หงายการ์ดป้องกันเม็ดเงินไหลออก!! ทั่วโลกจับตาประชุมเฟด 14-15 ธ.ค.นี้ เชื่อลด QE จ่อขึ้นดอกเบี้ย 2 รอบสกัดเงินเฟ้อ

ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์ต่างให้ความสำคัญไปที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) รวมไปจนถึงการลดวงเงิน Quantitative Easing (QE) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เริ่มประชุมกันในวันที่ 14-15 ธ.ค.2564

สาเหตุเป็นเพราะตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น (ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุมาจากราคาพลังงาน และราคารถยนต์ใหม่รถมือสองและรถบรรทุกที่พุ่งสูง) ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของคนในประเทศ จึงต้องใช้นโนบายทางการเงิน อย่างการขึ้นดอกเบี้ยเป็นตัวสกัดเอาไว้

และเมื่อ FED ขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ในแง่ของเม็ดเงินไหลออกจากประเทศเล็ก เพื่อหาผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า โดยเฉพาะหากประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ยนั้นเป็นประเทศมหาอำนาจ

ซึ่งปกติแล้วประเทศเล็กจะรับมือด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม เพื่อดึงดูดให้เม็ดเงินไหลออกน้อยลง แต่การขึ้นดอกเบี้ยนั้น สำหรับประเทศที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว จะกลายเป็นดาปที่ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจในประเทศ (ต้นทุนกู้ยืมสูงขึ้น เอกชนลงทุนน้อยลง ซ้ำเติมตัวเลข GDP)

สำหรับมุมมองนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไปในทางเดียวกันว่า FED จะลดวงเงิน QE ราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน พร้อมขึ้นอัตราดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปี 2022 โดย ‘Business+’ รวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์สายการเงินมาให้ ดังนี้

‘บล. คันทรี่ กรุ๊ป’ ให้ความเห็นว่า วันศุกร์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือน พ.ย. +6.8% จากปีก่อนหน้า และ +0.8% จากเดือนก่อนหน้า ส่วน Core CPI +4.9% จากปีก่อนหน้า +0.5% จากเดือนก่อนหน้า

เงินเฟ้อทั่วไปหลัก ๆ แล้วยังเป็นผลจากราคาพลังงาน +33% จากปีก่อนหน้า, น้ำมันเบนซิน +58% จากปีก่อนหน้า ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงาน) มาจากราคารถยนต์ใหม่รถมือสองและรถบรรทุก อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 2 และ 10 ปีเริ่มปรับตัวลง บ่งชี้ว่าตลาดค่อนข้างผ่อนคลายมากขึ้นกับเรื่องของเงินเฟ้อ

แต่สัปดาห์นี้ปัจจัยหลัก ๆ จะเป็นการประชุม FED ในวันที่ 14-15 ธ.ค.2564 ซึ่งค่อนข้างมีความสำคัญเนื่องจากจะเป็นการประชุมที่เปิดเผยทั้งแนวโน้มดอกเบี้ยในระยะถัดไป ตัวเลขเศรษฐกิจ รวมถึงการลดวงเงิน QE ข้อมูลล่าสุดจากประธาน FED เริ่มเผยถึงแนวโน้มที่อาจจะลดวงเงิน QE มากกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

ขณะเดียวกันหากนำข้อมูลจาก ‘Bloomberg Consensus’ มาพิจารณาความเห็นของนักลงทุนต่อทิศทางดอกเบี้ยจะพบว่าตลาดคาดว่าในปี 2022 ทาง FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไป (headline CPI) ของสหรัฐฯ แตะระดับ 6.2% สูงกว่าที่ Bloomberg Consensus ได้คาดการณ์ที่ 5.9%

และหากผลประชุมมีมติลดวงเงิน QE ที่สูงกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐและมีแผนจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีหน้า หรือมีการส่งสัญญาณที่เข้มงวดกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกได้

ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ให้ความเห็นว่า โฟกัสหลักของสัปดาห์นี้อยู่ที่การประชุมธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะ FED ที่คาดการณ์ว่าจะเร่งลด QE เป็น U$3 หมื่นล้านต่อเดือนและ Dot Plot แสดงมุมมองขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นในปี 2022

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยประเมินได้จากอะไรบ้าง? การประเมินนั้น ดูหลายเงื่อนไขประกอบกัน ทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ภาวะเงินเฟ้อ รวมไปถึงการสำรวจจากความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับการปรับนโยบาย

หนึ่งในนั้นคือเครื่องมือ Fed’s dot plot โดย ‘Business+’ จะอธิบาย Fed’s dot plot ให้ฟังง่าย ๆ ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับประมาณการ และแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed โดยเก็บข้อมูลจากการสำรวจความเห็นเป็นแผนภาพ ซึ่งจะแสดงการประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผู้แทน Fed คิดว่าควรจะเป็นในอนาคต และถูกจัดทำพร้อมเผยแพร่รายไตรมาส

จะเห็นได้ว่า FED มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายทางการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐของประเทศเล็กที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวทำได้เพื่อรับมือกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED คือการใช้นโยบายการคลังเข้าช่วย ทั้งการลดภาษี กระตุ้นการลงทุน ควบคู่ไปกับการเพิ่มเสถียรภาพของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศไหลออกน้อยลง ในภาวะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามประเทศใหญ่อาจจะยังไม่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

หากใครอยากอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกของนโยบายทางการเงินของประเทศใหญ่ ว่า จะส่งผลต่อประเทศเล็กอย่างไทยแบบไหนบ้าง รวมไปถึงวิธีรับมือ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดที่ ‘Business+’ ได้เคยเขียนเอาไว้ในคอนเทนต์นี้ได้เลย

https://www.facebook.com/businessplusonline/photos/a.364233346979241/4373939219341947

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : ฟินันเซีย ไซรัส ,คันทรี่ กรุ๊ป

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เศรษฐกิจ #สหรัฐฯ #นโยบายการเงิน #QE #อัตราดอกเบี้ย