Food x Technology สู่การปรับตัวแห่ง Mega Trends ธุรกิจอาหาร

ธุรกิจอาหารกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน คนรุ่นใหม่ต้องการอาหารชนิดใหม่ที่ดีต่อสุขภาพ คลีน กรีน ดีต่อสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบได้ สะดวกสบายทั้งในการซื้อจัดส่งและชำระเงิน ทำให้ธุรกิจ Food Tech กำลังเติบใหญ่และมีโอกาสดีสรัปธุรกิจอาหารแบบเดิม ๆ

ทั้งนี้บริษัทวิจัย Research and Markets วิเคราะห์ว่ามูลค่าตลาดโลก Food Tech จะทะลุ 250,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7.739 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2565 และจำนวนสตาร์ตอัพที่ให้บริการและขายอาหารในเทรนด์ Food Tech กำลังทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วขณะที่ผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ดั้งเดิมกำลังเร่งปรับตัว

 

นอกจากนี้รายงานของ Carin Gerhardt ชี้ว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดกระแสธุรกิจอาหาร Food Tech ตั้งแต่เรื่องโลกร้อน สิทธิมนุษยชน การเข้าสู่ยุคดิจิตัล รวมทั้งความใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภคทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาทิ ความนิยมอาหารมังสวิรัตแบบผักและแบบวีแกนที่เพิ่มขึ้น โดยมีรายงานจาก Mintel Global Food and Drink Trends 2017 ว่าในปีพ.ศ. 2559 มีการเปิดตัวอาหารและเครื่องดื่มวีแกนใหม่จำนวนมากเมื่อเทียบกับเมื่อห้าปีก่อนหน้า

 

โดยแนวโน้ม Food Tech ในปี 2562 ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจอาหารและการเกษตรมี 7 ประการ คือ 1. อาหารจากพืชและปลอดจากสัตว์ 2. หุ่นยนต์บริการและภัตตาคารดิจิตัล 3. ปราศจากพลาสติก 4. รายใหญ่ ความโปร่งใสและค่านิยมทั่วไป 5. เครื่องดื่มฟังก์ชันขยายตัว 6. โภชนาการเฉพาะบุคคล และ 7. อีแพลตฟอร์มอาหารเพื่อสุขภาพ


เว็บไซต์ DigitalFoodLab รายงานว่าภายในปี 2561 มีสตาร์ตอัพ Food Tech ที่ขึ้นถึงระดับยูนิคอร์นทั่วโลกแล้ว 33 กิจการ มีการระดมทุนตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบันไปแล้วรวม 26,600 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 823,863 ล้านบาท) โดยมี 24 รายเป็นฟู้ดดีลีเวอรี่ซึ่งได้เงินทุนไป 77 เปอร์เซ็นต์และในจำนวนทั้งหมดเป็นกิจการของชาวอเมริกันมากเป็นอันดับหนึ่งคือ 11 ราย จีนตามมาเป็นที่ 2 และอังกฤษเป็นอันดับ 3

 

สำหรับประเทศไทยปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงของไทย ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2562 จะมีมูลค่าประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท โดยเป็นการบริโภคภายในประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และเป็นการส่งออก 1.1 ล้านล้านบาท

 

โดยประเทศคู่ค้าหลักยังคงเป็นกลุ่มอาเซียน รองลงมาได้แก่กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ, แอฟริกา, สหภาพยุโรป และโอเชียเนีย โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับที่ 14 ของโลกในปี 2560

 

 

ผู้ประกอบการด้านอาหารจึงต้องปรับตัว จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีที่มีส่วนสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด อัพเดตตนเองได้ไวที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาสินค้า บริการ และแพลตฟอร์ม เพื่อตามให้ทันต่อยุคสมัยและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

โดยเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทย เป็นภาคส่วนที่ขับเคลื่อนให้ GDP ในปี 2560 มีการขยายตัวขึ้น รวมไปถึงการสร้างมูลค่าการส่งออกของภาคเกษตรที่น่าจับตามอง โดยมีมูลค่า 6,551,718 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.1 เร่งขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 และมีสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศคิดเป็นร้อยละ 42.4 ส่วนสตาร์ทอัพด้านอาหารของไทย(Food Tech )เป็นกลุ่มที่มีการลงทุนมากที่สุดในธุรกิจสตาร์ทอัพของทั้งประเทศ โดยคิดเป็น 14% ของการลงทุน

 

ทิศทางต่อไปของสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีด้านอาหารและเครื่องดื่มของไทยคือการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับที่เป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้า เพื่อเสริมความมั่นใจให้กับนักลงทุนและดึงความสนใจจากผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ขณะที่ภาคเกษตรกรรมในปัจจุบันต้องมีการปรับตัว และคำนึงถึงการจัดการทรัพยากร การใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม

 

โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตเพื่อควบคุมการผลิต แนวคิด smart farm จึงเป็นการจัดการเกษตรสมัยใหม่เพื่อยกระดับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อความยั่งยืนของไทยในอนาคต นอกจากนี้ภาคเกษตรกรรมต้องปรับตัวโดยมีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบเกษตรกรรม เช่น ริเริ่มการสร้างแบรนด์ของตนในฐานะวัตถุดิบต้นทาง หาทางเลือกใหม่ให้กับสินค้าเพื่อพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ที่จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการช่วยส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรได้ในปัจจุบัน

 

พบกับทุกแง่มุมที่น่าสนใจของอุตสาหกรรม Food Tech รวมทั้งเรื่องราวของ Food Techที่ประสบความสำเร็จระดับระดับยูนิคอร์นทั่วโลกที่น่าสนใจได้ใน นิตยสารบิสิเนสพลัสฉบับเดือนสิงหาคม2562 ได้เร็วๆนี้