Entertainmerce กลยุทธ์พิชิต Disrupt

หนึ่งในธุรกิจที่ท้าทายและยากในการพาตัวเองให้อยู่รอดมากที่สุดในเวลานี้คือ ‘อุตสาหกรรมสื่อ’ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจสื่อในทุกฟากฝั่งถูกมหาคลื่นลมจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรม 4.0 อย่าง Facebook, Instagram, Twitter, Line และล่าสุดอย่าง TikTok เข้ามา Disrupt อย่างหนัก จนทำให้สื่อหลายองค์กรทั่วโลกต้องปิดตัวลง ผู้ที่ยังคงสู้ต่อก็ต้องหาทางปรับตัวเพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอด แต่อยู่รอดแล้วจะสามารถกลับมาเติบโตบนรูปแบบใหม่ ๆ ได้ไหม ยังเป็นคำถามสำหรับหลาย ๆ องค์กร


และคงจะมีไม่กี่องค์กรที่จะมีภาพชัดในการจะเดินไปข้างหน้ามากนัก แต่กับ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ภายใต้การนำของ คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นั้นต่างออกไป เพราะดูเหมือนว่าอาร์เอสในวันนี้จะมีวิถีการเดินทางบนบริบทใหม่ของธุรกิจเกิดขึ้นแล้ว คือ ‘Entertainmerce’

Entertainmerce เป็นโมเดลที่ทางคุณสุรชัย หรือเฮียฮ้อ นำมาใช้เพื่อพลิกให้อาร์เอสกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง ผ่านวิธีการนำเสนอในรูปแบบ ‘การเล่าเรื่อง (Storytelling)’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความแตกต่างพร้อมกับการเก็บข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์ ต่อยอดการผลิตสินค้าใหม่ และสร้างวิธีการใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้าในแต่ละราย

“Entertainmerce มาจากการที่เรานำจุดแข็งขององค์กรเรา คือฝั่ง Entertainment, Media และ งานประเภท Creative ที่เรามีความถนัดเข้ามาผสมผสานให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทำงานร่วมกันกับฝั่งของ Commerce อย่าง บริษัท Lifestar ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาและผลิตสินค้าของเราเอง และ RS Mall ที่เป็นมัลติแพลตฟอร์มขายสินค้าทั้งออนแอร์และออนไลน์ การทำงานร่วมกันของทั้งสองฝั่งจะเจาะลงไปในเชิงลึกว่าผู้ชม ผู้ฟังของแต่ละสื่อเป็นแบบไหน โดยใช้ข้อมูลที่เรารวบรวมไว้มาวิเคราะห์ และสร้างเป็น Storytelling คุยกับลูกค้า”

ปัจจุบันธุรกิจกลุ่ม Commerce ของทางอาร์เอส กินสัดส่วนรายได้มากถึง 60% จากรายได้ทั้งหมด อีก 40% มาจากกลุ่ม Media (ธุรกิจคลื่นวิทยุ Cool Fahrenheit) และ Entertainment (ธุรกิจเพลง)

ด้านธุรกิจสื่ออย่าง ทีวีช่อง 8 ทางคุณสุรชัยบอกว่าได้มีการนำกลยุทธ์เก้าอี้ 4 ขา มาใช้ในการแบ่งกระจายรายได้ออกเป็น 4 ช่องทาง 1. Media 2. Commerce 3. การบริหารจัดการ Content และ Online 4. การจัดกิจกรรม ช่อง 8 ถือว่าอยู่คนละสถานะกับทีวีช่องอื่น ๆ

“ถ้าถามว่าธุรกิจทีวีจะเป็นอย่างไร ในมุมของเฮีย ทีวีเพียว ๆ เฮียว่าลำบาก!! เราค่อนข้างประนีประนอมเรื่อง Rating เราไม่ได้วาง Position ของเราว่า Rating ต้องเป็นอันดับ 1 หรือ 2 แค่อยู่ในกลุ่มผู้นำก็พอ เนื่องด้วยเป้าหมายของช่องเราต่างจากช่องอื่นที่พึ่งพารายได้จากโฆษณาเกือบ 100% แต่ของเรารายได้ตรงนี้เป็นแค่ 1 ใน 4 ขา พอเป้าหมายแตกต่าง กลยุทธ์ก็แตกต่าง ทำให้วิธีการทำงานก็แตกต่าง เพราะฉะนั้นจะพูดในมุมของ Rating อย่างเดียวไม่ได้ และ Rating ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สุดท้ายธุรกิจมันดูกันที่ Bottom Line”

ด้านธุรกิจเพลงของอาร์เอสในปัจจุบันตอนนี้มีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 5% – 7% ของอาร์เอสทั้งเครือ รายได้ต่อปีปัจจุบันอยู่ที่ราว ๆ 300 ล้านบาท โดยธุรกิจเพลงถือเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ Entertainmerce กลยุทธ์ในปัจจุบันไม่ได้เน้นที่ยอดขายและต้องโตเร็ว ๆ เหมือนในอดีตอีกแล้ว แต่อาร์เอสจะให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพและสามารถนำไปต่อยอดได้มากกว่า

“ปีนี้เราวางแผนจะกลับมาขยายธุรกิจเพลงมากขึ้น ปัจจุบันเรามีค่ายเพลงอาร์สยาม และปีนี้เราเตรียมจะเอา Kamikaze กลับมา Re-launch ใหม่อีกครั้งผ่านการเปิดค่ายใหม่ ซึ่งจริง ๆ คือค่ายเก่าตั้งแต่สมัยเราเริ่มต้นธุรกิจเลยคือ ‘โรสซาวด์’ (Rose Sound) ที่เป็นค่ายดั้งเดิมตั้งแต่สมัยเราเริ่มต้นธุรกิจเลย โดย Business Model ของเราคือ Music Star Commerce ก็จะเป็นการวางกลยุทธ์ธุรกิจเพลงให้มันสอดคล้องกับธุรกิจใหญ่ของอาร์เอส คือ Entertainmerce เพราะฉะนั้น เราไม่ได้ทำเพลงเพื่อจะหวังยอดดาวน์โหลดหรือโชว์จากศิลปินอย่างเดียวอีกแล้ว เรามุ่งไปที่การต่อยอด Commerce ซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา”

ล่าสุดทางอาร์เอสเพิ่งเปิดตัว CoolAnything ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Coolism โดยเป็นแอปพลิเคชันฟังเพลงของ Cool Fahrenheit เนื่องจากคนฟังวิทยุของอาร์เอสกว่า 93% ไม่ได้ฟังวิทยุ แต่จะฟังผ่านแอปพลิเคชัน ทางบริษัทจึงปรับให้ CoolAnything เป็นทั้งแอปฟังเพลง เป็นช่องทางช้อปปิ้ง โดยสินค้าจะมาจาก RS Mall สัดส่วนประมาณ 60% และทาง Coolism ทำการคัดเลือกมาจาก Partner อีก 40% เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มผู้ฟังอีกทีหนึ่ง

การเดินทาง 3 ปีจากนี้ ทางคุณสุรชัยบอกว่า อาร์เอสจะมุ่งไปที่การสร้าง New S-Curve ใหม่ให้กับบริษัทผ่าน Entertainmerce รวมไปถึงการทำ M&A และ Joint Venture เพื่อหา Partner ทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อจะทำให้บริษัทเติบโตทั้งแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายใน 3 ปีนี้ จากนั้นสัดส่วนรายได้ของฝั่ง Commerce น่าจะอยู่ที่ 80% ขณะที่ฝั่ง Media และเพลงก็ยังมีศักยภาพในการเติบโต แต่ Commerce จะโตในอัตราเร่งมากกว่า พร้อมยืนยันว่าแม้การมีรายได้หลักมาจากฟาก Commerce อย่างเดียวนั้นดูเหมือนเสี่ยง แต่ความจริงไม่มีความเสี่ยงแต่อย่างใด เนื่องจากช่องทางรายได้มีหลากหลาย

 

ในเรื่องของ New Normal คุณสุรชัยบอกว่า อาร์เอสมี New Normal ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ต่อให้ไม่มี Covid-19 ทางบริษัทก็มีอะไรใหม่ตลอด และในความเป็นจริงมันก็มีมานานแล้วถือเป็นเรื่อปกติ เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนอะไรใหม่บนโลกที่ส่งผลต่อชีวิต มนุษย์ก็จำเป็นต้องปรับตัวอยู่แล้ว Covid-19 จึงเหมือนเป็นจังหวะให้ทางบริษัทได้ถอยออกมามองโอกาสเพื่อรอกระโดดในวันข้างหน้า

ในมุมของการบริหารจัดการภายในองค์กร คุณสุรชัยเชื่อว่าคนอาร์เอสทุกคนวันนี้มี DNA ตรงกัน และเข้าใจ Core Value ทั้ง 4 ของบริษัท (แรงบันดาลใจ, แรงผลักดัน, ใฝ่เรียนใฝ่รู้, แน่วแน่ที่เป้าหมาย) ชัดเจน เพราะฉะนั้น คนของบริษัทมีความสามารถในการปรับตัวสูง และจะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ แต่เรื่องคนต้องใช้เวลา ไม่สามารถเร่งได้

“ผมมองเรื่องคนเปลี่ยนไปนานมากแล้ว ผมไม่เชื่อเรื่องที่ว่าเรียนสิ่งนี้เพื่อจะไปทำสิ่งนี้ ผมว่าเราควรสอนเด็กว่า จงเรียนสิ่งที่คุณสนุก คุณรัก และอยากเรียน โลกทุกวันนี้มันสั้นมากและมันเร็วมาก เรื่องคุณจบอะไรมามันสำคัญน้อยมาก เวลาเราหาคนเราคุยเรื่องความฉลาด การปรับตัว และทัศนคติในการทำงานมากกว่า สำหรับผมคนมี 3 – 4 อย่างนี้เขาทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น”