ความเชื่อมั่นธุรกิจเริ่มหดตัว หลังเข้า Low Season อุตสาหกรรมท่องเที่ยว+ต้นทุนธุรกิจก่อสร้างพุ่ง

ถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจของไทย (GDP) ไตรมาส 1/2566 ที่ผ่านมาจะขยายตัวได้มากกว่าไตรมาสก่อนหน้าก็ตาม แต่การฟื้นตัวนี้ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไปที่ปกติแล้วจะเป็นช่วง Low Season ของธุรกิจท่องเที่ยวก็จะส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง เห็นได้จากความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาเริ่มหดตัวลง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร

โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ขยายตัว 2.7% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียง 1.4% โดยปัจจัยหลักมาจากภาคการผลิต และภาคบริการโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัว และยังมีเรื่องของอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสดังกล่าวเริ่มชะลอตัวลดลงจึงทำให้กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ‘Business+’ มองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 อาจจะไม่ได้ร้อนแรงเท่าไตรมาสแรก เพราะว่าการเติบโตของ GDP ในช่วงที่ผ่านมา เราพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวสูงมาก แค่เพียงไตรมาสเดียวธุรกิจท่องเที่ยวทำรายได้ให้ไทยไปแล้ว 2 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยไตรมาสแรกปี 2566 กว่า 6.5 ล้านคน ซึ่งช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 4 นั้นจะเป็นช่วง High Season จึงมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยจำนวนมาก

แต่ไตรมาส 2 และ 3 นั้น ปกติจะเป็นช่วง Low Season ของธุรกิจท่องเที่ยว แน่นอนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดน้อยลงกว่าช่วงที่ผ่านมา ขณะที่เมื่อมองไปถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนพ.ค.2566 เราจะเห็นว่าภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ การผลิต และการจ้างงาน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งเกิดจากการเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่สิ้นสุดลงไปแล้ว

โดยทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนพ.ค.66 ที่ระดับ 49.7 ลดลงจากระดับ 50.1 ในเดือนเม.ย.66 โดยความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ การผลิต และการจ้างงานหดตัวลงทั้งหมดตามกลุ่มธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร นอกจากนี้ความเชื่อมั่นในธุรกิจผลิตยานยนต์ก็ปรับลดลงเช่นกันจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดการผลิต และการส่งมอบรถยนต์ชะลอลง แต่ความเชื่อมั่นที่ลดลงของภาคธุรกิจท่องเที่ยว และการผลิตยานยนต์นั้น สวนทางกับดัชนีความเชื่อมั่นในภาคการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก

ทั้งนี้เมื่อมองไปถึงแนวโน้มอีก 3 เดือนข้างหน้า เราพบข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมได้ปรับลดลงจาก 56.1 มาอยู่ที่ 54.7 ซึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นที่ลดลงในทุกองค์ประกอบ ทั้งความเชื่อมั่นผลประกอบการ การผลิต และการจ้างงาน โดยความเชื่อมั่นของภาคการผลิตในกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงมากที่สุด ตามมาด้วยความเชื่อมั่นของภาคที่มิใช่การผลิตปรับลดลงในหลายหมวดธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม และร้านอาหาร รวมถึงกลุ่มโลจิสติกส์

ดังนั้น ถึงแม้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยรวมของเกือบทุกธุรกิจยังอยู่เหนือระดับ 50 ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มธุรกิจก่อสร้างที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าขนส่งและราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งธุรกิจก่อสร้างนั้น ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญกับการพัฒนาประเทศอย่างมาก เพราะเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจเข้าลงทุนที่ต่างชาติมีต่อเรา ทำให้เห็นว่าในภาพรวมแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจในไทยยังคงอยู่ในจุดที่ท้าทายอย่างมาก

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #ธุรกิจท่องเที่ยว #อุตสาหกรรมท่องเที่ยว #ท่องเที่ยว #GDP #ธุรกิจท่องเที่ยว