วิเคราะห์เงินเฟ้อไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป? ภายใต้ต้นทุนพลังงาน-อาหารโลกพุ่ง

‘เงินเฟ้อ’ เป็นปัญหาที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปี 2022 และยังคงเป็นปัญหามาจนถึงปี 2023 โดยเฉพาะกับประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อสหรัฐอาจยังคงสูงเกินระดับ 5% ไปจนสิ้นปี 2566

ส่วนของประเทศไทยนั้น ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ออกมากำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% สำหรับปี 2566 (เป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง) จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2565 อยู่ที่ 6.08% (สูงสุดในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 ที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับ 8.1%) และสิ้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5.89%

ซึ่งเมื่อเรานำเป้าหมายการควบคุมเงินเฟ้อมาเทียบกับความเป็นจริง จะเห็นได้ว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายเป็นอย่างมาก ซึ่งประเทศไทยจะสามารถคุมเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมายได้จริงหรือไม่นั้น ‘Business+’ ได้ทำการวิเคราะห์แต่ละปัจจัยที่จะส่งผลต่อเงินเฟ้อได้ดังนี้

ปัจจัยแรก : ต้นทุนการผลิตสินค้ายังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกนาน โดยที่เราต้องรู้ก่อนว่าเงินเฟ้อที่ทั่วโลก รวมถึงไทยกำลังเผชิญอยู่นั้น เป็นเงินเฟ้อด้านอุปทาน (เกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost-push inflation) ซึ่งทำให้ผู้ผลิตปรับราคาสินค้าสูงขึ้น) ซึ่งต้นทุนที่พุ่งขึ้นนั้น มาจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทบตั้งต้นทุนด้านพลังงาน และต้นทุนอาหาร ดังนั้น หากสงครามของทั้ง 2 ประเทศยังดำเนินอยู่ในความตึงเครียดแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ปัญหาด้านต้นทุนก็จะยังคงอยู่ และเป็นปัจจัยที่ผลักดันเงินเฟ้อต่อเนื่อง

ปัจจัยที่สอง : ปัญหาด้าน Supply chain disruption หรือการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน พูดง่าย ๆ คือการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างรุนแรง ซึ่งปัญหานี้เกิดจากความต้องการที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่า เช่น ภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้า และการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความต้องการซื้อสินค้าที่มากขึ้นในช่วง COVID-19 และมีการ work from home

โดยทั้ง 2 ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อมายังต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้นเช่นเดียวกับต้นทุนพลังงาน และต้นทุนอาหาร แม้ปัญญาดังกล่าวในช่วงท้ายปี 2565 จะเริ่มทุเลาไปบ้าง แต่ต้นปี 2566 โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ยาวไปถึงตรุษจีน ก็คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการสินค้ามากขึ้น และอาจทำให้ภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์กลับมาอีกครั้ง

ปัจจัยที่สาม : กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวทั่วโลกจะกลายเป็นตัวผลักดันเงินเฟ้อ โดยปกติแล้วกระแสรักษ์โลกนั้น มีแต่ข้อดีให้เห็นแต่จริงๆ แล้วในภาวะเงินเฟ้อสูงอยู่แล้วนั้น กระแสรักษ์โลกอาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะจะก่อให้เกิด ‘เงินเฟ้อจากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม’ (Greenflation) เพราะเมื่อภาคธุรกิจจำเป็นต้องลดเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า หันมาส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ลดการอุดหนุนการใช้พลังงานถ่านหิน จัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon tax) ทำให้หลายองค์กรต้องหันมาใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับโลกเรา อย่างเช่น แผงโซลาร์เซลล์ หรือ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้วัตถุดิบที่หายาก อย่าง ตะกั่ว ทองแดง สังกะสี (ซึ่งปกติแร่เหล่านี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว)

และเมื่อ Demand วัตถุดิบเหล่านี้สูงขึ้นจากภาวะปกติก็จะทำให้ราคาวัตถุดิบยิ่งพุ่งขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งกระบวนการเงินเฟ้อจากกระแสรักษ์โลกนี้ถูกเรียกว่า “Greenflation” ดังนั้น ในปี 2566 ซึ่งประเทศไทย และอีกหลาย ๆ ประเทศได้ผลักดันด้านพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ยิ่งเป็นตัวบังคับให้ภาคธุรกิจหันมาลงทุนเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนาเพื่อปรับรูปแบบสู่ธุรกิจสีเขียวมากขึ้น ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy transition) เหล่านี้ก็จะยิ่งส่งผลกระทบผ่านไปยังต้นทุนที่สูงขึ้น และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนเงินเฟ้อ

เมื่อมองปัจจัยทั้ง 3 ที่กล่าวมาแล้วนั้น เราจะเห็นว่า ในปี 2566 ทั่วโลก และประเทศไทยจะยังต้องเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้เป้าหมายของการคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ 1-3% นั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้คุมนโยบายการเงิน

ซึ่งปัญหาด้านเงินเฟ้อสูง ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องคอยจับตา และเตรียมวิธีรับมือ เพราะเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกคน ซึ่งมีวิธีรับมือที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อ และหลีกเลี่ยงการก่อหนี้เสีย

ที่มา : กนง , ธปท

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เงินเฟ้อ #สถานการณ์เงินเฟ้อไทย