‘ซีลิคฯ’ เข้าสู่จักรวาล ESG100 กางโรดแมพตามแผนความยั่งยืนโลก พร้อมเพิ่มสินค้ารักษ์โลกป้อนตลาด

หลังจากที่เราปูพื้นฐานด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) กันมาพอสมควร ทำให้เราได้รับรู้ว่าคะแนนความยั่งยืนของประเทศไทยในปัจจุบันยังอยู่ในกลุ่มสีเหลืองหรือระดับปานกลางเมื่อเทียบกับในระดับโลก และบริษัทในประเทศไทยที่คะแนนความยั่งยืนสูงส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น

แต่ในปี 2564 ที่ผ่านมา เราได้เห็นบริษัทขนาดเล็กที่โดดเด่นด้าน ESG อย่าง บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) หรือ SELIC ผู้ผลิตและจำหน่าย รวมทั้งวิจัยและพัฒนากาวที่ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเติบโตอย่างยั่งยืน และ ESG เป็นอย่างมาก

นำไปสู่การได้รับคัดเลือกเข้า “บริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน” หรือ ESG Emerging List และเริ่มเข้าเป็นหลักทรัพย์ในจักรวาล ESG100 ประจำปี 2564 หลังจากถูกประเมินโดยบริษัท อีเอสจี เรตติ้ง จำกัด ที่จัดตั้งโดย ‘สถาบันไทยพัฒน์’

ซึ่งการจะผ่านเกณฑ์คัดเลือก ESG Emerging List ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องเป็นบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 3 ส่วนแรกก่อน นั่นคือ มีกำไรติดต่อกัน 2 รอบปีบัญชีล่าสุด

และตัวบริษัท รวมไปถึงคณะกรรมการ หรือ ผู้บริหารระดับสูงจะต้องปลอดจากการกระทำความผิด ต้องไม่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษหรือเปรียบเทียบปรับในรอบปีประเมิน และยังมีเรื่องของการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ที่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์

ที่สำคัญ และยากที่สุดเป็นเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG พร้อมกับปรับปรุงพัฒนาธุรกิจแกนหลัก (Core Business) หรือกระบวนงานทางธุรกิจให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รวมไปถึงมีความริเริ่มด้าน ESG ซึ่งสร้างผลกระทบทางตรงต่อการเติบโตของรายได้ หรือการประหยัดต้นทุนของกิจการ

ทีนี้เรามาดูสาเหตุที่ทำให้ SELIC ติดโผ ESG Emerging ว่าเป็นเพราะอะไร?

จากข้อมูลที่บริษัทได้เปิดเผยผ่าน รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2563 พบว่า SELIC ได้ดำเนินเรื่องความยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2562 และได้จัดทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบการรายงานสากลของ Global Reporting Initiatives (GRI) ซึ่งจะครอบคลุมการประเมินประเด็นที่สำคัญด้านการพัฒนาความยั่งยืน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แนวทางการบริหารจัดการ การกำกับดูแลกิจการอย่างยั่งยืน รวมถึงผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ การดำเนินงานด้านสังคม และการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มของบริษัท

นอกจากนี้ในปี 2563 บริษัทยังคงมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก โดยการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Develioment Goals:SDGs) มาเป็นแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินการกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มขององค์กรเพื่อให้เชื่อมโยงกับบริบทของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับสากล

สำหรับแผนการที่เป็นรูปธรรมด้าน ESG ที่ผ่านมาของ SELIC หากแบ่งตามโมเดล ESG จะพบว่าบริษัทได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม

ด้าน E : Environmental หรือ สิ่งแวดล้อม

ในปี 2562 SELIC ได้ทำการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงสำหรับ Hot Oil Boiler จาก Diesel เป็น LPG ซึ่ง LPG มีขนาดโมเลกุลเล็กกว่าการเผาไหม้และการสันดาปดีกว่าน้ำมันดีเซลส่งผลให้ปริมาณก๊าซไอเสียจากการเผาไหม้ลดลง ส่งผลให้มีสิ่งตกค้างและเขม่าลดลง ทำให้ภาวะก๊าซเรือนกระจกมีค่าลดลง

อีกทั้งทำการติดตั้ง Digital Meter (KW hour meter) เพื่อวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้สามารถติดตามและเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ได้ และยังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อการบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าให้ได้มีประสิทธิภาพขึ้น และยังสามารถลดภาวะก๊าซเรือนกระจกได้เช่นเดียวกัน

รวมไปถึงจัดทำโครงการพัฒนากลุ่มกาวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ Bio based Hot Melt และ Toluene free solvent based

โดยปลายปี 2564 ที่ผ่านมา SELIC ได้ออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Material) อย่าง “กาวรักษ์โลก” (Vegamelt Green) แบรนด์แรกของคนไทย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตเน้นวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีประสิทธิภาพที่ดี โดยกาวรักษ์โลกนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกาวในปัจจุบันและยังตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืนได้อีกด้วย

ซึ่งกาวรักษ์โลกเป็นกาวหลอมร้อนสำหรับงานติดกล่องที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ หรือ Bio Mass Content ในสัดส่วน 35% จากปกติที่การผลิตกาวหลอมร้อนจะไม่มีส่วนผสมของ Bio ส่งผลให้การผลิตกาวรักษ์โลกจะช่วยลดการใช้วัตถุดิบจากปิโตรเคมีน้อยลง และความสามารถพิเศษที่สามารถหลอมละลายได้เร็วทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

นอกจากนี้ ยังช่วยลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการฉีดกาว และสามารถย่อยสลายได้ ทั้งยังเป็นอันตรายต่อสัตว์พื้นดินพื้นน้ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกาวในเกรดเดียวกันที่ทำจากปิโตรเคมี ซึ่งกาวรักษ์โลกสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 35% เมื่อเทียบกับกาว Vegamelt ทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นคุณสมบัติของกาวรักษ์โลกนี้ ยังให้ประสิทธิภาพการยึดติด และให้การทนร้อนทนเย็นที่ดีขึ้นกว่ากาวหลอมร้อนที่ผลิตจากวัตถุดิบเดิม

ด้านของ S : Social หรือ สังคม

SELIC ได้มีการดำเนินงานด้านสังคมด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนาพนักงานให้มีสมรรถนะทางด้านความรู้ สมรรถนะด้านทักษะ ผ่านการฝึกอบรม มุ่งเน้นพนักงานตระหนักถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน รองรับการขยายตัวของธุรกิจ และสนับสนุนความก้าวหน้าในสายอาชีพ

เช่น การจัดทำโครงการ New Me New Normal For SELIC เพิ่มการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะและประสบการณ์ของพนักงานให้ทันต่อสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ตลอดจนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นทั้งในด้านการไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางกาย จิตใจ เชื้อชาติ สัญชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา เพศ ภาษา อายุ สีผิว ฯลฯ

ด้าน G : Governance หรือ ธรรมาภิบาล

SELIC ยึดหลักธรรมาภิบาลในการดูแลพนักงานด้านการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ภายใต้การรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (มรท. 8001-2553) และมาตรฐานการป้องกันและการแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ และยังคำนึงถึงหลักปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนมีการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบ โปร่งใส

นอกจากนี้ SELIC มีความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ เพื่อให้สังคมและประเทศเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยได้เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ที่จะช่วยกันสร้างมาตรฐานและแนวทางในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ให้เป็นรูปธรรมอย่างมีรูปแบบและขั้นตอนที่ชัดเจน เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้อย่างถูกต้อง

ซึ่งบริษัทได้กำหนดนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นเอาไว้ 4 ข้ออย่างเป็นรูปธรรม

1.จัดให้มีนโยบายและแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่น และให้ความร่วมมือกับทุกองค์กรที่ให้การสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชั่น

2.บริษัทจะไม่ให้การสนับสนุนและต่อต้านการกระทำที่เป็นการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ

3.ห้ามกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียกรับผลประโยชน์ และสิ่งตอบแทนอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นตัวเงิน สิ่งของ หรือบริการ หรือประโยชน์อื่นใเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

4.กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานต้องปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด

และในช่วงที่ผ่านมา SELIC ไม่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนไม่มีกรณีพิพาททางกฏหมายทั้งในเรื่องแรงงาน การบังคับใช้แรงงานเด็ก และมีการประกาศเจตนารมณ์อันแนวแน่เพื่อขจัดภัยคุกคามการล่วงละเมิดทางเพศให้หมดไปจากสังคม

ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ SELIC กลายเป็นบริษัทที่ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในด้าน ESG แซงหน้าหลายบริษัท แม้จะจดทะเบียนกับตลท.ได้ไม่นาน (เข้าจะทะเบียนช่วงปลายปี 2559)

และเมื่อเราเจาะข้อมูลผลประกอบการในช่วง 4 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา SELIC มีการเติบโตของกำไรสุทธิได้อย่างยั่งยืนตามแบบฉบับ “บริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน”

– กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 85.81 ล้านบาท
– กำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 89.31 ล้านบาท
– ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 70.18 ล้านบาท เทียบกับช่วง 9 เดือนของปี 2563 อยู่ที่ 66.43 ล้านบาท

เราจะเห็นได้ว่า ทั้งแผนการเติบโตอย่างยั่งยืน และผลประกอบการที่เติบโตอย่างมั่นคง เป็นสาเหตุที่ทำให้ SELIC ถูกบรรจุเข้าสู่ ESG100

และการอยู่ใน ESG100 จะเป็นตัวดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนหุ้นคุณค่า (VI) มากเป็นพิเศษ เพราะปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนในหุ้น ESG ไม่ได้มุ่งเสาะหาบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการลงทุนในหุ้นที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำกว่าอุตสาหกรรมหรือตลาดโดยรวม

อีกทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงของแต่ละอุตสาหกรรม และนำไปช่วยจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) เพื่อสร้างผลตอบแทนให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีกด้วย

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : SET , ตลาดหุ้นไทย ,ผลตอบแทน

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SET #ตลาดหุ้น #SELIC #ซีลิค