ใครได้ประโยชน์จาก ‘หนี้ครัวเรือนไทย’ ที่เข้าขั้นวิกฤต

‘หนี้ครัวเรือน’ คือหนี้ของคนธรรมดาที่กู้ยืมจากสถาบันการเงิน หรือคนนอกครอบครัว เพื่อเอาไปใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นทั้งหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยืนเหนือระดับ 90% ของ GDP มาตั้งแต่ปี 2563 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าในปี 67 หนี้ครัวเรือนจะขึ้นไปแตะ 91.4% ต่อ GDP

ถึงแม้ว่าหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องอาจจะกระทบต่อหลายๆกลุ่มธุรกิจ เพราะลูกหนี้มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระมากขึ้น กำลังซื้อของคนน้อยลง แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์นั่นคือ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) โดยเฉพาะบริษัทที่เน้นกลุ่มบริหารหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) ซึ่งกลุ่มธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตมาจากปริมาณหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ผลกระทบ COVID-19 มาจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งหลักการสร้างรายได้ของธุรกิจประเภทนี้คือ การเข้าไปรับซื้อหนี้เสีย (NPLs) จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น และนำมาบริหารจัดการด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย พูดง่ายๆคือ การไปรับซื้อหนี้เสียด้วยราคาที่ต่ำกว่าวงเงินที่ลูกหนี้กู้จากสถาบันการเงิน และนำมาบริหาร และติดตามหนี้เพื่อให้ได้รับเงินคืนจากลูกหนี้ที่สูงกว่าหนี้ที่ซื้อมา

โดยเราพบข้อมูลว่า กลุ่มบริษัทธุรกิจบริหารหนี้ตลาดหุ้นไทยมีการเติบโตของรายได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอย่างก้าวกระโดด นำโดย BAM , JMT และ CHASE ขณะที่ในปี 2567 นี้ที่มีการคาดการณ์ว่าหนี้ครัวเรือนจะพุ่งสูงขึ้นก็จะทำให้กลุ่มสถาบันการเงินหนี้เสียพุ่งขึ้นตาม จึงทำให้ต้องแห่ขายหนี้เสียออกมาให้กับบริษัทเหล่านี้ ทีนี้มาดูกันว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทเหล่านี้มีการเติบโตเป็นอย่างไร

ThaiDebt

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าทิศทางของกำไรสุทธิทั้ง 5 บริษัทปรับตัวขึ้นเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ปี 2564 ส่วนหนึ่งก็คือเมื่อเกิดหนี้เสียในระบบมากขึ้น บริษัทเหล่านี้ก็สามารถเข้าไปประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้มากขึ้น ทำให้หลายบริษัทอย่างเช่น บมจ.เชฎฐ์ เอเชีย (CHASE) สามารถซื้อหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มูลหนี้ใหม่มาราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ซื้อหนี้ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์

เช่นเดียวกับ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ที่ในปี 2566 ซื้อหนี้สูงสุดในประวัติศาสตร์ ด้วยการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพรวม 7,311 ล้านบาท โดยหนี้ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99% เป็นหนี้ด้อยคุณภาพแบบไม่มีหลักประกัน (Unsecure Debt) เราจึงได้เห็นว่าในปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิสูงถึง 2,011 ล้าบาท (สูงที่สุดในกลุ่มบริหารหนี้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ)

ส่วนในกรณีของ ของ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ของตลาดบริหารหนี้สิน แต่ในปี 2566 กลับมีกำไรสุทธิที่ต่ำกว่า บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ซึ่งบริษัทได้ชี้แจงว่า กำไรสุทธิที่ปรับตัวลดลงไปเกือบ 44% เกิดจากการที่บริษัทเน้นให้ความช่วยเหลือลูกค้า เพราะความสามารถในการจ่ายหนี้ของลูกหนี้รายได้ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และลูกหนี้กลุ่มธุรกิจขอเลื่อนการชำระหนี้ออกไปจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง ขณะที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการประเมินตาม นโยบายการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ทั้ง 2 ส่วนนี้จึงทำให้กำไรสุทธิของ BAM ปรับตัวลดลงสวนทางบริษัทฯ อื่นๆในกลุ่ม

ในมุมมองของ Business+ ถึงแม้บริษัทเหล่านี้จะมีโอกาสสร้างรายได้สูงในช่วงที่หนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งสูงขึ้น แต่หากจะนำกลับมาเป็นกำไรนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการบริหารหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ รวมไปถึงต้องบริหารค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ให้ต่ำที่สุด ถึงจะกลายเป็นอัตรากำไรสุทธิที่สูงขึ้น

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์