Export

ส่งออกไทยจะไปยังไงต่อ? เมื่อคู่ค้าสำคัญอาจหดตัวทุกตลาด

การส่งออกของไทยในปี 2565 ทุบสถิติด้วยมูลค่าที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และคิดเป็นการเติบโต 5.5% จากปีก่อนหน้า แต่หากเราเจาะเข้าไปดูตลาดคู่ค้าที่สำคัญของไทย จะเห็นว่าคู่ค้าหลักของเรา ทั้งสหรัฐ , จีน , ญี่ปุ่น และอาเซียนหดตัวลงทั้งหมด โดยเฉพาะจีนที่หดตัวลงไปถึง 7.7% ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการอ่อนแรงของกำลังซื้อของจีนที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะการคุมเข้มของมาตรการควบคุม COVID-19 ตลอดทั้งปี 2565

แต่การส่งออกไปตลาดหลักในปี 2565 ที่หดตัวนั้น สวนทางกับการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ โดยเฉพาะตลาดรอง ซึ่งถือว่ามีการเติบโตค่อนข้างดี โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกกลางอย่าง ซาอุดิอาระเบียที่ยังคงเติบโตแข็งแกร่ง โดยทั้งปีไทยได้ส่งออกไปยังตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นถึง 22.8% และยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อในปี 2566 จากการสนับสนุนของภาครัฐ โดยช่วงที่ผ่านมา (่ม.ค.-เม.ย.2566) มีข้อมูลด้านการส่งออกที่น่าสนใจดังนี้

ส่งออกไทย

จะเห็นได้ว่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 ภาคการส่งออกยังเป็นไปในทิศทางที่น่าเป็นห่วง เพราะ 5 ตลาดที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยนั้น ส่วนใหญ่ยังมีมูลค่าที่หดตัว โดยในปี 2566 ทาง ‘Business+’ มองว่ามีปัจจัยทางลบที่เป็นแรงเสียดทานต่อการส่งออกไทยหลายปัจจัย ได้แก่

1. เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งจะกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่เป็นตลาดหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐที่มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำเพียง 0.5-1% หรือสหภาพยุโรปที่อาจจะทรงตัว หรือขยายตัวได้เพียง 0.5% และตลาดญี่ปุ่นคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 1.6% รวมไปถึง เวียดนาม และมาเลเซีย ที่เศรษฐกิจในไตรมาส 1/2566 เริ่มชะลอความร้อนแรงลง โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาเตือนว่า ความเปราะบางของระบบการเงินจะทำให้เกิดวิกฤตครั้งใหม่ ซึ่งจะฉุดเศรษฐกิจโลกในปีนี้อ่อนแอลงไปอีก

2. มีการประเมินว่าในช่วงไตรมาส 1/2566 ประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทยยังคงมีสต๊อกสินค้าอยู่จำนวนมาก ซึ่งการสต๊อกสินค้าเอาไว้มากนี้จะทำให้ยอดการสั่งซื้อจากไทยลดน้อยลง (นำเข้าน้อยลง) ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

3. ราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งประเด็นนี้จะกระทบไปสู่อัตราค่าไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญสำหรับภาคการผลิต ดังนั้น ต้นทุนการผลิตสินค้าไทยที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยเพิ่มตาม และส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ต้นทุนการผลิตอาจจะสูสีกับไทย

4.ค่าเงินบาทที่มีความผันผวนสูง ตามการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งหาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วก็จะทำให้เงินทุนไหลออกจากไทยเร็วตาม ค่าเงินไทยก็จะผันผวนสูง และการผันผวนของค่าเงินบาทก็จะทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยากขึ้น

ขณะที่เมื่อเราเจาะเข้าไปยังข้อมูลการส่งออกล่าสุดช่วงเดือน มกราคม-เมษายน 2566 เราจะเห็นว่า 5 ตลาดหลักที่ไทยส่งออกไปมากที่สุดยังคงมีทิศทางที่ไม่สดใส โดยประเทศที่ไทยส่งออกไป 3 จาก 5 ประเทศคู่ค้ามีมูลค่าที่ลดลง

โดยเวียดนามเป็นประเทศที่เราได้เห็นการหดตัวมากที่สุดใน 5  ประเทศ ซึ่งสาเหตุเกิดจากเศรษฐกิจในเวียดนามที่ชะลอตัวลงหลังจากร้อนแรงในปี 2565 โดยตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 1/66 ของเวียดนามเติบโตต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาสย้อนหลังจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นทั่วโลก ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนามที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก

ขณะที่คู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยอย่างมาเลเซีย ก็เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวไม่ต่างกัน โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจมาเลเซียปี 2566 ชะลอตัว เพราะเศรษฐกิจของมาเลเซียเผชิญกับความเสี่ยงขาลจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา และการชะลอตัวของอุปสงค์จากจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ขณะที่สหรัฐฯ ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยก็ยังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งกดกำลังซื้อในประเทศเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าการส่งออกในปี 2566 ไทยเราจะพึ่งพาเพียงการฟื้นตัวของตลาดหลักไม่ได้อีกต่อไป โดยภาครัฐต้องหาโอกาสการขยายตลาดใหม่ ๆ ประกอบกับต้องให้ความสำคัญกับ 4 ประเด็นที่สำคัญ นั่นคือ            

1. รื้อฟื้นการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้ไทยได้เปรียบในการส่งออกที่สูงขึ้น เพราะสหภาพยุโรปก็เป็นในทวีปที่มีกำลังซื้อสูง และเป็นตลาดที่สำคัญของไทย

2. สนับสนุนสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดโลก โดยสินค้าด้านเกษตรของไทยยังไม่สามารถส่งออกไปสู่ตลาดโลกได้มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะสินค้าจากธุรกิจขนาดเล็กที่อาจจะมีเงินทุน และความเชี่ยวชาญที่ไม่เพียงพอ

3. ผลักดันภาคการส่งออกอาหาร รับความต้องการความมั่นคงด้านอาหารของตลาดโลก ซึ่งถึงแม้ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับเศรษฐกิจที่หหดตัวลงก็ตาม แต่ความมั่นคงด้านอาหารกลายเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ยังเกิดสงคราม และวิกฤตเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้หลายประเทศเริ่มกักตุนอาหาร เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศ

4. เพิ่มศักยภาพตลาดรองที่มีโอกาสเติบโตสูง เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดเอเชียใต้ และตลาด CLMV โดยตลาดเหล่านี้แม้จะยังมีมูลค่าที่ไม่มากนักในปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูงอย่างมาก

นอกจากทั้ง 4 ข้อแล้ว ที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ส่งออกคือการติดตามนโยบายทางการค้ากับประเทศต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศให้ความสำคัญและคุมเข้มกับสินค้าที่ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีพลาสติก หรือภาษีคาร์บอน ซึ่งหากต้องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศใด ก็ต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ของประเทศนั้นๆ และวางแผนบริหารจัดการต้นทุน นอกจากนี้ยังต้องเกาะติดค่าเงินเพื่อทำความเสี่ยงเอาไว้ล่วงหน้า เพราะ 2 ปัจจัยนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในเชิงแข่งขันในเวทีโลกนั่นเอง

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #ภาคการส่งออก #ส่งออกไทย #นำเข้า #ค่าเงินบาท