตอบแทนที่ดีเหมาะสมกับการลงทุนของพวกเขา

 

ใช้ระบบอัตโนมัติแทนที่แรงงาน

ปัจจุบัน Smart machine ฉลาดขึ้นและใช้กันแพร่หลายมากขึ้น และกำลังจะกลายเป็นเพื่อนร่วมงานของเราในบริษัท อีกทั้งงานแบบเดิมในอุตสาหกรรมและการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างหนักจากระบบอัตโนมัติ ในหลายกรณี การทำให้สายการผลิตเป็นแบบอัตโนมัติเกิดผลดีมากกว่า งานที่ทำซ้ำ ๆ โดยใช้เครื่องจักร ที่ไม่ต้องนอน ไม่มีวันหยุด และมีต้นทุนถูกกว่าแรงงานมนุษย์มาก แน่นอนว่าผู้ประกอบการต้องเลือกตัวเลือกที่จ่ายน้อยกว่าและได้ผลผลิตมากกว่า

 

การยกระดับทักษะและความชำนาญด้านดิจิทัล

การปฏิวัติเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนสามารถทำงานได้จากทุกที่ โดยเฉพาะงานที่สามารถทำงานทางไกลได้ ในขณะเดียวกัน ในชีวิตประจำวันกิจกรรมต่าง ๆ ก็เริ่มทำออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ และส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เช่น การจ้างงานในภาคการธนาคารลดลง ธนาคารหลายสาขาต้องปิดตัว เพราะลูกค้าทำธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนที่คิดว่าจะทำงานในภาคการธนาคารไปตลอดชีวิต

 

ในอนาคตงานที่มีความสำคัญอย่างมากจะเป็นงานที่พนักงานจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และการยกระดับทักษะด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลต้องการไอเดีย ข้อมูล และโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง พนักงานจึงต้องพัฒนาความรู้ด้านดิจิทัลอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้

 

ใช้เทคโนโลยีเพื่อติดตามประสิทธิภาพการทำงาน

จากการการวิเคราะห์ของ Gartner พบว่า 16% ของนายจ้างใช้เทคโนโลยีเพื่อติดตามพนักงานบ่อยขึ้น ผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น การตอกบัตรเข้าและออก ติดตามการใช้คอมพิวเตอร์ที่ทำงาน และติดตามอีเมลของพนักงานหรือการสื่อสารภายใน/แชต แม้ว่าบางบริษัทจะติดตามประสิทธิภาพการทำงาน แต่บางบริษัทก็มุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เพื่อทำความเข้าใจพนักงานให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อประเมินว่าเมื่อไรที่พนักงานทำงานหนักเกินไป และเมื่อไรที่พวกเขาต้องการพักผ่อนเพื่อชาร์จพลัง โดยติดตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ความต้องการทางโภชนาการ และการออกกำลังกาย

 

Gig Economy

Gig Economy คือ ระบบเศรษฐกิจจากการจ้างงานรูปแบบชั่วคราว สัญญาจ้าง ฟรีแลนซ์ การเกิดขึ้นของบริษัทต่าง ๆ เช่น Uber, Task Rabbit หรือ DoorDash ได้เพิ่มวิธีการสร้างรายได้ และสร้างทางเลือกใหม่ให้กับแรงงาน

Pew Research Center รายงานว่า 16% ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันพยายามทำงานในรูปแบบที่เรียกว่า gig Economy คนเหล่านี้อาจขับรถให้กับบริษัทอย่าง Uber, ส่งอาหาร, เขียนคอนเทนต์บนเว็บไซต์ หรืออื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งการทำงานแบบนี้มีข้อได้เปรียบคือ มีอิสระ ยืดหยุ่นเรื่องเวลา สถานที่ทำงาน

และข้อได้เปรียบในส่วนของนายจ้าง คือ พบว่า 43% ของบริษัทที่จ้างงาน Gig Worker แทนการจ้างงานพนักงานประจำสามารถลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานได้ถึง 20% และจากการวิเคราะห์ข้อมูลของ Mastercard คาดว่าในปี 2023 Gig Economy ทั่วโลกจะเติบโตขึ้นถึง 455,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) อยู่ที่ 17.4% Gig Economy จึงถือว่าเป็นเทรนด์ที่มาแรงในตลาดแรงงานตอนนี้

 

และ Gig Economy ภายในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างมากในตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเปิดตัวเว็บไซต์และแพลตฟอร์มสำหรับคนทำงานอิสระ ฟรีแลนซ์ และพนักงานพาร์ทไทม์เพิ่มมากขึ้น

แต่ข้อเสียก็คือ Gig Worker จะไม่มีสิทธิประโยชน์เหมือนกับพนักงานประจำ เช่น การประกันสุขภาพ หรือผลประโยชน์อื่น ๆ และในเรื่องของรายได้ที่ไม่มีความมั่นคง

 

ทำงานด้วยแพสชันไม่ใช่แค่เงิน

ผู้คนจะแสวงหาโอกาสในการเชื่อมโยงคุณค่าของงานกับเป้าหมายและแพสชันของตัวเองเข้าด้วยกันมากขึ้น บริษัทที่เข้าใจความต้องการนี้จะเป็นที่ดึงดูดของเหล่าคนทำงาน  ไม่ใช่เพียงแค่การจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสนอโอกาสให้พนักงานสร้างผลงานที่มีความหมายต่อตัวพวกเขาเองอีกด้วย สนับสนุนการมีส่วนร่วมโดยการจุดประกายความคิดริเริ่มเพื่อให้พนักงานนำเสนอเรื่องราว ประสบการณ์ส่วนตัว และความสำเร็จในแง่มุมต่าง ๆ

 

Work-life balance กับการทำงานทางไกล

พนักงานที่ทำงานอิสระหรือทำงานทางไกลอาจประสบปัญหาได้รับมอบหมายงานมากขึ้น จนถึงจุดที่พวกเขาอาจรู้สึกเหมือนทำงานตลอดเวลา และไม่มีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานอีกต่อไป

 

และอีกแง่มุมของความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานในอนาคต เมื่อเทคโนโลยีช่วยปิดช่องว่างระหว่างระยะทางกับการทำงาน แต่กลับทำให้เกิดปัญหาในด้านความสัมพันธ์และวัฒนธรรมในที่ทำงานขึ้น การทำงานทางไกลทำให้พนักงานจำนวนมากไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงานได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความโดดเดี่ยวและความเหงาได้

 

จากข้อมูลที่ Business+ รวบรวมมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การทำงานในโลกแห่งอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยหลายปัจจัย อย่างเช่น กระแสการทำงานแบบ Gig Economy และรูปแบบการทำงานทางไกล (Remote Work) ที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเดิม ๆ บวกกับการระบาดของ COVID-19 ทำให้การทำงานแบบนี้ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น

 

อีกทั้งมีการนำระบบอัตโนมัติและ Smart machine มาใช้ในการทำงานมากขึ้น ทำให้แรงงานอาจถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร ดังนั้นทักษะและความชำนาญด้านดิจิทัลจึงสำคัญต่อการทำงานในอนาคต

 

ขณะที่คนทำงานรุ่นใหม่มีแนวโน้มเปลี่ยนงานบ่อยขึ้น และไม่ยึดติดกับการทำงานที่เดิมที่เดียวตลอดชีวิต พวกเขาต้องการอิสระและความยืดหยุ่นในการทำงาน นอกจากปัจจัยเรื่องเงินเดือน การให้ความหมายของงานที่ทำ พร้อมกับการมีแพสชันในการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่อาจทำให้พวกเขาอยู่กับบริษัทนานขึ้น

 

และอีกหนึ่งสิ่งที่นายจ้างและคนทำงานยุคใหม่ควรคำนึงถึงคือ Work-life balance และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี

 

สุดท้ายเราไม่อาจแน่ใจได้ว่าเราจะยังทำงานเดิมต่อไปในอีกสิบปีข้างหน้า เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้การทำงานเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงและยากต่อการวางแผนทางการเงินในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน

 

ที่มา toughnickel, JobThai, gartner, zippia, businessnewsdaily

 

เขียนและเรียบเรียง : สีน้ำ แผ่วฉิมพลี
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS