เงินเฟ้อตัวป่วนตลาดการเงิน-ตลาดทุน ‘คริปโทเคอร์เรนซี’ เผชิญความเสี่ยงมหาศาล

นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมาเป็นเหมือนตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าหลังจากเกิดเงินเฟ้อหลายประเทศจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นทั้งการลดมาตรการ QE และขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดความร้อนแรงเอาไว้ ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงที่กระทบเป็นคลื่นต่อมายังตลาดการเงิน ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาผันผวนเป็นอย่างมากไม่เว้นประเทศไทย

ผลกระทบต่อตลาดการเงินที่ไทยจะได้รับจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นทั่วโลกมาจากการใช้นโยบายทางการเงินแบบหดตัวของประเทศใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของโลก และการที่สหรัฐฯ ต้องแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นจึงทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว

ซึ่งการที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลกลับไปยังสหรัฐฯ หากประเทศอื่น ๆ ไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามได้

สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นหนึ่งในประเทศที่ยังไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามทันเพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

โดยทาง ‘สภาพัฒน์’ ได้ลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ เหลือเติบโตเพียง 2.5 – 3.5% จากเดิมคาดเติบโตได้ 3.5-4.5% สาเหตุโดยรวมมาจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมาที่ส่งผลถึงไปอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 5-6%

ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของประเทศไทย และอีกหลาย ๆ ประเทศมาจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น (เงินเฟ้อด้านอุปทาน) เท่ากับว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนอกจากไม่สามารถแก้ไขเรื่องปัญหาเงินเฟ้อได้แล้ว ยังจะกดดันเศรษฐกิจให้ชะลอตัวมากกว่าเดิม เพราะต้นทุนของภาคธุรกิจจะเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ย

และเมื่อไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ได้ดังนั้นจึงทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในแต่ละครั้งจะทำให้มีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายออกไปสู่ตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอยู่ตลอดเวลา ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดการเงินในประเทศเล็กอย่างประเทศไทยเต็ม ๆ

อย่างไรก็ตามตลาดการเงินแต่ละประเภทจะได้รับผลกระทบมากหรือน้อยจะแตกต่างกันตามความโครงสร้างของผลตอบแทน และความเสี่ยงด้านการลงทุนของแต่ละสินทรัพย์

โครงสร้างตลาดการเงินของประเทศไทย

โครงสร้างตลาดการเงินในประเทศไทยสามารถแบ่งตลาดการเงินออกได้เป็น 4 ตลาด (ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย) คือ ตลาดการเงิน ตลาดทุน ตลาดเงินตราต่างประเทศ และตลาดอนุพันธ์ ซึ่งผลกระทบที่ได้รับจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แตกต่างกันออกไปดังนี้

– ตลาดเงิน (Money Market) ซึ่งเป็นตลาดที่มีการระดมเงินจากประชาชนที่ต้องการออมเงิน ด้วยการให้ผู้มีเงินออมซื้อตราสารทางการเงินระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี เช่น ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วเงินคลัง โดยเป็นการขายผ่านสถาบันการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ

ผลกระทบต่อตลาดเงินเมื่อเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย: ตลาดเงินถือว่าเป็นหลักทรัพย์หรือตราสารที่มีสภาพคล่องสูง แต่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าตราสารในตลาดทุน โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุ ทำให้มีความน่าเชื่อถือมากโดยเฉพาะ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งมีผู้ออกเป็นรัฐบาล ยิ่งทำให้มีโอกาสสูญเสียเงินต้นต่ำมาก ดังนั้นตลาดเงินอาจจะได้รับผลกระทบจากเม็ดเงินที่ไหลออกไปน้อยกว่าตลาดประเภทอื่น อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยที่ปรับตัวขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้กองทุนตราสารหนี้ของไทยส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนติดลบได้เช่นกัน

ตลาดทุน (Capital Market) เป็นแหล่งเพื่อการระดมทุนและการลงทุนระยะยาวกว่า 1 ปี โดยสามารถแบ่งย่อยได้อีกตามประเภทของตราสารหรือสิทธิที่ผู้ลงทุนได้รับ กล่าวคือ ตลาดหลักทรัพย์ เป็นช่องทางการระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านการออกจำหน่ายหุ้นสามัญ โดยผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าของ และตลาดตราสารหนี้ ซึ่งผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ โดยตราสารที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนมีทั้งพันธบัตรรัฐบาลที่ภาครัฐเป็นผู้ออก และหุ้นกู้ระยะยาวที่ภาคเอกชนเป็นผู้ออก

ผลกระทบต่อตลาดทุนเมื่อเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย : จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดทุยของไทยปรับตัวอย่างผันผวนตามการปรับตัวของดัชนีดาวโจนส์ และตลาดหุ้นทั่วโลก โดย SET Index ปรับตัวลดลง 2.25% นับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน (YTD) และดัชนีผลตอบแทนรวมปรับตัวลดลง 0.70% (ดัชนีผลตอบแทนรวม : คือการคำนวณผลตอบแทนทุกประเภทของการลงทุนในหลักทรัพย์ ทั้งผลตอบแทนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหลักทรัพย์ที่ลงทุน สิทธิในการจองซื้อหุ้น และปันผล) ซึ่งการที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจะทำให้นักลงทุนขายหุ้นออกมาเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากกว่า

อย่างไรก็ตามในส่วนของตราสารหนี้ถือว่าเป็นอีกทางเลือกลงทุนที่น่าสนใจท่ามกลางสภาวะตลาดการเงินที่ผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพราะราคา และผลตอบแทนจากตราสารหนี้จะเคลื่อนไหวตรงกันข้ามกับหุ้น หากนักลงทุนที่มีหุ้นอยู่ในพอร์ต และต้องการกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนตราสารหนี้จะเป็นตัวช่วยชั้นดีให้กับนักลงทุน

– ตลาดเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange Market) เป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสกุลต่าง ๆ เพื่อการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ คือ ตลาดที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินต่าง ๆ เรียกว่า ‘อัตราแลกเปลี่ยน’ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ผลกระทบต่อตลาดเงินตราต่างประเทศเมื่อเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย : อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจที่อยู่ในวัฏจักรที่ขยายตัวได้ดีกว่าไทย ทำให้นักลงทุนโยกย้ายเม็ดเงินลงทุนไปยังสหรัฐฯ ทำให้ต้องขายเงินบาทไทยออกมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท และเมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ก็จะส่งผลต่อภาคการนำเข้าที่จะมีต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบ หรือสินค้ามากขึ้น เสมือนเงินที่รั่วไหลออกนอกประเทศมากขึ้นนั่นเอง

– ตลาดอนุพันธ์ (Derivatives Market) ​เป็นตลาดสำหรับซื้อขายตราสารทางการเงินที่ราคาขึ้นกับสินทรัพย์อ้างอิง  โดยตราสารอนุพันธ์จะมีสินทรัพย์อ้างอิงได้หลากหลาย เช่น เงินตราสกุลต่าง ๆ หุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้าเกษตร โดยนิยมใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย หรือความผันผวนของราคาสินทรัพย์อ้างอิง

ผลกระทบต่อตลาดอนุพันธ์เมื่อเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย : ตลาดอนุพันธ์ถือว่าเป็นการลงทุนซับซ้อน จึงมีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้น หากผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อตลาดอนุพันธ์อย่างรุนแรง เพราะนักลงทุนจะเทขายเพื่อที่จะเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยแทน

จะเห็นได้ว่า ตลาดทุน และตลาดอนุพันธ์ เป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน ทั้ง 2 ตลาดจึงได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะถือว่าเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ (ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ) ดังนั้น เมื่อธนาคารกลางได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงทำให้เม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ ส่วนตลาดเงิน เป็นตลาดที่มีผลตอบแทนใกล้เคียงกับการฝากเงินในธนาคาร จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

แนวโน้มตลาดการเงินช่วงที่เหลือของปี

สำหรับแนวโน้วของตลาดการเงินในช่วงที่เหลือของปี 2565 หลายฝ่ายยังคงมองว่าต้องเผชิญกับความผันผวน เนื่องจากถูกคาดการณ์ว่าปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมากกว่าปี 2564 ดังนั้นตลาดการเงิน รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสาเหตุมาจากการที่แต่ละประเทศต่างมีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ และเผชิญกับภาวะที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ปีนี้เฟดจะใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 7 ครั้ง และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจะสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงิน และตลาดทุนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลให้สภาพคล่องไหลออกจากตลาดการเงินที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ซึ่งความปั่นป่วนนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรวดเร็วโดยเฉพาะกับตลาด คริปโทเคอร์เรนซีซึ่งที่ผ่านเราได้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าระดับราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลปรับตัวลดลงอย่างมหาศาล