ทางรอดของธุรกิจฟิตเนส หลังปิดฟ้าผ่า รับพิษ Covid-19

“ตอนนี้รายได้ของเราเป็นศูนย์ ไม่ต่างจากธุรกิจโรงแรม ถามว่า Next Normal จะเป็นอย่างไร…ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”


เมื่อกระแสคนรักสุขภาพที่โหยหาการออกกำลังกายในฟิตเนสต้องหยุดชะงัก เพราะวิกฤต Covid-19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ โจทย์สำคัญในเวลานี้ก็คือ ธุรกิจที่ได้รับความนิยมมหาศาลอย่างฟิตเนส จะปรับตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่รอด

ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ แทบทุกธุรกิจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจที่คนต้องอยู่ใกล้ชิดกัน และธุรกิจฟิตเนส คือหนึ่งในนั้น

จากธุรกิจที่เคยรุ่งเรือง คำถามคือ เกิดการปรับตัวอย่างไร หรือแม้แต่วันที่ธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างปกติ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อใด) ธุรกิจจะเหมือนเดิมหรือไม่?

Business+ สัมภาษณ์พิเศษ คุณอรวรรณ เกลียวปฏินนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท อีโวลูชั่น เวลล์เนสส์ (ประเทศไทย) จำกัด

“ภายใน 36 ชั่วโมง หลังคำประกาศ social distancing และปิดสาขาทั้งหมด ทีมก็เริ่มต้นคลาสฟิตเนสที่เรียกว่า for free เป็นคลาสออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Facebook Page ของเรา ซึ่งบน Fan page มีคนอยู่ประมาณ 270,000 คน ซึ่งทีมงานของเรา Brainstorm กันรวดเร็วมาก

 และการที่เราตกลงทำคลาสออนไลน์ขึ้นมา เพราะเรามี Expertise มากพอสมควร ทั้ง resource ในเรื่องของคน เวลา สถานที่ ดังนั้นการที่เราขยับมาเทรนนิ่งบนแพลตฟอร์มออนไลน์

 เราไม่สนใจเลยว่า เราจะได้เงินหรือไม่ได้เงิน เราถือว่าได้ใช้ศักยภาพทั้งหมดของทีมงาน เพื่อคุยและสื่อสารกับลูกค้าของเรา

คำกล่าวนี้ของอรวรรณ สะท้อนถึงการแก้ไข Crisis Management ของฟิตเนส เฟิร์สท ซึ่งเป็น Global Crisis ให้บริการใน 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ โดยวัตถุหลักคือต้องการ Engagement กับทุกคนที่อยู่ในภาวะวิกฤตเดียวกัน

เปิดสาย Health Check ใส่ใจ Member

ช่วงวิกฤตแบบนี้นี้ แน่นอนว่า การขาย Member ใหม่ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้ คือการรักษา Member ปัจจุบันไว้ให้ได้เยอะที่สุด ซึ่งในส่วนนี้ อรวรรณเผยว่า ถ้าเทียบอัตราส่วนสมาชิก 100% มีผู้แสดงความจำนงยกเลิกสมาชิกเพียง 1% ตัวเลขดังกล่าว จากที่เราเปิดสาย Health Check ถือเป็นสัญญาณที่ดีเกินคาด

“เรามีการ Call Visit ถามทุกข์สุขว่าเป็นอย่างไร มีอะไรให้ช่วยเหลือไหม แนะนำให้เขาดูออนไลน์ของเรา หรือเขามีคำถามเกี่ยวกับค่า Membership หรือเปล่า สอบถามความความช่วยเหลือจากเราว่า ต้องการสิ่งใดบ้าง เช่น เคย Train กับ Trainer ท่านใด ต้องการให้ Trainer ท่านั้นติดต่อกลับ เราจะประสานงานให้เขา โดยการ Visit call ไม่ได้ทำเพียงรอบเดียว เราทำตลอดเวลา ในขณะที่ Trainer แต่ละคนก็ต้องโทรหา Member ที่ซื้อ Program Personal Trainer กับตัวเองไว้”

กระบวนการ Health Check เป็นอีกหนึ่ง Protocol ที่ดำเนินต่อจากการเปิดคลาสออนไลน์ ซึ่งฟิตเนส เฟิร์สท มองว่า “เราจะไม่ทิ้งลูกค้า แม้วิกฤตการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นวิกฤตใหญ่เรื่องใหม่ที่ทุกภาคอุตสาหกรรม ต่างต้องหาทางรับมือเพื่อความอยู่รอด ซึ่งนอกจากการรับมือในช่วงวิกฤตแล้ว ผู้ประกอบการต้องเตรียมแผนการสำหรับหลังเหตุการณ์วิกฤตใหญ่ ผ่านการใช้กลยุทธ์หลักซึ่งก็คือ ‘บุคคลากร’ ของเราซึ่งเปรียบเสมือน Asset และที่ฟิตเนส เฟิร์สท เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบ People Business ถูกขับเคลื่อนด้วยคน

ดังนั้น ‘คน’ จึงเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญมาก และจากนี้เราพยายามจะเก็บรักษาทรัพยากรบุคคลให้ได้มากที่สุด เพราะธุรกิจฟิตเนสเป็นธุรกิจเฉพาะทาง เปรียบดั่งพนักงานเป็น Software โดยการเลิกจ้างพนักงานเป็นสิ่งที่ง่ายมาก แต่ให้ลองนึกถึงว่า วันที่คุณจะกลับมาเปิดให้บริการ แต่ไม่มีพนักงาน ธุรกิจก็จะเดินต่อไม่ได้

และเขาก็ไม่สมควรที่จะได้รับ Impact แบบรวดเร็ว ดังนั้นสิ่งที่เราทำคลาสออนไลน์ขึ้นมา ที่มียอดคนดูแต่ละครั้งพอสมควร ก็เป็นการสร้างความมั่นใจให้พนักงานได้ ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของทีมผู้บริหารที่ต้องทำให้ดีที่สุด ดูแลพนักงานให้ดีที่สุด”

 

ก้าวต่อไป หลังวิกฤตใหญ่ Covid-19

ปีที่แล้ว ฟิตเนส เฟิร์สท มีรายได้โต 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเมื่อช่วงต้นปีผู้บริหารประกาศวิสัยทัศน์ปี 2563 พร้อมคาดหมายว่า ปีนี้รายได้จะโต 11%

แต่สถานการณ์ตอนนี้อย่างที่อรวรรณบอกในตอนต้นว่า “ตอนนี้รายได้ของเราเป็นศูนย์” และเราถามว่า Next Normal จะเป็นอย่างไร ซึ่งเธอบอกว่า

“ธุรกิจจะเหมือนเดิมอีกต่อไป ในระยะสั้นหรือยาว เราก็ตอบไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเตรียมตัวก็คือ เราไม่คิดว่า เมื่อเปิดบริการแล้ว ธุรกิจนี้จะเหมือนเดิมเหมือนวันที่ไม่มี Covid-19

สิ่งที่เราเห็นคือ หลังการคลายมาตรการต่างๆ เรายังต้องทำ Social Distancing เหมือนเดิม เน้นเรื่องของการทำความสะอาดที่คิดว่าจะต้องทำเหมือนกับตอนที่ก่อนปิดบริการ และถ้า Trainer ออกไปต่างจังหวัด คุณต้องกักตัว 14 วันก่อนที่จะเข้าทำงาน โดยเรื่องเหล่านี้ยังต้องมี

สำหรับมิติของการเปิดสาขา เราอาจจะมีมาตรการให้สมาชิกเข้าสถานที่บริการแบบกลุ่มเพียง 30% จากที่เคยเป็นปกติ

และยังต้องพิจารณาในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การเข้า Check in การจองคลาสล่วงหน้า โดยทุกมาตรการจะเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก”

ธุรกิจฟิตเนสหลังจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีอยู่ไหม?

จากสถานการณ์บังคับให้คนต้งองออกกำลังกายที่บ้าน เมื่อคนเหล่านั้นบางกลุ่มเกิดความเคยชิน คนกลุ่มนี้จะเลือกออกกำลังกายเองต่อไป เพราะคิดว่าทำเองได้แล้ว และไม่ต้องเสียเงินโดยใช่เหตุ ทำให้ฟิตเนสต้องเสียกลุ่มคนกลุ่มนี้ไปอย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ฟิตเนสต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อจะดึงกลุ่มคนกลุ่มนี้กลับมา

ทั้งหมดคือ สิ่งที่เราพยายามหาคำตอบว่า Next Normal สำหรับธุรกิจฟิตเนสหลังจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีอยู่ไหม ?

คำตอบที่เราฟังจากผู้บริหารท่านนี้ ก็พบว่า

ฟิตเนสไม่ใช่เพียงสถานที่ออกกำลังกายเท่านั้น แต่จัดเป็น Third Place แห่งหนึ่ง และมนุษย์ก็เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นการที่ต้องกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลานาน ซึ่งเมื่อถึงเวลาได้เข้าสังคมอีกครั้ง ได้กลับไปยังที่ที่เป็นศูนย์รวมของคนที่มีความชอบเหมือนกัน คนกลุ่มนี้ก็เลือกที่จะกลับมาเหมือนเดิม นอกจากเรื่องของการเข้าสังคม ยังมีเรื่องของชุดความคิดที่ว่า ‘การออกกำลังกายที่ฟิตเนสทำให้เกิดวินัยมากกว่าการออกกำลังกายอยู่ที่บ้านคนเดียว’

คำตอบของธุรกิจนี้จึงยังจำเป็นต้องมีอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่รูปแบบการเข้าใช้บริการจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ดังที่ ‘อรวรรณ’ ทิ้งท้ายว่า

“วันที่ฟิตเนสกลับมาเปิด จะไม่มีทางครบยี่ห้อแน่นอน ผู้ที่แข็งแรงเท่านั้นจึงจะเป็นผู้รอดชีวิตในวิกฤตครั้งนี้”