จากสถานการณ์ Covid-19 เป็นเพียงแค่สัญญาณเริ่มต้นที่บอกกับว่า เรากำลังอยู่ใน Disruptive World ที่ถูกพูดถึงมา 6-7 ปี คนส่วนใหญ่มักมองเรื่องดิสรัปชัน เป็นแค่ภาพของเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจองค์กร
อย่างไรก็ตาม การมาของ Metaverse หรือศัพท์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่าง Cybersecurity Mesh, Data Fabric หรือ Decision Intelligence ในมุมของผู้นำองค์กร เราไม่สามารถมองเพียงแค่มิติของ Technology Disruption ได้อีกต่อไป แต่ต้องมองถึงวิกฤตอื่น ๆ อีกที่จะเข้ามาส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากการที่ SEAC ศึกษาและรวบรวมข้อมูลกรณีศึกษามากกว่า 58 เคสองค์กรชั้นนำทั่วโลก พบว่า 7 กุญแจสำคัญต่อไปนี้จะทำให้ภาคธุรกิจประสบความสำเร็จในวิกฤตได้ ซึ่งพิสูจน์แล้วจากการที่องค์กรระดับโลกที่แม้จะอยู่ในธุรกิจที่เผชิญกับผลกระทบรุนแรงช่วง Covid-19 แต่ด้วยการทำ 7 สิ่งนี้ทำให้สามารถเติบโตสวนกระแสวิกฤตและประสบความสำเร็จได้
- Foresight for a Changing Future ผู้นำองค์กรต้องมองถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องมองว่าทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่อาจเกิดขึ้นได้อีก และเกมธุรกิจที่องค์กรต่าง ๆ เล่นในวันนี้เริ่มเป็นภาพใหม่ อีกทั้ง การมองเป็น strategic planning จะไม่ทันอีกต่อไปแล้ว องค์กรต้องมองเป็น strategic foresight และวางแผนสำหรับอนาคต
- Faster Innovation and Agility องค์กรระดับโลกต่างเร่งสร้างนวัตกรรม เร็วขึ้น คล่องตัวขึ้น เพราะ Covid-19 มาเร่งให้องค์กรคิดและสร้างนวัตกรรมให้สำเร็จมากขึ้นในเวลาอันสั้น องค์กรใหญ่ระดับโลกหลายที่สร้างนวัตกรรมได้ดีและเร็วกว่าสตาร์ทอัพแล้ว และต่อจากนี้ จะเป็นยุคของการทำนวัตกรรมในองค์กร
- Rethinking Resource Allocation and Usage องค์กรทั่วโลกต่างคิดใหม่ ทำใหม่ และมองการทำงานแบบใหม่ การทำงานร่วมกันที่เน้น cross-functional team มากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูล insight และไอเดียจากหลากหลายทีมมากขึ้นและเร็วขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา
- New Ways of Meeting New Customer Needs เมื่อ Covid-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่น่าสนใจคือ เรามีวิธีใหม่แล้วหรือยังที่จะใช้ทำความเข้าใจความต้องการใหม่ของลูกค้า องค์กรที่ประสบความสำเร็จล้วนใช้วิธีการใหม่ ๆ เพื่อรู้และเข้าใจความต้องการใหม่ของลูกค้า
- New Ways of Leading Employees เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ใช่แค่คนหนึ่งคนนำทีม นำแผนกตัวเองอีกต่อไปแล้ว แต่ผู้นำต้องสามารถที่จะนำคนที่เข้ามาทำงานร่วมกันได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในทีมของเรา ดังนั้น ผู้นำในองค์กรต้องมีรูปแบบใหม่ในการจะนำพนักงาน โดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในทีมของเราเท่านั้น
- Need for Speed to Grab and Grow Opportunities แต่ก่อนเราอาจเคยได้ยินว่า องค์กรใหญ่ ๆ นั้นอุ้ยอ้าย ไม่สามารถที่จะทำงานได้คล่องตัวเหมือนสตาร์ทอัพ แต่วันนี้องค์กรใหญ่ ๆ ไม่ได้อุ้ยอ้ายเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ยังสามารถที่จะคว้าโอกาสได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
- New and better Ways of Getting Work Done ในวันนี้ องค์กรที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ ต่างใช้คำว่า Getting work done กล่าวคือ มีวิธีการใหม่และวิธีการที่ดีกว่าในการที่จะทำให้คนในทีมและองค์กรทำงานสักอย่างสำเร็จ
โดยสิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องหันกลับมาดูเช็กลิสต์ตัวเองคือ องค์กรของเราได้เริ่มแตะไปกี่ข้อแล้วจากใน 7 ข้อนี้ และกำลังทำอย่างรวดเร็วหรือไม่ หลายองค์กรต้องเริ่มมองภาพตัวเองและผู้นำในหลายระดับขององค์กรว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง
ทีนี้เรามาลองดูกรณีศึกษาขององค์กรระดับโลกที่นำหลักการนี้ไปปรับใช้ และได้ผลลัพธ์ดีเลิศ
มิติใหม่ Nestle ถึงแม้จะเป็นองค์กรที่เก่าแก่อยู่มานานกว่า 160 ปี มีโรงงานผลิตมากถึง 350 แห่ง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ Nestle ทำคือ การท้าทายตัวเอง โดยไม่รอจนถึงวันที่มีสัญญาณ Disruption มากระทบ ถึงแม้จะสำเร็จในบางเรื่อง แต่ก็ต้องกล้าท้าทายตัวเอง โดย 5 คีย์หลัก ๆ ที่เนสท์เล่ท้าทายและเริ่มทำวิธีการใหม่ด้วยแนวคิด Pivoted Leaders’ Thinking มีดังนี้
- Opened Minds to Change Ways of Working ทำให้ผู้นำเข้าใจภาพการทำงานแบบใหม่ เน้นการทำงานร่วมกันแบบ cross-functional team เพื่อให้การทำงานแต่ละเรื่องสำเร็จและมีผลลัพธ์
- Soft Skills Development ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน ผู้นำและพนักงานต้องเข้าใจ soft skills ทั้งทักษะการสื่อสารกัน การเข้าอกเข้าใจกัน การรับฟัง การทำงานร่วมกัน การมี EQ ที่ดี การจัดการความเครียดได้ เพราะหากจะต่อสู้กับวิกฤตความท้าทายในยุคนี้ได้ ต้องมีการพัฒนา soft skills ในคนทุกระดับในองค์กร โดยเฉพาะระดับผู้นำ
- Develop Listening Leaders คนที่จะเป็นหัวหน้าคนได้ ต้องยินดีที่จะรับฟังและถูกท้าทายจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า และพนักงาน เพื่อให้เกิดการคิดและไอเดียใหม่
- Put New Leadership into Action สิ่งที่ผู้นำต้องให้ความสนใจ คือ ไม่ว่าใครจะอยู่ทีมไหน อยู่กับทีมใคร แต่เราจะรวมคนเก่งมาทำงานร่วมกันและสร้าง impact performance ร่วมกันได้อย่างไรบ้าง
- Develop Mindset เน้นเรื่องการพัฒนาวิธีคิดที่จำเป็นในการทำงานให้กับผู้นำ
จากการท้าทายตนเองและเริ่มวิธีการใหม่ ๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนสท์เล่กลายเป็นองค์กรที่เกิดธุรกิจใหม่จำนวนมาก และสามารถเปลี่ยนวิธีการทำงานได้
จะเห็นได้ว่า แม้เนสท์เล่เป็นองค์กรขนาดใหญ่มาก แต่สิ่งที่หันกลับมามองใหม่ คือ การเชื่อว่าจะมีเรื่องอื่น ๆ อีกที่เข้ามากระทบธุรกิจ ไม่ใช่เพียงแค่ Covid-19 สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนัก คือ จะทำอย่างไรให้คนที่เป็นหัวหน้าสามารถที่จะอยู่กับความท้าทายใหม่ ๆ ได้
และพร้อมที่จะหาวิธีการใหม่ให้กับองค์กร ตั้งแต่ระดับ supervisor ไปจนถึงระดับ Top Management เพื่อให้สามารถนำทีมแบบใหม่ แม้องค์กรจะเก่าแก่ แต่เนสท์เล่ไม่เชื่ออีกต่อไปแล้วว่า structure จะต้องเป็นแบบที่เคยทำมา และในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นชัดเจนว่า Soft Skills และ Mindset คือกุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้นำทำงานกับลูกทีม และอยู่กับความเครียดได้ดี
จากกรณีศึกษา ทำให้เห็นถึง วิธีการหรือ key intervention จาก 7 คีย์สำคัญที่ได้ถอดรหัสออกมาให้เห็นภาพนั่นเอง
สุดท้ายนี้ สิ่งที่อยากให้เห็นภาพ ก็คือ เวลาที่เราพูดเรื่อง Disruption ในบริบทใหม่ จากการศึกษามากว่า 58 กรณีศึกษาขององค์กรชั้นนำทั่วโลก ขอเน้นย้ำว่า ในฐานะผู้บริหาร เราต้องหันกลับมามองใหม่ว่า เรามอง Covid-19 เป็นแค่วิกฤตที่เกิดขึ้นและกำลังจะผ่านไป หรือเราเปลี่ยนเลนส์การมองตัวเราเองที่จะมองว่า
นี่คือสัญญาณเตือน Disruption ที่ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น และในอนาคตจะมีความท้าทายอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง เราต้องเตรียมรับมือตั้งแต่วันนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถรับมือกับอนาคตและสามารถปรับตัวให้องค์กรอยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
เขียนและเรียบเรียง : คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ดิสรัปชัน #Management #SEAC