รับมือการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล

ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการปฏิบัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ซึ่งจะมีเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก จึงเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของทั้งภาคธุรกิจทั่วไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ใครที่มองเกมไม่ออก ใช่แค่ส่วนแบ่งตลาดเล็กลง แต่อาจหมายถึงไม่มีที่ยืนในตลาดก็เป็นไปได้ นั่นทำให้เราต้องมองหาเครื่องมือเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดมูลค่าสูงสุด

 

และเมื่อมองถึงเครื่องมือใกล้ตัวอย่าง “คลาวด์ คอมพิวติ้ง” หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญต่อการสร้างโอกาสใหม่ของการเพิ่มรายได้ทั้งระดับภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจประเทศโดยรวม รวมถึงการเชื่อมต่อโอกาสธุรกิจที่ดีที่สุด อาทิประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นสูงของระบบการทำงานของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดหาโซลูชั่นไอซีทีชั้นนำระดับโลก ได้จัดงาน Huawei Cloud Congress Thailand 2016 (HCC Thailand 2016)  ภายใต้ธีม “Transforming with cloud, Setting new benchmark”

 

เพื่อเป็นเวทีตอกย้ำการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนลูกค้าและพันธมิตร สามารถมองหาโอกาสและความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคคลาวด์ โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศทั่วโลก ที่บริษัทเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานประจำปีสำหรับ Huawei Cloud Congress มาอย่างต่อเนื่อง

 

มร. แจ็ค วัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า คลาวด์ คอมพิวติ้ง และบิ๊กดาต้า กำลังทลายพรมแดนการทำธุรกิจ ทั้งยังสร้างมูลค่าใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ตลอดจนโอกาสใหม่ทางอุตสาหกรรมและธุรกิจ มีตัวเลขการวิจัยถึงการเติบโตของตลาดคลาวด์ คอมพิวติ้งทั่วโลก ปี 2558 พบว่าเติบโตถึง 28% แตะหลัก 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ไอดีซี คาดการณ์ว่าจะมีการติดตั้งใช้งาน external cloud เพิ่มจาก 22% ในปัจจุบันเป็น 32.1% ในอีก 2 ปีข้างหน้า คิดเป็นอัตราเติบโต 45.8%

 

ข้อมูลจากไอดีซี ยังระบุว่า ปัจจุบันประมาณ 14%  ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก เกิดขึ้นผ่านออนไลน์  ซึ่งแนวโน้มต่างๆ เหล่านี้  กลายเป็นแรงกดดันและความท้าทายสำหรับผู้ให้บริการสื่อสาร, ภาคธุรกิจ และผู้ให้บริการโซลูชั่น ที่จะต้อง “เปลี่ยนแปลง”

 

ทั้งนี้ หัวเว่ย จะนำประสบการณ์ที่เคยสนับสนุนผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศไทย ปฏิวัติจากยุค 3 จี เป็น 4 จีมาแล้ว ต่อยอดสู่การทำงานร่วมกับลูกค้า จัดทำกลยุทธ์ด้านไอทีและคลาวด์ระดับองค์กร เพื่อช่วยผู้ให้บริการและลูกค้าองค์กร ชิงความเป็นผู้นำในยุคคลาวด์ ขณะที่ ในภาพเศรษฐกิภาพรวมนั้น คลาวด์และบิ๊ก ดาต้า จะเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จำเป็นต่อการเร่งการเติบโตให้กับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทย

 

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวระหว่างการเปิดงาน HCC Thailand 2016 ว่า  รัฐบาลกำลังผลักดันโครงการใหม่ๆ ให้เกิดการหลอมรวมกับแนวคิด Thailand 4.0 และ Industry 4.0 สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่กำลังเข้าสู่ยุคการพัฒนาอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (The Forth Industrial Revolution) โดยหลายโครงการจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับคลาวด์ คอมพิวติ้ง, บิ๊ก ดาต้า และ Internet of Things (IoT)

 

“แนวโน้มเหล่านี้จะไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดใจอีกต่อไปในอนาคตอันใกล้ เพราะแม้แต่ในเวทีประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ครั้งล่าสุด ยังเห็นด้วยว่า การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมตามแนวโน้มเทคโนโลยีข้างต้นนั้น  ได้เกิดขึ้นแล้ว”

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้ออกมาตรการใหม่ๆ สนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากคลาวด์ คอมพิวติ้ง ตลอดจนความสามารถของเทคโนโลยีไอซีทีมาสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการสร้างให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่งให้กับประเทศไทย สนับสนุนธุรกิจในประเทศไทยทำธุรกิจได้สะดวกยิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพ โดยมีบุคลากรที่มีความสามารถ การทำงานร่วมกันของบริษัทเอกชนไทยและบริษัทข้ามชาติ ปูทางสู่การทำให้เประเทศไทยเป็นเกตเวย์สู่อาเซียน ในอนาคตอันใกล้

 

“และคลาวด์ คอมพิวติ้ง จะเป็นพื้นฐานที่ดีเยี่ยม ให้อุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจในประเทศไทย ใช้งานและจัดหาบริการที่ดีให้กับประชากรในประเทศ ตลอดจนภาคธุรกิจด้วยกัน”

 

โดยส่วนหนึ่งของมาตรการสนับสนุน คือ โครงการ Talent Mobility ส่งเสริมให้นักวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ในประเทศได้ไปทำงานในสถานประกอบการจริง แบบเต็มเวลา หรือภายในระยะเวลา  2 ปี  ลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีศักยภาพด้านงานวิจัย อีกทั้งช่วยเร่งความเร็วในการสร้างนวัตกรรมของไทย ซึ่งจะสร้างให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่งให้กับประเทศ  โดยเป็นการทำงานร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีนักวิจัยเกือบ 200 คนจากหน่วยงานรัฐ  เข้าไปทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนแล้ว

 

มร. โรนัลด์ ไรท์ ราฟเฟ่นสเปอร์เกอร์ ประธานฝ่ายเทคโนโลยีด้านผลิตภัณฑ์ไอทีของหัวเว่ย กล่าวว่า หัวเว่ยให้ความสำคัญกับพันธมิตร  และทำงานในระดับท้องถิ่นร่วมกับพันธมิตร  เพื่อช่วยกันนำคลาวด์ขึ้นสู่ระดับโลก มุ่งมั่นที่จะสร้าง Cloud Ecosystem ที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย  ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยคลาวด์จะเป็นปัจจัยในการสร้างความแตกต่างให้กับผู้ประกอบการด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการโครงข่าย จะสามารถสร้างจัดหาบริการใหม่ๆ ในระยะเวลาที่สั้นลง ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (OPEX) ลดลง และมีการปฏิบัติการและบำรุงรักษาแบบอัตโนมัติ (O&M)   คุณสมบัติที่เป็นประโยชน์เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถสร้างธุรกิจใหม่ในระบบคลาวด์สาธารณะ และช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีคลาวด์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ ในงาน HCC Thailand 2016 หัวเว่ย  ได้ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, SAP, Intel, Brocade, Accenture, Commvault, ECS และ Synnex เปิดตัว FusionCloud Ecosystem  ตอกย้ำแนวคิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน และสร้าง Cloud Ecosystem แบบเปิดที่จะช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีคลาวด์ได้รวดเร็วง่ายดายยิ่งขึ้น

 

ด้านกรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทยของ หัวเว่ย กล่าวย้ำว่า “เราอยากจะแบ่งปันผลงานความสำเร็จในอุตสาหกรรมไอซีทีระดับโลกของเรา และช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีในภูมิภาค ด้วยการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีไอซีที รวมถึงผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่ทันสมัยและมีศักยภาพในการแข่งขันสูงสุด เพื่อช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล”