เปิดสถิติสำคัญเกี่ยวกับกลุ่ม ‘Digital Nomad’ หลังญี่ปุ่นเล็งออกวีซ่าเฉพาะกลุ่ม หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

การทำงานในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การตื่นเช้าเพื่อเดินทางเข้าบริษัท และรอเวลาเลิกงานตามกฎระเบียบเท่านั้น แต่เป็นการทำงานที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถสร้างผลงานให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง การทำงานในลักษณะนี้ก็ควบคู่ไปกับการเดินทางเพื่อพักผ่อน หรือท่องเที่ยว ทำให้ไม่เพียงแค่ตัวของผู้ที่ทำงานในลักษณะดังกล่าวจะสามารถใช้เวลาไปกับการเดินทางพร้อมทำงานอย่างมีความสุขเท่านั้น แต่ยังเป็นการผลักดันภาคธุรกิจต่าง ๆ ไปในตัวด้วย ซึ่งจากความจริงในข้อนี้ ทำให้ปัจจุบันมีหลายประเทศจากทั่วโลกที่หันมาให้ความสำคัญกับการต้อนรับคนกลุ่ม ‘Digital Nomad’ ด้วยการออกวีซ่าเฉพาะกลุ่มให้กับคนเหล่านี้ขึ้นมา ดังเช่นกรณีล่าสุดที่ญี่ปุ่นได้ออกมาเปิดเผยว่าจะมีการออกวีซ่าให้กับกลุ่ม ‘Digital Nomad’ เข้าพำนักในญี่ปุ่นได้นานถึง 6 เดือน

โดยสำนักงานกำกับดูแลคนเข้าเมืองญี่ปุ่น ระบุว่า ญี่ปุ่นจะออกวีซ่าประเภทใหม่ที่จะอนุญาตให้ผู้ที่มีทักษะสูงสามารถทำงานในญี่ปุ่นโดยไม่ต้องเข้าสำนักงานสูงสุด 6 เดือน ขณะเดียวกันก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอวีซ่าประเภทนี้ไว้คร่าว ๆ คือจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ 10 ล้านเยน/ปี (ราว 68,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นไป รวมถึงต้องเป็นพลเมืองใน 50 ประเทศและดินแดนที่ทำข้อตกลงยกเว้นวีซ่ากับญี่ปุ่นและมีประกันสุขภาพเอกชน ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัท จะขอวีซ่าประเภทใหม่ได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจมีรายได้จากต่างประเทศ ซึ่งวีซ่าใหม่นี้อนุญาตให้สามารถพาสมาชิกครอบครัวติดตามไปด้วยได้ แต่ทุกคนต้องมีประกันสุขภาพเอกชน

อย่างไรก็ดี วีซ่าสำหรับกลุ่ม ‘Digital Nomad’ ยังอยู่ในระหว่างการวางแผน โดยสำนักงานกำกับดูแลคนเข้าเมืองญี่ปุ่นจะเปิดให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 และคาดว่าจะสามารถเปิดตัววีซ่าประเภทดังกล่าวได้ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2567

อนึ่ง ญี่ปุ่นมีแนวคิดเกี่ยวกับการออกวีซ่าสำหรับกลุ่ม ‘Digital Nomad’ จากการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งภายหลังสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นได้เห็นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งวีซ่า ‘Digital Nomad’ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในแง่ของการจับจ่ายใช้สอย และการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น ทั้งในส่วนของผู้ที่เป็น ‘Digital Nomad’ เองก็ดี หรือแม้แต่ผู้คนที่ได้รับรู้ประสบการณ์ของคนนี้ก็ตาม เนื่องจากพบว่าผู้ที่เคยพำนักอยู่ในญี่ปุ่นแบบระยะยาว มักจะส่งต่อประสบการณ์เชิงบวกที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นให้ผู้อื่นได้รู้ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ ‘twoticketsanywhere’ เปิดเผยให้เห็นถึงสถิติที่สำคัญที่พอจะทำให้เห็นภาพว่าทำไมในปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศถึงหันมาให้ความสนใจกับกลุ่ม ‘Digital Nomad’ มากขึ้น โดยสรุปคร่าว ๆ ดังนี้

  • ปัจจุบันมีบุคคลที่อยู่ในกลุ่ม ‘Digital Nomad’ ประมาณ 35 ล้านคนทั่วโลก
  • กลุ่ม ‘Digital Nomad’ มีส่วนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ 787 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
  • หากนับรวมจำนวนคนกลุ่ม ‘Digital Nomad’ จากทั่วโลกเป็นประเทศ จะทำให้กลายเป็นประเทศที่มีประชากรอยู่ในอันดับที่ 41 ของโลก
  • ประเทศเม็กซิโกเป็นจุดหมายปลายทางของกลุ่ม ‘Digital Nomad’ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกในขณะนี้ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ 2
  • อายุเฉลี่ยของคนกลุ่ม ‘Digital Nomad’ คือ 32 ปี และกลุ่ม ‘Digital Nomad’ ส่วนใหญ่เริ่มต้นการเดินทางในลักษณะนี้เมื่ออายุ 29 ปี
  • สหรัฐอเมริกามีสัดส่วนมากกว่า 51% ของกลุ่ม ‘Digital Nomad’ ทั่วโลก
  • 46% ของกลุ่ม ‘Digital Nomad’ เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ และ 35% เป็นลูกจ้างของบริษัท

ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลเหล่านี้ หากประเทศไทยมีการนำข้อมูลมาปรับใช้กับกลุ่ม ‘Digital Nomad’ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินจากคนกลุ่มนี้ได้จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศ

ที่มา : InfoQuest, unseen-japan, twoticketsanywhere

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #DigitalNomad #ทำงานนอกสถานที่ #วีซ่าญี่ปุ่น #Visaญี่ปุ่น #ญี่ปุ่น #ท่องเที่ยว #เศรษฐกิจ #การกระตุ้นเศรษฐกิจ #อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว