หลากเหตุผลร้านค้าเมินเข้าร่วม ‘เงินดิจิทัล’ หวั่นภาษีย้อนหลัง-รัฐเรียกเงินคืน-เงื่อนไขไม่ชัด

เรียกว่าเป็นประเด็นมาตั้งแต่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐบาลเลยทีเดียว สำหรับนโยบาย ‘แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ที่ผู้คนต่างก็เฝ้ารอว่าจะมีการแจกเงินในส่วนนี้เมื่อไร นอกจากนี้ยังเกิดคำถามขึ้นมากมายจากภาคประชาชน ทั้งในเรื่องของการใช้งานที่ยังไม่เห็นภาพว่าจะใช้งานอย่างไร หรือใช้ได้ที่ไหนบ้าง โดยประเด็นที่กำลังเป็นกระแสร้อนแรงอยู่ในขณะนี้คงหนีไม่พ้นการกำหนดพื้นที่ใช้งานที่มีเงื่อนไขว่าสามารถใช้เงินดิจิทัลได้ในรัศมี 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน แม้ว่าจะมีคำว่า “สามารถปรับเปลี่ยนได้” ต่อท้าย แต่ด้วยที่ขณะนี้ยังไม่มีประกาศที่แน่ชัดออกมา ทำให้ประชาชนต่างมีข้อกังขาในประเด็นนี้ เนื่องจากหลายพื้นที่ที่มีผู้อาศัยอยู่นั้นล้อมรอบไปด้วยป่า, ทุ่งนา, หรือภูเขา ซึ่งหากเทียบกับระยะทาง 4 กิโลเมตรที่กำหนดไว้ ซึ่งยังไม่รวมถึงประชาชนที่ไม่ได้ทำงานตามภูมิลำเนา ที่หากเงื่อนไขนี้ถูกนำมาใช้จริง อาจทำให้คนกลุ่มนี้เสียสิทธิ์ได้

ขณะเดียวกัน ทางด้านผู้ประกอบการรายย่อยอย่างร้านอาหาร, ร้านขายของชำ ก็มีความกังวลใจต่อการเข้าร่วมโครงการนี้เช่นเดียวกัน โดยในวันนี้ Business+ ได้ทำการรวบรวมประเด็นที่ส่งผลให้เหล่าร้านค้าเกิดความกังวลที่จะเข้าร่วมโครงการ ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ มาให้ได้ทำความเข้าใจเหตุผลของฝั่งร้านค้ามากขึ้น

กังวลหากเปลี่ยนแพลตฟอร์มรับชำระเงิน
เหตุผลข้อนี้ เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงพอนึกภาพตอนที่ต้องใช้แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ในโครงการของรัฐบาลชุดก่อนหน้าอย่าง ‘คนละครึ่ง’ และ ‘เราชนะ’ ออก ที่ในช่วงแรกของการใช้แอปฯ ต้องมีทั้งการลงทะเบียนด้วยข้อมูลส่วนตัวและใบหน้า ซึ่งก็เกิดความยุ่งยากสำหรับผู้คนจำนวนไม่น้อย ซึ่งไม่เพียงแค่ทางฟากฝั่งของผู้ซื้อเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงฝั่งผู้ขายที่มีแอปฯ ‘ถุงเงิน’ เพิ่มเติมอีกหนึ่งแพลตฟอร์มด้วย ซึ่งหากโครงการ ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ นำแอปฯเหล่านี้มาต่อยอด บรรดาร้านค้าก็สามารถใช้ของที่มีอยู่แล้วต่อได้เลย แต่หากมีการเปลี่ยนแพลตฟอร์ม บรรดาร้านค้าที่กังวลเรื่องความยุ่งยากก็อาจจะไม่เข้าร่วมโครงการได้

กลัวโดนเก็บภาษีย้อนหลัง
ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทันทีในช่วงที่โครงการ ‘คนละครึ่ง’ ได้รับความนิยม เมื่อมีร้านค้าออกมาเตือนร้านค้าด้วยกันถึงเรื่องการโดนเก็บภาษีย้อนหลัง ซึ่งในช่วงนั้นมีข่าวของร้านที่โดนเรียกเก็บภาษีเป็นจำนวนเงินที่สูงในขนาดที่ทางเจ้าของร้านบอกว่าทำให้ผลประกอบการเกิดผลขาดทุน ทำให้เกิดความกังวลขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการทันที เนื่องจากมีความกังวลว่าสาเหตุที่ร้านค้าโดนเรียกเก็บภาษีนั้น เป็นเพราะรัฐบาลตรวจสอบรายได้จากแอปฯที่ใช้รับชำระเงินจากโครงการดังกล่าว แม้ว่าต่อมากระทรวงการคลังจะออกมาชี้แจ้งว่าไม่ได้เป็นการเรียกเก็บจากการตรวจสอบข้อมูลในระบบ แต่เป็นการเรียกเก็บเนื่องจากร้านค้ามีรายได้เข้าเกณฑ์การจ่ายภาษีก็ตาม แต่ก็ทำให้บรรดาร้านค้ายังเกิดความไม่มั่นใจต่อกรณีนี้อยู่ โดยมองว่าอาจไม่คุ้มค่าหากต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก แต่มีรายได้ที่หากทำการหักลบต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ

รัฐเรียกเงินคืน
หลาย ๆ ท่านคงเคยเห็นข่าวผ่านตากันมาบ้างแล้วสำหรับกรณีที่มีร้านค้าโดนรัฐบาลเรียกเก็บเงินคืนจากโครงการ ‘คนละครึ่ง’ และ ‘เราชนะ’ อีกทั้งยังถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากกระทำผิดเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งแม้ว่าบุคคลที่โดนทางรัฐบาลเรียกเก็บเงินคืนจะกระทำความผิดจริง แต่ก็ส่งผลให้บรรดาร้านค้าอื่น ๆ เกิดความตื่นตระหนกไปตาม ๆ กัน เนื่องจากกลัวว่าหากเผลอทำผิดเงื่อนไขแม้ไม่ได้ตั้งใจ ก็อาจจะโดนเรียกเก็บเงินที่ได้จากการค้าขายคืน รวมถึงเสียค่าปรับจำนวนมาก ทั้งยังอาจถูกดำเนินคดีไปด้วย

เงื่อนไขไม่ชัด
แน่นอนว่าสาเหตุนี้สำคัญที่สุดที่ส่งผลให้ร้านค้าเกิดความลังเลจนถึงขั้นมีร้านที่ออกมาประกาศอย่างทันทีทันใดว่าจะไม่เข้าร่วมโครงการ ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ เพราะทางฟากฝั่งของรัฐบาลยังไม่มีการชี้แจงนโยบายนี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเปลี่ยนจากวงเงินดิจิทัลเป็นเงินจริง ทำให้บรรดาร้านค้าเกรงว่าจะไม่ได้รับเงินที่จับต้องได้หากเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะทำให้เสียทั้งโอกาสที่จะได้ขายสินค้าให้กับผู้ที่มีเงินสดอยู่ในมือ อีกทั้งยังเสียเงินไปกับต้นทุนสินค้า ซึ่งหากร้านค้านั้น ๆ มีลูกค้ามาทำธุรกรรมเป็นจำนวนมาก ก็ย่อมแบกรับความเสี่ยงที่สูงมากไปด้วยเช่นกัน

สำหรับประเด็นเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ Business+ ได้หยิบยกมาจากข่าวสารและข้อความผ่านทางโซเชียลมีเดียให้ได้ทำความเข้าใจฝั่งของผู้ประกอบการเท่านั้น ซึ่งอาจจะมีทั้งร้านค้าที่คิดเช่นเดียวกันและมีข้อคิดเห็นที่แตกต่างออกไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว นโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนออกมาให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจ จึงอาจส่งผลให้เกิดความกังวลใจทั้งทางฝั่งของผู้ซื้อและเจ้าของกิจการ ดังนั้น หากรัฐบาลอยากแก้ปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและความกังวลใจเหล่านี้ อาจต้องนำประเด็นนี้มาชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบและทำความเข้าใจในเร็ววัน

ที่มา : pptvhd36, amarintv

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เงินดิจิทัล #เงินดิจิทัล10000 #ร้านค้า #โครงการรัฐ