GDP

GDP ไทยปีนี้เหลือโต 2.5 – 3.0% ต่ำกว่าอาเซียน+3 หลัง ‘เอลนีโญ’ ฉุดภาคเกษตร+ราคาพลังงานเสี่ยงพุ่ง

เศรษฐกิจประเทศไทยที่ถูกมองว่าจะฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวที่ภาครัฐใช้ทั้งนโยบายแบบเร่งด่วนเช่นการออกฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวประเทศที่มีศักยภาพ และใช้จ่ายเงินต่อบิลสูง อย่างไรก็ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเป็นตลาดอันดับ 1 ของไทย เหตุผลคือเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้น และรัฐบาลจีนยังต้องการให้คนเที่ยวในประเทศมากกว่าใช้จ่ายเงินนอกประเทศ นั่นจึงทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่มองเอาไว้อยู่ที่ราว 3.9%

โดย ‘Business+’ ได้พบข้อมูลว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ล่าสุด ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่อง และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ โดย GDP ของโลกจะเติบโตเพียงประมาณ 3.0% ในปี 2566 และเติบโตเพียง 2.7% ในปี 2567 ซึ่งปัญหาเกิดจากเศรษฐกิจของจีนที่จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศในภูมิภาคเอเชีย ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป มีแนวโน้มยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว เห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคบริการและภาคการผลิต ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้กดดันเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ เผชิญความเสี่ยงจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ฟื้นตัวได้ช้า

นอกจากนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ราว 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเกิดจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยส่วนหนึ่งค่าเงินบาทอ่อนค่าตามทิศทางเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงนานกว่าคาด ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ คือความกังวลในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก และมีการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5 – 3.0% คาดว่ามาตรการวีซ่าฟรีของภาครัฐจะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวในช่วง high season โดยจะมีส่วนช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นราว 3.4 แสนคน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มแตะระดับ 29 – 30 ล้านคนในปีนี้ แต่ยังต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เอลนีโญ) ที่จะมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร รวมถึงราคาพลังงานในตลาดโลก ที่มีทิศทางสูงขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลต่อราคาพลังงานในประเทศหลังจากช่วงการลดราคาตามนโยบายของรัฐสิ้นสุดลง

ทีนี้หันมามองเศรษฐกิจระดับภูมิภาคกันบ้าง โดยไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (AMRO) คงการคาดการณ์การเติบโตของภูมิภาคอาเซียน+3 (กรอบความร่วมมืออาเซียนกับประเทศนอกกลุ่ม 3 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ในปี 2567 ยังคงเติบโต โดยได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกภาคอุตสาหกรรม ดูเหมือนจะเป็นการเติบโตที่ดี แต่จริงๆ แล้วการเติบโตนี้ถูกปรับคาดการณ์ลดลงมาเหลือ 4.3% ในปีนี้ ลดลงจากการคาดการณ์ในเดือนกรกฎาคมที่ 4.6% สาเหตุหลักมาจากการเติบโตที่อ่อนแอกว่าที่คาดในประเทศจีนในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากผลกระทบของมาตรการสนับสนุนนโยบายของจีนในการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศเป็นรูปธรรมอย่างเต็มที่มากขึ้น

ขณะที่อีกปัจจัยเป็นเรื่องของอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคอาเซียน+3 ไม่รวม สปป.ลาว และเมียนมาร์ คาดว่าจะอยู่ในระดับ 2.6% ในปี 2567 จากประมาณการปีนี้ที่ 2.9% ซึ่งการฟื้นตัวของราคาอาหารและพลังงานทั่วโลกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง โดยมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยเอลนีโญเป็นปัจจัยเสริมสำหรับภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนำไปสู่นโยบายการค้าที่เข้มงวดเพิ่มเติมสำหรับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว

โดยผลกระทบของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่ออัตราเงินเฟ้อของอาเซียน+3 จะรุนแรงยิ่งขึ้น หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินของภูมิภาคยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยูโรในสภาพแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอาจสูงขึ้นไปอีกนาน ก็จะเป็นตัวกดให้การเติบโตในภูมิภาคอาเซียน+3 อาจลดลงต่ำกว่า 3% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541 (หากไม่รวมการหดตัวที่เกิดจากโรคระบาดในปี 2563)

ที่มา : Press Release FOR IMMEDIATE RELEASE

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #นิตยสารBusinessplus #คอนเสิร์ต #เศรษฐกิจ #อาเซียน #GDP