Soft Power ด้านอาหาร จุดขายการท่องเที่ยวไทย สู่ Gastronomy tourism ที่มี Market Size ถึง 23,285 ล้านดอลลาร์

เมื่อกล่าวถึงประเทศไทย สิ่งที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมักจะคิดถึงเป็นลำดับแรก ๆ คือ อาหารไทย เนื่องจากอาหารไทยมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ รสชาติหลากหลาย มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ และมีความพิถีพิถัน ดังนั้นนอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ศิลปวัฒนธรรมของไทย อาหารจึงเป็นอีกเหตุผลที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

 

โดยตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั่วโลกเติบโตที่เฉลี่ยปีละ 16.8% และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาด 1,796.5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2570 และตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกือบ 4% ในตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั่วโลก ถือเป็นมูลค่ามหาศาล ดังนั้นอาหารไทยจึงถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีจุดขายที่แข็งแกร่งของประเทศและส่งผลให้เกิดโอกาสทางธุรกิจมากมาย รวมถึงธุรกิจทัวร์ชิมอาหารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

ปัจจุบัน ผู้คนจะออกเดินทางเพื่อลองชิมอาหารท้องถิ่นของประเทศต่าง ๆ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ Gastronomy Tourism ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้คนสนใจแสวงหาประสบการณ์ด้านอาหารจากต่างประเทศในลักษณะเดียวกับที่พวกเขาแสวงหาองค์ประกอบอื่น ๆ ของวัฒนธรรมต่างประเทศ เช่น ศิลปะ ดนตรี และสถาปัตยกรรม

 

การท่องเที่ยวเชิงอาหาร คือ การเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางซึ่งมีอาหารและเครื่องดื่มในท้องถิ่นเป็นปัจจัยหลักในการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมการกินดื่ม และครอบคลุมไปถึงการผลิต เช่น ทัวร์ไร่หรือสวน ทัวร์ไวน์ ทัวร์โรงกลั่น ทัวร์ทำอาหาร และทัวร์ฟาร์ม

 

จากรายงาน Global Culinary Tourism Market 2020-2027 ตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั่วโลกเติบโตที่เฉลี่ยปีละ 16.8% และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาด 1,796.5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2027 ซึ่งขนาดตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารของประเทศไทยในปี 2022 คือ 23,285 ล้านดอลลาร์ มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกือบ 4% ในตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั่วโลก ซึ่งถือเป็นมูลค่ามหาศาล

 

โดยก่อน COVID-19 ระบาด การท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทยมีรายได้ร้อยละ 20 จากการท่องเที่ยวทั้งหมด มีมูลค่า 4.56 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.82 แสนล้านบาท และจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 1.74 แสนล้านบาท

 

อีกทั้ง ข้อมูลโครงการสำรวจเพื่อการวิเคราะห์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ในครึ่งปีแรก เดือน ม.ค. – มิ.ย. 2566 ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยหลักที่นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางมาประเทศไทยคือ 1. ความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว 54.98% 2. อาหารและเครื่องดื่ม 50.61% 3. อัธยาศัยไมตรีของคนท้องถิ่น 37.45% และนอกจากนี้กิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การรับประทานอาหารไทย 91.81% อีกด้วย จะเห็นได้ว่าอาหารและเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนประเทศไทย และพวกเขาเลือกที่จะทานอาหารประเภทต่าง ๆ ดังนี้

 

 

ทั้งนี้ อาหาร (Food) ถือเป็นหนึ่งใน  Soft Power ของโครงการ 5 F ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผลักดัน ซึ่ง 5 F ได้แก่ 1. อาหาร (Food) 2. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3. การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4. ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) 5. เทศกาลประเพณีไทย (Festival) อาหารจึงเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยที่สำคัญ และสามารถสร้าง Soft Power ให้อาหารไทยกลายเป็นที่รู้จักและนิยมของคนทั่วโลกได้

 

Soft Power ด้านอาหาร

ในปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ด้วยการเปิดแคมเปญ Year of Thai Gastronomy “ปีแห่งอาหารไทย” นำเสนอวัฒนธรรมอาหารไทยผ่านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ชวนนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวตามรอยอาหารถิ่นทั่วไทย โปรโมตตลาดถนนคนเดินหรือ Walking Street ดึงดูดให้เดินทางเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น กินอาหารท้องถิ่นของไทย

 

และเปิดตัวโครงการ Amazing Thailand Culinary City  ซึ่งโครงการที่ช่วยยกระดับการท่องเที่ยวเชิงอาหารไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน เพื่อความยั่งยืน เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ กับมหกรรมท่องเที่ยวเชิงอาหาร ที่จัดขึ้นทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วไทย ทั้งอาหารพื้นถิ่นและอาหารข้ามภาค  กิจกรรมสาธิตการทำอาหาร และนิทรรศการอาหารไทยระดับโลก

นอกเหนือจากการโปรโมตของ ททท. แล้ว เรายังสามารถเห็นพลังของอาหารไทย ผ่านสื่อสู่สายตาชาวโลก เช่น จากซีรีส์เรื่อง King The Land ที่มีการมาถ่ายทำที่ประเทศไทย โดยมีนักแสดงนำคือ อิมยุนอา จากวง Girls’ Generation และอีจุนโฮ จากวง 2PM ซึ่งซีรีส์มีฉากที่เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร และเที่ยวชิม Street food ที่ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง กินอาหารร้านดังอย่างร้านคุณแดงก๋วยจั๊บญวน ที่ถนนพระอาทิตย์ ไปจนถึงดื่มด่ำบรรยากาศบนรูฟท็อปกับบาร์หรู Vertigo & Moon Bar ที่โรงแรม Banyan Tree

 

โดย King The Land King the Land ครองอันดับ 1 ในการจัดอันดับการรับชมในประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ พร้อมทั้งขึ้นสู่ 10 อันดับแรก ในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ กาตาร์ ไต้หวัน ไทย และประเทศอื่น ๆ รวม 43 ประเทศ และผ่านสายตาคนอีกหลายประเทศทั่วโลก ความงดงามของวัฒธรรม และอาหารไทยจึงถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มอย่างเน็ตฟลิกซ์ที่มีบริการถึง 190 ประเทศทั่วโลก

 

และที่น่าสนใจอีกหนึ่ง Soft Power ของอาหารไทย คือรายการทางยูทูบของเชฟแบคจงวอน ด้วยชื่อช่อง 백종원 PAIK JONG WON ที่นำเสนอเรื่องราวของอาหารทั้งของเกาหลีและประเทศอื่น ๆ เช่น รายการ Hungry Bangkok ที่ตอนนี้มีถึง 4 Episode โดยคลิปแรกมียอดวิวทะลุ 2.1 ล้านวิว (ณ วันที่ 25 กันยายน 2023) มีซับไตเติลถึง 10 ภาษา และมีเสียงพากษ์ถึง 4 ภาษา ยิ่งทำให้คอนเทนต์ของเชฟแบคจงวอนเข้าถึงผู้ชมได้มากมายหลายประเทศ อาหารไทยจึงไปสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกได้มากขึ้น

 

และอีกหนึ่งซีรีส์ไทยที่โด่งดังมากในหลายประเทศอย่าง แปลรักฉันด้วยใจเธอ ซึ่งถ่ายทำที่ภูเก็ต ประเทศไทย ก็ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นแฟนคลับซีรีส์และนักแสดง มาเที่ยวภูเก็ตสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ที่แสนโรแมนติก และแวะชิมกาแฟที่ ‘โกปี้เตี่ยม’ ร้านกาแฟที่เป็นโลเคชันถ่ายทำซีรีส์เรื่องนี้

นอกจากนี้ยังมีซอฟพาวเวอร์ด้านอาหารจากศิลปินชื่อดัง อย่าง ลิซ่า BLACKPINK นักร้อง K-POP ชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้ให้สัมภาษณ์ว่าอาหารโปรดของเธอคือ ลูกชิ้นยืนกินที่จังหวัดบุรีรัมย์ ทำเอายอดขายของทางร้านพุ่งขึ้นอย่างมากเพราะคนแห่กินตามลิซ่า อีกด้านแร็ปเปอร์สาว มิลลิ ที่ได้ไปขึ้นแสดงบนเวที Coachella ที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์ แม้ชาวต่างชาติหลายคนจะรู้จักข้าวเหนียวมะม่วงขนมหวานขึ้นชื่อของเมืองไทย แต่หลายคนอาจจะยังไม่เคยลิ้มลอง ทำให้เกิดกระแสข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์จากการที่มีคนหามากินตามมิลลิ

ทำไมการท่องเที่ยวเชิงอาหารจึงมีความสำคัญต่อประเทศไทย

เนื่องจากความต้องการเดินทางมาประเทศไทยเพื่อทานอาหารไทยรสชาติที่เหมือนคนไทยกินของนักท่องเที่ยวนั้นมีเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งสายการบิน โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร รวมทั้ง Food Tour หรือทัวร์ชิมอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากชิมอาหารท้องถิ่นแท้ ๆ แนะนำโดยไกด์ท้องถิ่น โดยมีรูปแบบหลากหลาย ทั้งการเดินชิมสตรีทฟู้ด นั่งตุ๊กตุ๊กทัวร์ชิมอาหาร หรือนั่งรสบัสชมวิวเมืองและรับประทานอาหาร

 

โดยผู้ประกอบการที่โดดเด่นในธุรกิจประเภทนี้ ได้แก่ Bangkok Food Tours โดยบริษัท นวทรรศน์ ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด, Thai Bus Food Tour โดยบริษัท ไทยบัสฟู้ดทัวร์ จำกัด ซึ่งทำการตลาดผ่านเว็บไซต์ของบริษัท และสื่อโซเชียลมีเดีย อย่าง เฟซบุ๊กเพจ และอาศัยการบอกต่อของนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ

 

จุดขาย Food Tour

แม้ว่านักท่องเที่ยวจะสามารถไปกินอาหารตามแหล่งท่องเที่ยวตามที่อินฟลูเอนเซอร์ด้านท่องเที่ยว หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเองทางเว็บไซต์หรือสื่อต่าง ๆ แต่อาจสู้การแนะนำจากไกด์ท้องถิ่นของทัวร์ไม่ได้ ดังนั้นหนึ่งจุดเด่นของทัวร์ชิมอาหารก็คือ ข้อมูลอินไซต์เกี่ยวกับอาหาร วัฒนธรรมท้องถิ่น ร้านอาหารโลคัล รสชาติแบบคนท้องถิ่นกิน

 

โดย Bangkok Food Tours มีสโลแกนที่ใช้คือ “กินอย่างไทย = Eats Like Thai Do” นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีเส้นทางทัวร์อาหารขยายไปสู่จังหวัดอื่น เช่น เชียงใหม่ และภูเก็ต อีกด้วย

ส่วน Thai Bus Food Tour เน้นทัวร์เสิร์ฟอาหารระดับมิชลินบนรถบัส พร้อมชมทิวทัศน์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ได้สัมผัสประสบการณ์ทานอาหารที่ครบครันและสะดวกสบาย เพราะไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรก็สามารถทัวร์ชิมบนรถบัสรอบเมืองได้

 

จากข้อมูลที่ Business+ รวบรวมมาจะเห็นได้ว่า อาหารไทยมีเอกลักษณ์และรสชาติที่หลากหลาย เป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ และดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกือบ 4% ในตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั่วโลก ดังนั้นอาหารถือเป็นตัวขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย และจากการสนับสนุนของภาครัฐ รวมทั้งซอฟต์พาวเวอร์จากเหล่าคนดังและสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ร่วมผลักดันให้อาหารไทยถูกนำเสนอไปสู่สายตาคนทั่วโลก ทำให้ตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจมากมาย เช่น ธุรกิจทัวร์ชิมอาหาร ธุรกิจร้านอาหาร

 

ที่มา ททท., futuremarketinsights, onceinlife, kbizoom, Bangkok Food Tours, Thai Bus Food Tour