บริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เยอรมนีโบกมือลาจีน หนีค่าจ้างแรงงานสูง

นับตั้งแต่เกิดปัญหา Supply Chain Disruption ในช่วง COVID-19 และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดเป็นกลยุทธ์การบริหารธุรกิจใหม่ ๆ ที่เน้นการพึ่งพาการใช้วัตถุดิบภายในประเทศตัวเองมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีกว่า และไม่มีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในภายหลัง

แม้แต่บริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กในเยอรมนีที่อาศัยการนำเข้าชิ้นส่วนเหล่านี้จากประเทศจีนมาอย่างยาวนาน ก็เริ่มหันมาซื้อวัตถุดิบจากแหล่งอื่นมากยิ่งขึ้น ด้วยแนวคิดที่ว่า “สินค้าที่ใช้ในยุโรปก็ควรจะผลิตในยุโรป สินค้าที่ใช้ในเอเชียก็ควรจะผลิตในเอเชีย สินค้าที่ใช้ในอเมริกาก็ควรจะผลิตในอเมริกา”

ซึ่งบริษัท Start Up Wirelane เปิดเผยว่า ไม่ใช่เรื่องคุ้มค่าอีกต่อไปสำหรับบริษัทขนาดเล็กของเยอรมนีที่จะเดินทางไปจีน เพื่อสั่งซื้อสินค้าหรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากที่นั่น แล้วนำเข้ามาในยุโรป เพราะปริมาณการสั่งซื้อในจำนวนที่น้อย ๆ ย่อมไม่สามารถทำให้ได้สินค้าที่มีต้นทุนที่ต่ำจนน่าพอใจเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาก่อน เพราะนับตั้งแต่ปี 2019 ที่ผ่านมา ค่าจ้างแรงงานในจีนสูงกว่าค่าจ้างแรงงานในโรมาเนียเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น แทนที่จะสั่งซื้อเสาชาร์ตพลังงานจากในจีนเหมือนที่เคยก็หันมาจ้างบริษัทในเมือง Oberpfalz ของเยอรมนีเป็นผู้ผลิตแทน

นอกจากบริษัท Wirelane แล้วก็ยังมีอีกหลาย ๆ บริษัทของเยอรมนีที่เปลี่ยนแนวทางมาซื้อวัตถุดิบจากแหล่งอื่น ๆ เช่นกัน โดย ผู้บริหารบริษัท Infineon ที่เป็นผู้ผลิตชิป ได้ออกมาเปิดเผยว่า เราเริ่มเห็นลูกค้าจำนวนมากเปลี่ยนห่วงโซอุปทานใหม่ โดยทยอยไม่สั่งซื้อสินค้าจากจีน และมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจหันไปใช้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในยุโรปแทนแล้ว

นอกจากประเด็นเรื่องความคุ้มค่าของต้นทุนแล้ว การที่บริษัทจากเยอรมนีลดการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีนยังมีประเด็นที่ว่าลูกค้าในอุตสาหกรรมขั้นปลายต่าง ๆ เริ่มตื่นตัวต่อประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และมองว่าระบบการขนส่งสินค้าไปๆ มา ๆ ระหว่างประเทศต่างๆ นั้นอาจเป็นสาเหตุที่ทำ ให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้

โดยผู้บริหารบริษัท Zollner เปิดเผยว่า พอหลาย ๆ ฝ่ายเริ่มตื่นตัวและกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลายรายในเยอรมนีเริ่มหันไปใช้ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน ตามหลักการว่า “สินค้าที่ใช้ในยุโรปก็ควรจะผลิตในยุโรป สินค้าที่ใช้ในเอเชียก็ควรจะผลิตในเอเชีย สินค้าที่ใช้ในอเมริกาก็ควรจะผลิตในอเมริกา มากขึ้นนั่นเอง” นอกจากนี้ ปัญหาด้านการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนก็ทำ ให้ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้ทยอยปรับตัว หันไปตั้งฐานการผลิตอุปกรณ์และวัตถุดิบในพื้นที่ที่ใกล้กับตลาดของตนมากขึ้น

ด้านผู้บริหารของบริษัท Katek ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เห็นว่า คณะกรรมาธิการของ EU ก็เริ่มสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการออกกฎบังคับให้ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในยุโรปต้องซื้อสินค้าต้นน้ำ หรือกลางน้ำ (วัตถุดิบ) ขั้นต่ำจากบริษัทที่ตั้งอยู่ในยุโรปด้วย แต่ว่าแนวคิดนี้ยังมีข้อจำกัด เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะหาหรือผลิตชิ้นส่วนสินค้า EMS ทุกอย่างในยุโรปได้ และก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะขยายกำลังการผลิตในยุโรปได้ เพราะยุโรปยังขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมากและระบบอัตโนมัติต่าง ๆ เพื่อทดแทนแรงงานคนก็ยังก้าวหน้าและปรับตัวได้ไม่ทันกับความต้องการแรงงานที่ขาดหายไป”

อย่างไรก็ตาม ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์เยอรมนี ได้มีการชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ในเยอรมนี ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้เพราะต้นทุนสินค้าที่ผลิตได้ในยุโรปค่อนข้างสูง” ดังนั้นการมองหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ๆ จากอินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือมาเลเซีย ย่อมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ที่มา : DIPT
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS