FED

FED จะทำอย่างไร? เมื่อเสถียรภาพทางการเงินโลกถดถอย เงินเฟ้ออาจกลายเป็นปัญหาระยะกลาง

หลังจากเกิดเหตุการณ์ Bank Run กับธนาคารในสหรัฐฯ อย่าง Silicon Valley Bank ไล่ลามไปยังธนาคารอื่น ๆ อย่าง Signature Bank และ Silvergate Bank ด้วยระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ ผลกระทบนี้ก็ลุกลามไปถึงธนาคารในอย่าง ‘Credit Suisse’ ที่ทรงอิทธิพลอันดับต้น ๆ ต่อระบบการเงินโลก (ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์) ซึ่งผลกระทบที่ลุกลามข้ามทวีปนี้ เกิดจากการเชื่อมโยงทั้งลูกค้า และเงินทุนจำนวนมากระหว่างยุโรป สหรัฐ และภูมิภาคอื่น ๆ ดังนั้น การล้มละลายของธนาคารใหญ่ ๆ เพียงไม่กี่รายก็จะกลายเป็นโดมิโน่ และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของทั่วโลก เพราะเงินกู้ เงินทุน ในโลกเชื่อมโยงกันทั้งหมด

แม้ล่าสุด ธนาคารกลางสวิส จะประกาศให้ความช่วยเหลือด้วยการให้เงินกู้กับ Credit Suisse สูงถึง 54,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ราว 2 ล้านล้านบาท แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การล่มสลายของธนาคารยักษ์ใหญ่ได้ทำให้ความเชื่อมั่นของลูกค้าของลูกค้าที่มีต่อธนาคารทุกแห่งลดลง โดยเฉพาะลูกค้าเงินฝากรายใหญ่ เพราะไม่สามารถไว้ใจได้ว่าเงินทุกบาทที่ฝากไว้กับธนาคารจะได้รับคืน (ธนาคารแต่ละประเทศจะมีการคุ้มครองเงินฝากในจำนวนที่แตกต่างกัน)

ทาง ‘Business+’ จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนกับกรณีของประเทศไทย ซึ่ง ‘สถาบันคุ้มครองเงินฝาก’ ได้กำหนดว่า หากสถาบันการเงินในประเทศไทยล้มละลาย หรือปิดกิจการ ผู้ฝากเงินกับธนาคารจะได้รับคืนเงินฝากทันทีเพียง 1 ล้านบาท ส่วนเงินที่เหลือเกินจาก 1 ล้านบาทนั้น จะต้องรอการชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งจะได้รับคืนตามลำดับการชำระคืนเจ้าหนี้ตามกฎหมาย เท่ากับว่า เงินที่เราฝากไว้หากเกิน 1 ล้านบาท ต้องไปลุ้นหลังธนาคารขายสินทรัพย์และชำระบัญชีให้เสร็จก่อนว่าจะได้รับคืนหรือไม่ ซึ่งจุดนี้เองที่อาจทำให้เกิดเหตุการณ์แห่ถอนเงิน หรือ ที่เรียกว่า Bank Run ขึ้นกับธนาคารอื่น ๆ ตามมา

ขณะที่ผลกระทบอีกด้าน นอกจากตลาดการเงินโลกจะขาดเสถียรภาพแล้ว ยังมีผลกระทบกับตลาดทุน ซึ่งเราได้เห็นว่าภายในระยะ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นธนาคารทั่วโลก (ไม่เว้นแม้กระทั่งไทย) รวมไปถึงหุ้นของบริษัทฯ ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารได้ถูกเทขายอย่างหนักจากความกังวลเรื่องแหล่งเงินทุน และความมั่นคงของบริษัทฯ ซึ่งการที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงนี้จะส่งผลต่อมูลค่าบริษัทเหล่านี้โดยตรง

และเมื่อพูดถึงแนวโน้มของธุรกิจธนาคารทั่วโลกแล้วนั้น ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก พราะอย่างที่เรารู้กันว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการล่มสลายของธนาคาร Silicon Valley Bank คือ การขาดทุนจำนวนมาก เพราะหลังจากธนาคารถูกลูกค้าถอนเงินฝากจนขาดสภาพคล่อง ธนาคารจำเป็นต้องเทขายสินทรัพย์ที่ไปลงทุนไว้มาเพิ่มสภาพคล่อง โดย Silicon Valley Bank ลงทุนในพันธบัตรจำนวนมาก แต่การขายพันธบัตรจะไม่เกิดปัญหาหากขายในราคาที่ไม่ได้ต่ำกว่าราคาตั้งต้นมากนัก แต่ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูง ก็ทำให้ราคาพันธบัตรต่ำลง ดังนั้น Silicon Valley Bank จึงต้องตัดขายพันธบัตรแบบขาดทุน (มูลค่าต่ำกว่าราคาตั้งต้น)

ดังนั้น ในประเด็นต่อไปที่เราต้องจับตาคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เพราะยิ่งปรับขึ้นดอกเบี้ยรวดเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลให้ราคาพันธบัตรต่ำลงไปอีก ซึ่ง FED จะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 21-22 มีนาคมนี้

โดยจากสำรวจของ ‘Business+’ เราพบว่า ก่อนหน้านี้ FED ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 8 ครั้งติดต่อกัน และมีการคาดการณ์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน กุมภาพันธ์ ยังค่อนข้างสูง อยู่ที่ 6% โดยก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์จึงมองว่า FED จะยังขึ้นดอกเบี้ยด้วยอัตราเร่ง คือ 0.50% อย่างไรก็ตามเมื่อธนาคารเกิดวิกฤต Bank run ก็ทำให้คาดการณ์นี้ถูกเปลี่ยนแปลง โดยสถาบันการเงินหลายแห่งมองว่า FED อาจจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หรือบางแห่งมองว่าอาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินสหรัฐเอาไว้ก่อน

หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงรอบนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดเงินทั่วโลก?

อย่างที่ ‘Business+’ ได้เคยพูดถึงผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ FED จะไปกระทบต่อธนาคารที่การลงทุนกับพันธบัตรที่มีอายุยาวนานจำนวนมาก เพราะราคาของพันธบัตรจะสวนทางกับอัตราดอกเบี้ย หาก FED ขึ้นดอกเบี้ยก็จะยิ่งกดให้ราคาพันธบัตรชุดเก่าลดลง ดังนั้นถ้า FED ยังคงขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ก็จะยิ่งทำให้พอร์ตของธนาคารที่ลงทุนหนักไปกับพันธบัตรจะยิ่งสูญเสียมูลค่าลงอย่างมาก และถ้าธนาคารนั้น ถูกลูกค้าถอนเงินฝากออกไปจำนวนมากจนขาดสภาพคล่องก็จะถูกบังคับให้ต้องขายพันธบัตรในราคาที่ต่ำกว่าราคาตั้งต้น (ขายขาดทุน) ซึ่งประเด็นนี้ คงต้องติดตามในการประชุม FED ในสัปดาห์หน้าว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณอย่างไร?

แต่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์หลายรายมองว่า FED อาจจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวในการประชุมสัปดาห์หน้า แต่บางส่วนก็มองว่าจะปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่อาจจะลดลงจากคาดการณ์เดิมคือ 0.50% เหลือ 0.25%

ซึ่งทาง Goldman Sachs ธนาคารเพื่อการลงทุนรายใหญ่ของโลก คาดการณ์ว่าจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า แม้ว่าทางการสหรัฐได้เคลื่อนไหวเข้าควบคุมและจำกัดวงผลกระทบจากวิกฤตของ Silicon Valley Bank , Signature Bank และ Silvergate Bank แล้ว ขณะที่ ‘โจ ไบเดน’ ก็ได้ออกมาแถลงว่า “ชาวอเมริกันสามารถมั่นใจได้ว่าระบบธนาคารปลอดภัย” แต่ Goldman Sachs คิดว่า FED น่าจะให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการเงินเป็นอันดับแรก โดยมองว่ามันเป็นปัญหาระยะเร่งด่วน ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นปัญหาระยะกลาง

มาดูความเห็นที่สวนทางกันบ้าง โดยทาง Bank of America และ Citigroup เป็น 2 ธนาคารที่มองว่า FED จะยังขึ้นดอกเบี้ แต่จะขึ้น 0.25% และตามด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้ง โดยนักเศรษฐศาสตร์ของ Citigroup กล่าวว่า หาก FED หยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวในตอนนี้ จะทำให้สาธารณชนคิดว่า การแก้ปัญหาเงินเฟ้อของ FED จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อยังไม่ถึงจุดที่เกิดความไม่แน่นอนในตลาดเงินหรือภาคเศรษฐกิจเท่านั้น กล่าวคือจะเป็นการทำให้คนคิดว่าถ้าเมื่อไหร่ที่เกิดความไม่แน่นอนขึ้น เฟดก็จะเลิกแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้สาธารณชนไม่เชื่อในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐในครั้งต่อ ๆ ไป

ซึ่งประเด็นนี้ ‘Business+’ มองว่าเป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกต่างจับตาภายในสัปดาห์หน้า เพราะขณะนี้ผู้กุมนโบายการเงินของสหรัฐฯ กำลังเจอปัญหาที่ท้าทายอย่างมาก และจำเป็นต้องเลือกระหว่างการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้เงินเฟ้อต่อไป กับการรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงิน ซึ่งไม่ว่า FED จะเลือกทางไหนก็จะมีผลกระทบตามมาทั้งคู่ เพียงแต่ต้องเลือกทางที่จะทำให้เกิดผลกระทบกับวงกว้างน้อยที่สุดเท่านั้น และอย่างที่เรารู้กันดีว่าสำหรับกลุ่มธนาคารแล้ว ความน่าเชื่อถือควรมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนเรื่องของเงินเฟ้อนั้น เป็นประเด็นที่ยืดเยื้อมานาน และขณะนี้ราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในขาลง (ราคาน้ำมันดิบ WTI ต่ำสุดนับแต่ปลายปี 64) เราจึงมองว่า FED อาจจะให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพตลาดการเงินเอาไว้ก่อน

หากใครอยากอ่านจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของ Silicon Valley Bank สามารถอ่านได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/silicon-valley/

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
#Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #ตลาดเงิน #ตลาดทุน #ตราสารหนี้ #ตราสารทุน #SiliconValleyBank