Silicon

เปิดข้อมูลสำคัญ ‘Silicon Valley’ ที่จะทำให้เกิดโดมิโน่กับตลาดการเงินโลก

ประเด็นการปิดกิจการของ Silicon Valley Bank กลายเป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกกังวล และอาจเป็นผลกระทบเป็นวงกว้าง สาเหตุเป็นเพราะว่าธนาคารแห่งนี้เป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับ 16 ของสหรัฐ ด้วยสินทรัพย์ 209,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 6,897,000 ล้านบาท หากให้เปรียบเทียบว่าใหญ่ขนาดไหนนั้น เมื่อลองนำมาเทียบกับธนาคารในประเทศไทยที่สินทรัพย์มากที่สุดในขณะนี้คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จะมีสินทรัพย์ 4,421,752 ล้านบาท (ต่ำกว่าถึง 2,475,248 ล้านบาท) โดย Silicon Valley Bank เน้นให้เงินกู้กับลูกค้าในกลุ่ม Tech Start Up และกองทุน Venture Capital

โดยต้นเหตุที่ทำให้ถูกสั่งปิดการเริ่มจากความเชื่อมั่นในตลาดซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีที่ลดน้อยลง หลังราคาบิทคอยด์ดิ่งลงมาอย่างมาก จนทำให้เหรียญอื่น ๆ ถูกเทขายตามจนต้องปิดตัวไป และผลกระทบนี้ไปเกิดขึ้นอย่างหนักกับแพลตฟอร์มที่เปิดให้ทำการซื้อขายคริปโตฯ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือลูกค้ารายใหญ่ของ Silicon Valley Bank อย่าง FTX แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี ที่ได้ประกาศล้มละลายเมื่อปลายปี 2022

นอกจากนี้ด้วยความที่ Silicon Valley Bank มีลูกค้าเป็นกลุ่ม Tech Start Up เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมากลุ่มเหล่านี้มีปัญหาเรื่องการเติบโตที่ช้าลง หรือบางรายอาจประสบปัญหาทำกำไรไม่ได้ จนต้องใช้เงินสดประคองธุรกิจด้วยเงินสดของบริษัท หรือเรียกว่า Cash Burn ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับธนาคารคือ ลูกค้ากลุ่มนี้แห่ถอนเงินที่มีอยู่ออกมาเป็นจำนวนมาก

และเมื่อธนาคารเผชิญกับสภาพคล่องที่ลดลงนี้ จึงต้องทำการเสริมสภาพคล่อง ด้วยการเปลี่ยนสินทรัพย์ในพอร์ตเป็นเงินสด หนึ่งในนั้นคือการขายพันธบัตรัฐบาลสหรัฐ โดย Silicon Valley Bank ต้องขายพันธบัตรในราคาที่ขาดทุนตามราคาพันธบัตรที่ลดลงในช่วงดอกเบี้ยสูง เพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่าขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ในระดับสูง ซึ่งราคาพันธบัตรจะสวนทางกับอัตราดอกเบี้ย  (ทำให้พันธบัตรถูกขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตั้งต้น เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้เพิ่มขึ้น)

และการขายขาดทุนพันธบัตรรัฐบาลได้ทำให้ Silicon Valley Bank ประสบกับผลขาดทุนสุทธิอย่างหนัก จนต้องขอทำการเพิ่มทุนเพื่อต้องการเงินมาล้างขาดทุนที่เกิดขึ้น และเรื่องก็มาแดงตรงนี้ เพราะเมื่อประกาศข่าวออกมาก็ก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อธนาคาร จนเกิดเหตุการณ์เร่งถอนเงินออกจากบัญชีจากลูกค้ากลุ่มอื่นด้วย ซึ่งการที่ลูกค้าแห่ถอนเงินออกอย่างรวดเร็วภายในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้ธนาคารไม่มีเงินสดหมุนเวียนไม่เพียงพอ หรือที่เรียกกันว่า Bank Run จนนำมาสู่การสั่งปิดกิจการ

อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า การปิดกิจการนี้ ไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่เราคุ้นเคยกันอย่างเช่น หนี้เสีย (NPL) ที่สูงเกินไป โดย NPL / Total Loan ของ Silicon Valley Bank ต่ำเพียง 0.18% เทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยมี NPL / Total loan ที่ 3.5% ซึ่งการปิดการครั้งนี้เกิดจากปัญหาการจัดการเงินทุนหมุนเวียนภายใน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิด นั่นคือลูกค้าถอดเงินจำนวนมากจนขาดสภาพคล่อง (เพราะธนาคารจะนำเงินฝากของลูกค้า ไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น ตราสารต่างๆ ที่ได้ผลตอบแทนสูงเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้ตัวเอง และจ่ายเป็นอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าเงินฝาก)

โดยข้อมูลที่สำคัญของ Silicon Valley Bank มีดังนี้

 

Silicon
มาดูความเห็นของนักวิเคราะห์กันบ้าง บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) หรือ “Pi” วิเคราะห์ว่า กรณี Silicon Valley สาเหตุหลักๆเกิดจากการขาดแคลนสภาพคล่องเนื่องจากเจ้าหนี้มีการระดมเงินฝากน้อยลงโดยงบดุลไตรมาส 4/2565 ของ SVB พบว่าปริมาณเงินฝากเริ่มชะลอตัวลง ในขณะเดียวกันเจ้าหนี้ส่วนใหญ่แล้วกว่า 50% อยู่ใน Tech , Start Upโดยทาง The Kobeissi Letter ระบุในทวิตเตอร์ว่า 3 อันดับแรกที่ฝากเงินไว้ใน SVB ได้แก่ Circle (3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) , Roku (487 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) BlockFi (227 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยหนึ่งในลูกค้า 3 อันดับแรกอย่าง Roku ขาดทุน 237 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงไตรมาส 4/2565  จึงพอจะสรุปได้เบื้องต้นว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ยังเป็น Tech ที่ไม่สร้างกำไรและประสบภาวะ Burn Cash ไปเรื่อยๆการระดมเงินฝากไปยัง SVB จึงน้อยลง

ข้อมูลล่าสุดเรายังประเมินว่าผลกระทบไม่น่ารุนแรงแต่ที่ต้องติดตามจากนี้ได้แก่

1) ธนาคารอื่นๆเผชิญการถอนเงินจากกลุ่มเจ้าหนี้หรือไม่และธนาคารอื่นๆจะต้องขายตราสารหนี้ออกมาคล้ายกับ SVB หรือไม่
2) การประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม Start Up จะกระทบเป็นวงกว้างเพียงใด
ที่มา : Pi , BBC
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #ตลาดเงิน #ตลาดทุน #ตราสารหนี้ #ตราสารทุน #Silicon Valley Bank