EV

สมรภูมิธุรกิจ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ หั่นราคาขาย กดกำไรต่ำ ใครสายป่านสั้นเสี่ยงปิดตัว!

ภาวะตลาดรถยนต์ EV โลกต้องเผชิญกับการแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดที่ดุเดือด ภายหลังจากการเข้ามาตีตลาดของแบรนด์จีนหลายค่ายทั้ง บีวายดี (BYD) , CHANGAN หรือ นีโอ (Nio) ก็กลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงในหลายประเทศ สำหรับจุดเปลี่ยนของตลาดนี้คือการที่ ‘เทสลา’ (Tesla) แบรนด์ต้นกำเนิดรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกันที่เป็นผู้เล่นในตลาดไฮ เอนด์ได้หั่นราคารถยนต์ไฟฟ้าลง เพื่อแข่งขันกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด ทำให้รถบางรุ่นของ Tesla ในจีนมีราคาใกล้เคียงกับ BYD จนเกิดเป็นสงครามราคาอย่างร้อนแรงมาตั้งแต่กลางปี 2023 จนถึงตอนนี้

ซึ่งการหั่นราคาขายรถยนต์ EV ลงเพื่อเชือดเฉือนกันจะทำให้กำไรค่ายผลิตรถยนต์ลดลงอย่างต่อเนื่อง หนำซ้ำบริษัทเหล่านี้ยังต้องใช้งบประมาณเพื่อวิจัยแบตเตอรี่และพัฒนารถยนต์ EV อยู่เสมอ ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่จะแบกรับต้นทุนสูงแต่กำไรต่ำไปอีกนาน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการออกรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง จนท้ายที่สุดในอนาคตบริษัท EV ที่สายป่านยาวไม่พอจะอยู่ต่อไม่ไหว

ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดที่สุดเกิดขึ้นกับค่ายรถยนต์ EV รายใหญ่ที่เคยเป็นดาวรุ่งอย่าง WM Motor จากประเทศจีนที่ได้ยื่นล้มละลายไปเมื่อท้ายปี 2023 ที่ผ่านมา โดยสาเหตุของการล้มละลายครั้งนี้ เกิดจากปัญหาทางการเงินที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ COVID-19 ทำให้ต้องแบกรับราคาวัตถุดิบสูงขึ้น สวนทางกับยอดขายในจีนที่ต่ำลง และยังต้องเผชิญกับสงครามด้านราคาในปัจจุบันจนท้ายที่สุดก็ต้องปิดตัวลง

นอกจากนี้ในจีนยังมีผู้ผลิตรถ EV ท้องถิ่นจำนวนมากที่เริ่มปิดตัวตั้งแต่ปี 2019 จากเดิมมีมากถึงเกือบ 500 ราย แต่ปัจจุบันเหลือราว 100 รายที่ยังคงอยู่รอด โดยบริษัทที่เติบโตต่อได้ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่มีสายป่านยาวเท่านั้น จนในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2024เราจึงได้เห็นหุ้นของบริษัทยานยนต์หลายรายโดยเฉพาะแบรนด์จีนดิ่งหนักจากความกดดันด้านการแข่งขันสูง

TeslaBYD

แม้กระทั่ง Tesla เองภายหลังจากเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาก็ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Margin) ในไตรมาส 4 อยู่ที่ระดับ 8.2% ลดลงจากระดับ 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง Tesla ระบุว่า รายได้ในธุรกิจรถยนต์ต่ำลงเกิดจากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับตัวลงหลังจากบริษัทได้ปรับลดราคารถยนต์ทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 และยังประเมินว่า การเติบโตของยอดขายรถยนต์ในปี 2024 อาจต่ำกว่าปี 2023 อีกด้วย ซึ่งภาพรวมในตลาดโลกทำให้เราเห็นว่าถึงแม้โอกาสการเติบโตธุรกิจนี้ยังสูง แต่เมื่อมีการแข่งขันด้านราคาเกิดขึ้นเสน่ห์ของการเข้าลงทุนโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็กอาจจะไม่ใช่จังหวะที่ดีมากนัก

ธุรกิจรถยนต์ EV ยังเป็นดาวรุ่งในไทย?

หันกลับมามองอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในบ้านเรากันบ้าง เริ่มต้นปี 2024 ถือว่าเป็นปีที่ดีของการจัดตั้งธุรกิจในไทย เพียงแค่ 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.2024) มีการจัดตั้งธุรกิจทั่วประเทศไปถึง 17,270 ราย เพิ่มขึ้น 267 ราย (เทียบกับช่วง 2 เดือนแรกของปี 2023) โดยธุรกิจที่ครองแชมป์การจัดตั้งมากสุดคือ ธุรกิจด้านการก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และร้านอาหาร ส่วนธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวเนื่อง ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีอัตราการจัดตั้งสูงแบบก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น สถานีชาร์จไฟฟ้า และอุปกรณ์ต่อพ่วง

ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย ช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นธุรกิจที่หลายสถาบันวิเคราะห์ว่าเป็น ‘ดาวเด่น’ จากการเติบโตแบบก้าวกระโดดรับ Mega Trend ของรัฐบาลที่ต้องการเปลี่ยนถ่ายให้คนในประเทศหันมาใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นตามภารกิจหลักของโลกที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าสู่ธุรกิจเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

โดยเราได้เห็นการขยายฐานผลิตมายังประเทศไทยหลายค่ายโดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากประเทศจีน โดยในปี 2024 จะมีค่ายที่จะเริ่มเดินเครื่องผลิตทั้งหมด 3 ค่าย คือ MG , NETA , BYD และจะตามมาติดกับ ‘ฉางอาน’ ที่เริ่มเดินเครื่องโครงงานผลิตรถยนต์ในปี 2025 โดยทั้ง 4 ค่ายต่างตั้งเป้ากำลังการผลิตเบื้องต้นมากกว่าค่ายละ 100,000 คันต่อปี เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งการมาจัดตั้งฐานการผลิตในประเทศที่เหมาะสมจะยิ่งทำให้ค่ายเหล่านี้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และขายในราคาที่ถูกลงได้

เพราะประเทศที่ค่ายเหล่านี้เลือกตั้งฐานการผลิตจะต้องมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานไม่ติดขัด รวมไปถึงต้องมองที่ความสามารถในการแข่งขันและจำนวนของแรงงานที่มีฝีมือ อีกทั้งต้องเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ชิดกับประเทศที่ต้องการทำการตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดความได้เปรียบในด้านต้นทุนขนส่ง นอกจากนี้ยังต้องเป็นประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ดี

ดังนั้นเมื่อทั้ง 4 ค่ายเริ่มผลิตรถยนต์ EV ในไทยได้เมื่อไหร่ ก็จะเกิดเป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน และสามารถขายได้ในราคาที่ต่ำลงเพื่อดึงดูดให้คนมาซื้อได้มากขึ้น ในมุมของผู้บริโภคถือว่าเป็นผลดี เพราะจะสามารถจับต้องรถยนต์ EV ได้ในราคาที่ต่ำลง

BYD

แต่ในเชิงของธุรกิจแล้วผลกระทบของราคารถยนต์ EV ที่ปรับตัวลดลงอาจจะไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป เพราะการลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้น ใช้เม็ดเงินอย่างมหาศาล อย่างเช่น BYD ใช้เม็ดเงินลงทุนตั้งฐานผลิตในไทยถึง 17,891 ล้านบาท ด้วยกำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี ซึ่งเงินลงทุนที่สูงขนาดนี้หากจะคิดเป็นระยะเวลาการคืนทุน (Payback Period) ก็อาจจะใช้เวลานานขึ้นมากกว่าเดิมหากสามารถตั้งกำไรจากการขายต่อคันได้ต่ำลง จากสภาพการแข่งขันด้านราคาที่ดุเดือด นอกจากนี้ราคารถยนต์ EV ที่ต่ำลงยังกระทบไปถึงรถยนต์แบบสันดาป โดยเฉพาะการออกรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีราคาถูกลงจนใกล้เคียงกับรถยนต์เก่าที่มีราคาขายใกล้เคียงกัน

นอกจากผลกระทบจะเกิดขึ้นกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์ EV แบรนด์ต่างๆ แล้วยังมีผลกระทบต่อไปจนถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นสินค้าที่ใช้ประกอบกัน (Complementary Goods) พูดง่ายๆ คือ เมื่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขายดีก็จะต้องใช้สินค้าที่เกี่ยวข้องมากขึ้นตามไปด้วย แต่หากค่ายรถยนต์ EV ได้รับผลกระทบจนปิดตัวหรือปิดโรงงานการผลิตก็จะทำให้ธุรกิจเหล่านี้ซบเซาตาม

โดยสามารถแบ่งกลุ่มหลักๆ ของธุรกิจได้ดังนี้ (ที่มา : DBD DataWarehouse)

– กลุ่มผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้า ปัจจุบันมีนิติบุคคลจำนวน 31 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 14,537.19 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) 22 ราย คิดเป็น 70.97% มูลค่าทุนจดทะเบียน 14,480.19 ล้านบาท

– กลุ่มผู้ผลิตระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมีนิติบุคคลจำนวน 122 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 76,674.67 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) 85 ราย คิดเป็น 69.67% มูลค่าทุนจดทะเบียน 71,967.55 ล้านบาท

– กลุ่มธุรกิจสถานีชาร์จ ปัจจุบันมีนิติบุคคลจำนวน 9 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 31,758.46 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลาง (M) 4 ราย คิดเป็น 44.44% มูลค่าทุนจดทะเบียน 31,328.01 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบว่าการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้าเป็นการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวค่อนข้างสูง โดยระยะ 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2020-2023) มีจำนวน 14 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22,134.80 ล้านบาท เป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร

ซึ่งลงทุนในธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง (รถยนต์ไฟฟ้า/รถจักยานยนต์ไฟฟ้า/EV Battery) 4 ราย ทุน 310.80 ล้านบาท ธุรกิจ EV Charging Station 3 ราย ทุน 8,893.34 ล้านบาท ธุรกิจบริการรับจ้างผลิต 2 ราย ทุน 371.68 ล้านบาท และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) 5 ราย ทุน 12,558.99 ล้านบาท

ในมุมมองของ ‘Business+’ไม่ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ EV จะรุ่งหรือร่วงจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในขณะนี้ แต่การเข้ามาลงทุนของต่างชาติในธุรกิจ EV โดยเฉพาะการเข้ามาขยายฐานการผลิตนั้น ไม่ว่จะเข้ามาเป็นระยะเวลาสั้นๆ หรือระยะยาวนอกจากทำให้ผู้บริโภคได้จับต้องสินค้าในราคาที่ต่ำลง ตัวเลือกมากขึ้น และยังมีข้อดีทางเศรษฐศาสตร์ต่อแรงงานไทย นั่นคือทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และทักษะความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะเพิ่มความสามารถให้กับแรงงานในประเทศไทยได้และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ในอนาคต

ที่มา : DBD DataWarehouse

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ยานยนต์ไฟฟ้า #รถยนต์EV #EV #EVBattery #ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า