เจาะตลาด FinTech ในญี่ปุ่น เผยสัมพันธ์ “ไทย-ญี่ปุ่น” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยีระดับโลก และยิ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างมากเมื่อพูดถึงความก้าวหน้าด้าน FinTech

คุณทาเคชิ คิโต้ อุปนายกสมาคม FinTech ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ภาพรวมมูลค่าตลาด FinTech ของประเทศญี่ปุ่นในช่วง ที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างมั่นคง และได้ถูกคาดการณ์ว่าช่วงปี 2017-2022 อัตราการเติบโตของตลาด FinTech เฉลี่ยสูงถึง 51% ต่อปี

ด้านเม็ดเงินจากการลงทุนผ่าน Venture Capital (VC) ในบริษัท Startup ด้าน FinTech ของประเทศญี่ปุ่นปี 2020 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 526 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 511 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 ทั้งนี้ Startup ด้าน FinTech ของญี่ปุ่นถือว่าได้รับความนิยมจาก Venture Capital ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งบริษัท Venture Capital ระดับโลกอย่าง “Sequoia Capital” เองก็เข้าลงทุนในตลาดญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

คุณทาเคชิ กล่าวว่า สมาคม FinTech ของประเทศญี่ปุ่นเปรียบเสมือนการรวมตัวของอุตสาหกรรม FinTech จากหลากหลายสาขาไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกรรมชำระเงิน ประกันภัย ตลาดทุน เงินกู้ บล็อกเชน รวมไปถึงสถาบันทางการเงิน และ FinTech ในแวดวงธุรกิจอื่น เช่น โทรคมนาคม บริษัทการค้า อสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงธุรกิจด้านสื่อ

ภายในสมาคมจะมีคณะอนุกรรมการหลากหลายสาขาที่จะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบเจาะลึกในแต่ละสาขา นอกจากนี้สมาคมฯ ยังได้สร้างมีความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐ ตลอดจนกระทรวงและหน่วยงานส่วนกลาง ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมไปถึงการจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับ FinTech จากผู้บรรยายที่มีความเชี่ยวชาญ และมีการจัดพื้นที่สำหรับการนำเสนอให้แก่บริษัทและนักลงทุน เพื่อให้เกิดการลงทุนร่วมกัน (Startup Pitch)

ทั้งนี้ FinTech ประเภท Digital Banking ถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนการชำระเงินด้วย Digital Banking สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการชำระเงินด้วยเงินสด ขณะที่ FinTech ประเภท BNPL (Buy Now Pay Later) และประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypt/Digital Asset) ก็เป็นอีกหนึ่งตลาดขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา FinTech ประเภทสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ (Supply Chain Finance) เป็นอีกประเภทที่ถูกให้ความสำคัญ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมาก แต่โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงต้องมุ่งช่วยเหลือ SMEs ด้วยการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทาน กลายเป็นสาเหตุที่ FinTech ประเภทนี้ถูกพัฒนาขึ้น

ขณะที่ผลจากการตรวจสอบของคณะทํางานเฉพาะกิจพบข้อมูลว่าในปี 2019 มาตรการตรวจสอบเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ของญี่ปุ่นนั้น ในแง่ของระบบตรวจสอบยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงต้องพัฒนาระบบ KYC รวมถึง AML/CFT ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเมื่อธุรกรรมดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้น จึงนำมาสู่การหลอกลวงทางไซเบอร์หรือการฉ้อโกงเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น FinTech ประเภทการตรวจจับการฉ้อโกง หรือ Fraud Detection จึงเป็นอีกตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงเช่นกัน

ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น ปัจจุบันสมาคม FinTech ญี่ปุ่นได้มีการทำสัญญาพันธมิตรกับประเทศและกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ถึง 32 คู่สัญญา ซึ่งประเทศไทยถือเป็นคู่สัญญาลำดับที่ 5 ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสมาคม FinTech และปัจจุบันสมาคมฯ ยังเดินหน้าสร้างความร่วมมือด้าน FinTech กับประเทศและภูมิภาคอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง

สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นในการพัฒนา FinTech นั้น คุณทาเคชิ กล่าวว่า เราจะต้องทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ เริ่มจากการสร้างระบบนิเวศ Open API (Application Programming Interface) ให้แน่นหนา และพัฒนาความสามารถในการสื่อสารระหว่างระบบที่จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามพรมแดน รวมไปถึงพัฒนาการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งจะต้องมีกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นตามมา ดังนั้นจึงต้องอาศัยการประสานงานกันเพื่อให้กฎระเบียบเหล่านั้นเป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้ยังต้องสร้างความร่วมมือในการทำ Sandboxes ระหว่างประเทศร่วมกัน เช่น สาธิตการติดต่อสื่อสารแบบไร้พรมแดนระหว่างประเทศ โดยข้อมูลที่ได้มาจากการทดลองจะถูกนำมาแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาต่อไป

สำหรับในภาคเอกชน หากมีพันธมิตรหรือการจับคู่ธุรกิจที่ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถดำเนินการชำระบัญชีข้ามพรมแดน และทำธุรกรรมทางการเงินข้ามพรมแดนได้สำเร็จจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้ ซึ่งญี่ปุ่นและไทยเองถือเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานทางด้านอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้น จึงควรผลักดันให้นำ FinTech มาใช้ โดยเฉพาะ FinTech ด้านสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุน SMEs ทั้งในญี่ปุ่นและประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

หากสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับ FinTech ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นและไทย สามารถอ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่ ICHI Website : https://bit.ly/3sLsVvf