เปิดเงื่อนไขนำสายไฟฟ้าลงดิน ทำไมต่างประเทศทำได้ แต่ไทยยังทำไม่สำเร็จ?

การนำสายไฟฟ้าลงดิน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ใครหลาย ๆ คนต่างก็อยากเห็น เพราะนอกจากจะช่วยทำให้ทัศนียภาพภายในประเทศดียิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงจากอันตรายที่เกิดจากสายไฟฟ้าที่ห้อยระโยงระยางลงมาอีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากหลาย ๆ กรณีที่ประชาชนได้รับบาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิตจากสายไฟฟ้าที่ชำรุดแล้วห้อยลงมาโดนร่างกายผู้เสียหาย หรือถ้าหากจะให้เห็นภาพชัดกว่านั้น คงหนีไม่พ้นกรณี ‘ไฟไหม้สำเพ็ง’ ที่ปัญหาเกิดจากหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด นำมาซึ่งความเสียหายและความสูญเสียอย่างมหาศาล สร้างความสะเทือนใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในประเทศไทยจะเริ่มมีการนำสายไฟฟ้าลงดินไปบ้างแล้วในบางพื้นที่ แต่ก็ยังถือเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนสายไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ

ด้วยเหตุนี้จึงนำมาซึ่งคำถามที่ว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้การนำสายไฟฟ้าลงดินของประเทศไทยยังเป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งทาง Business+ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่เป็นองค์ประกอบของเรื่องนี้มาสรุปให้แล้ว ดังนี้

การใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในการดำเนินการ

แน่นอนว่าการนำสายไฟฟ้าลงดินไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะออย่างยิ่งในช่วงของการเริ่มต้นดำเนินการ เนื่องจากทุกอย่างเสมือนเป็นการเริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ต้น โดยประเด็นที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้ เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘เงิน ๆ ทอง ๆ’ ที่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดำเนินโครงการ ทั้งในการรื้อถอนสายไฟฟ้ารูปแบบเดิมออก และการเริ่มนำสายไฟฟ้าลงดิน ซึ่งถ้าหากจะให้พอมองภาพออกว่าต้องใช้งบประมาณมากแค่ไหนในการดำเนินโครงการ คงต้องขอยกตัวอย่างแผนเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีเห็น (ครม.) ได้มีมติอนุมัติภายใต้งบประมาณ 143,092 ล้านบาท เมื่อปี 2558 ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ในส่วนความรับผิดชอบของ ‘กฟน.’ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าเพียงแค่ 3 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ยังไม่รวมถึงพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่มีหน้าที่รับผิดชอบถึง 74 จังหวัดด้วยกัน โดยทางผู้ว่าการ ‘กฟน.’ ได้ให้ข้อมูลว่างบประมาณการนำสายไฟลงใต้ดินมีค่าดำเนินการสูงประมาณ 300-400 ล้านบาท/กิโลเมตร เนื่องจากอุปกรณ์ต่าง ๆ จะต้องทำขึ้นมาเพื่อสายใต้ดิน และเวลาเดินสายไฟเข้าบ้านประชาชนก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เพียงแค่นี้ก็คงพอทำให้เห็นได้ว่าโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ และต้องใช้เงินเป็นจำนวนมหาศาลในการดำเนินการ จึงไม่แปลกที่ในประเทศไทยจะยังไม่ได้เห็นภาพที่บ้านเมืองปราศจากสายไฟฟ้าแบบ 100% ได้ในเร็ววัน

สายไฟฟ้าบนดินง่ายต่อการบำรุงรักษามากกว่า

จากข้อมูลพบว่าปัจจัยที่หลาย ๆ ประเทศยังไม่นำสายไฟฟ้าลงดิน เนื่องจากการที่สายไฟฟ้าอยู่เหนือพื้นดินง่ายต่อการซ่อมแซมและบำรุงรักษามากกว่า จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้หลาย ๆ ประเทศเลือกที่จะยังให้สายไฟฟ้าอยู่บนพื้นดินเช่นเดิม และคาดว่าประเทศไทยก็คงมีเรื่องนี้เป็นปัจจัยร่วมเช่นกัน

ปัญหาเรื่องพื้นที่

ก่อนหน้านี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง พบปัญหาอุปสรรคทำให้การก่อสร้างไม่เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบ เช่น การเพิ่มระดับความลึกของบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อหลบอุปสรรค รวมทั้งปัญหาการได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ล่าช้าทำให้เริ่มงานก่อสร้างได้ช้ากว่าแผนงานที่กำหนด ซึ่งหากดูจากกรณีนี้ก็ทำให้คิดไปถึงการดำเนินโครงการต่อจากนี้ได้เลยว่า ปัญหาเหล่านี้น่าจะยังตามมาอีก โดยเฉพาะในการขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ ซึ่งต้องมีการขออนุญาตอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลให้การดำเนินโครงการนี้เป็นไปอย่างล่าช้า

จากปัญหาและอุปสรรคหลาย ๆ ด้านตามที่กล่าวมาข้างต้น หากประเทศไทยสามารถก้าวผ่านไปได้คงช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยที่ไม่ต้องคอยระวังว่าจะโดนไฟช็อตตอนไหน (ภายใต้เงื่อนไขว่าสายไฟฟ้าที่อยู่ใต้ดินได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยอย่างรัดกุม) หรือการเดินได้แบบไม่ต้องคอยเดินหลบสายไฟฟ้าที่อยู่บนหัว อีกทั้ง นอกจากเรื่องของความปลอดภัย ประชาชนยังจะได้ประโยชน์จากปัญหาไฟฟ้าดับที่ลดลงหากสายไฟถูกฝังไว้ใต้ดิน ทั้งจากปัญหาพายุและนำท่วม หรือแม้แต่ปัญหาต้นไม้หักมาทับเสาไฟฟ้า

นอกจากนี้ การมีทัศนีภาพที่ดี นอกจากจะช่วยทำให้บ้านเมืองน่ามองแล้ว ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้แก่ประเทศในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ที่มา : posttoday, electrocuted, Thai PBS

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #นำสายไฟฟ้าลงดิน #สายไฟฟ้า #ไฟฟ้า