เดลล์ คอมเมอร์เชี่ยล

เปิดกลยุทธ์ใหม่ DELL ป้องแชมป์ commercial PC เมืองไทย

เปิดกลยุทธ์ใหม่ เดลล์ ป้องแชมป์คอมเมอร์เชี่ยลพีซีเมืองไทย

ชื่อชั้นของ เดลล์ ในตลาดพีซีคอนซูเมอร์อาจจะไม่ได้สตรองมากนัก แต่ในตลาดคอมเมอร์เชี่ยล เดลล์ นับเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งอย่างมาก และนับวันจะมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น

สะท้อนได้จากตัวเลขของไอดีซีที่ระบุชัดว่า เดลล์ เป็นแบรนด์เดียวที่มีการเติบโตในตลาดคอมเมอร์เชี่ยลพีซีซึ่งรวมทั้งเดสก์ทอปและโน๊ตบุ๊ก 20 ไตรมาสติดต่อกัน และยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในระดับโลก

สำหรับในไทย เดลล์ มีการเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน โดยในไตรมาส 4 ของปี 2560 ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ทั้งในแง่ของ Revenue Share มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 39% และ Unit Share อยู่ที่ 32%

เดลล์ คอมเมอร์เชี่ยล

สิ่งที่ทำให้เดลล์ สามารถยึดครองส่วนแบ่งตลาดคอมเมอร์เชี่ยลพีซีเป็นอันดับ 1 อโณทัย เวทยากร รองประธาน เดลล์ อีเอ็มซี อินโดจีน อธิบายให้ฟังว่า มาจากการให้ความสำคัญกับ Customer Insight ทำให้รู้ถึง Pain Point ของลูกค้าและสามารถนำความต้องการเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ผู้บริโภคอยู่เสมอ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น พฤติกรรมของผู้บริโภคและองค์กรมีความต้องการที่หลากหลายและไม่เหมือนเดิม

ทำให้กลยุทธ์ของเดลล์จากนี้ไป จะมุ่งทำตลาดแบบ Customization มากขึ้น เนื่องจากคอนเซ็ปท์ One site fit All ไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกแล้ว แต่จะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์พีซีโน้ตบุ๊กให้ตอบสนองการใช้งานของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น ลูกค้าที่นั่งทำงานอยู่กับโต๊ะ กลุ่มเอ็นจีเนีย และผู้ที่ต้องพกติดตัวในออฟฟิศตลอดเวลา เป็นต้น

“ปัจจุบันพฤติกรรมองค์กรและผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก ตอนนี้หลายองค์กรธุรกิจเริ่มหันมาสนใจการเช่าซื้อคอมพิวเตอร์ไปใช้งานมากขึ้น เพราะต้องการโฟกัสในธุรกิจหลัก ขณะที่ผู้บริโภคในเมืองใหญ่อย่างจีนเริ่มคุ้นชินและสั่งซื้อของออนไลน์มากขึ้น เพราะตอบโจทย์เรื่องการซื้อของแล้วไม่ต้องรอ แต่เมืองรอง ๆ ลูกค้ายังมีพฤติกรรมแบบเดิม ต้องการเข้าไปร้านที่คุ้นเคย เพื่อไปสัมผัส และต่อรองราคาได้”

อโณทัย ฉายให้ฟังถึงพฤติกรรมองค์กรและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พร้อมทั้งเชื่อว่าตลาดพีซีไทยจะเดินตามเทรนด์นี้เช่นกัน ทำให้ปีนี้เดลล์จึงเดินหน้ารุกให้บริการ PC as a Service ซึ่งเป็นการให้เช่าใช้คอมพิวเตอร์สำหรับองค์กรธุรกิจด้วย หลังปีที่ผ่านมาได้เริ่มทดลองให้ลูกค้าองค์กรเช่าซื้อเซิร์ฟเวอร์ผ่านหน่วยธุรกิจ เดลล์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส รวมถึงให้น้ำหนักกับช่องทางออนไลน์มากขึ้นด้วย

แม้พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์จะมาแรง แต่ อโณทัย ยอมรับว่า การทำตลาดจะต้องสร้างสมดุลของช่องทางเทรดดิชั่นนอล ไอที สโตร์ และออนไลน์ เพื่อรักษาอีโคซิสเต็มส์ให้สมดุลด้วย เพราะหากโฟกัสออนไลน์มากไป จะส่งผลให้ยอดขายของเทรดดิชั่นนอล ไอที สโตร์ ลดลง

“ตอนนี้ยังตอบยากว่าสัดส่วนการซื้อคอมพิวเตอร์ผ่านช่องทางออนไลน์ของไทยมีแค่ไหน แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยที่ใกล้เคียงกับชาวจีน จึงคาดว่ายอดขายของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพจะอยู่ที่ 60% และต่างจังหวัด 40% ซึ่ง 40% ยังคงเป็นเทรดดิชั่นนอล ไอที สโตร์ ขณะที่เมืองใหญ่ สัดส่วนของตลาดออนไลน์จะมากขึ้น โดยในอีก 5 ปี จะขยับเป็น 20-30% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 10%”

ทั้งหมดนี้ก็คือ กลยุทธ์ที่จะรักษาความเป็นผู้นำในตลาดคอมเมอร์เชี่ยลพีซีของเดลล์ให้แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

เดลล์ คอมเมอร์เชี่ยล