การตระหนักรู้ของคนในสังคม สู่การเปลี่ยนแปลงประเทศผ่าน ‘การเลือกตั้ง’

การมีส่วนร่วมของคนภายในประเทศจะช่วยขับเคลื่อนหลายสิ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจ การแข่งขันทางการค้า สังคมที่มีคุณภาพ เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยยกระดับเสถียรภาพของประเทศ รวมถึงสร้างความน่าเชื่อถือในแง่ของการลงทุนบริษัทข้ามชาติให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพราะการลงทุนแต่ละครั้งของนักลงทุนต่างชาติจะมองหลายองค์ประกอบ อาทิ การเมืองในประเทศ แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้จุดแรกเริ่มก็ต้องมาจากรัฐบาล เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศ แต่กว่าที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้นั้นก็จะต้องผ่านการเลือกตั้งที่มาจากประชาชน หรือที่เรียกกันว่า การเลือกตั้งในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไหนก็ตามที่ประชาชนให้ความสำคัญต่อหน้าที่ของพลเมือง เปรียบได้ว่าประเทศนั้นกำลังก้าวเข้าสู่สังคมที่มีคุณภาพ

สำหรับในอดีตหลายคนอาจเคยมีแนวคิดที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ถึงเลือกไปยังไงก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงยังไงก็ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองอยู่ดี แต่ ณ ปัจจุบันแนวคิดนั้นเริ่มเปลี่ยนไป โดยเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากการเมืองเป็นเรื่องของทุกคนและเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ๆ เพราะคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นหรือแย่ลงก็มาจากการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนั้น ๆ จึงทำให้ไม่เพียงแค่คนรุ่นเก่า แต่รวมถึงคนรุ่นใหม่ด้วยที่ให้ความสนใจในทุกนโยบายของหลายพรรคการเมือง และมีการมองการณ์ไกลถึงความสมเหตุสมผลของนโยบาย เพราะต้องการยกระดับคุณภาพของชีวิตให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ จึงทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาของหลาย ๆ ประเทศมีจำนวนคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

‘Business+’ ได้มีการสำรวจผลการเลือกตั้งของหลายประเทศทำให้พบว่า สัดส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้แตกต่างกันมากจากในงวดการเลือกตั้งครั้งก่อน แต่จำนวนของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยจะยกตัวอย่าง 2 ประเทศดังนี้

1.สหรัฐอเมริกา

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2563 มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งราว 157 ล้านคน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2443 โดยมีผู้ลงคะแนนมากกว่า 100 ล้านคนก่อนวันเลือกตั้ง สำหรับผลการเลือกตั้ง โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตสามารถเอาชนะประธานาธิบดี ดอนัลด์ ทรัมป์ จากพรรคริพับลิกันได้ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ดอนัลด์ ทรัมป์ เป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐได้เพียงแค่สมัยเดียว

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งครั้งนั้นอย่างมาก เพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และสังคม รวมถึงการเลือกครั้งนั้นก็ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิด ทัศนคติของผู้ลงสมัครเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของนโยบายที่ตอนนั้นเกิดสถานการณ์ COVID-19 ระบาดหนัก โดยโจ ไบเดน ก็เลือกที่จะเร่งแก้ไขปัญหาในจุดนี้ก่อนเป็นอันดับแรก โดยหากมองการณ์ไกลถ้าสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจก็จะฟื้นกลับมาดี

2.ไทย

ในปี 2566 ประเทศไทยได้จัดเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีผ่านการลงคะแนนเสียงจากประชาชน โดยในปีนั้นมีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดกว่า 39 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศประมาณ 52 ล้านคน คิดเป็น 75.22% ซึ่งถือเป็นปีที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงที่สุดนับตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งมา 7 ครั้ง แต่ทั้งนี้ด้วยจากขั้นตอนที่ซับซ้อนต่างจากประเทศอื่น ๆ จึงส่งผลให้ผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่หลายคนคิดไว้ไม่เป็นไปดังคาด

สำหรับในปี 2566 เรียกได้ว่าประชาชนมีความตระหนักรู้ในหน้าที่พลเมืองเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากข้างต้นที่มีการมาใช้สิทธิออกเสียงมากที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดการเลือกตั้ง สะท้อนถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ต้องการให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ เศรษฐกิจ การลงทุน ความเป็นอยู่ โดยสิ่งเหล่านี้ได้อยู่ในนโยนบายที่ได้มีการเสนอหรือจัดทำขึ้นของพรรค จึงทำให้หลายคนมีความคาดหวังต่อคุณภาพชีวิตที่จะดีขึ้น ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งสิ่งที่มาคู่กับผลคะแนน ก็คือ ความเชื่อมั่นในตัวพรรค และศรัทธาในตัวบุคคล อย่างล่าสุดในปีนี้ (2567) ไต้หวันได้มีการจัดการเลือกตั้ง โดยมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 69.8% หรือราว 13.63 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 19.54 ล้านคน โดยไล่ ชิงเต๋อ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) คว้าตำแหน่งประธานาธิบดีของไต้หวันไปได้ สำหรับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าสามารถชนะการเลือกตั้ง 3 สมัยติดต่อกัน ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ไต้หวันเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งในเรื่องของนโยบายก็ถือได้ว่าหนักแน่นอยู่พอสมควร

สุดท้ายนี้ในการออกไปลงคะแนนเสียงแต่ละครั้งของประชาชน ก็เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อขึ้น ทั้งต่อตนเองและประเทศชาติ ซึ่งหน้าที่สำคัญหลัก ๆ ของภาครัฐนั้นก็คือ การสร้างรายได้ให้กับประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความบาลานซ์ให้กับสังคม หากมีการบริหารจัดการที่ดีคุณภาพชีวิตของประชาชนก็จะดีขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่ยกระดับคนในประเทศ แต่ในเวทีโลกเราก็จะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างเต็มกำลัง นอกจากนี้หากรัฐบาลมีความน่าเชื่อที่เพียงพอ ในการติดต่อหรือลงทุนกับชาติอื่น ๆ ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งจะน่าเชื่อถือหรือไม่นั้นก็ต้องมีการสร้างผลงานออกมาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชน โดยหากเป็นที่น่าพอใจการครองตำแหน่งบริหารประเทศก็จะสามารถต่อได้อีกสมัย

.

ที่มา : brandinside, prachachat

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/ 

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #เลือกตั้ง #การเลือกตั้ง #ไทย #สหรัฐอเมริกา #ไต้หวัน