‘โครเอเชีย’ ประเทศที่ใช้เงินช่วยเหลือประชาชนจาก Carbon Credit ใช้ 3 แพ็กเกจเยียวยา-คุมค่าไฟ-ลด VAT สู้เงินเฟ้อโลก

ในช่วงที่ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักของทุกอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงทำให้รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศต้องใช้มาตรการช่วยเหลือประชาชนของตนเอง โดยมาตรการต่าง ๆ นั้น จะแตกต่างกันออกกไปตามแต่ความเหมาะสมของโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศ

ซึ่งประเทศโครเอเชีย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้มาตรการเยียวยาประชาชนที่น่าสนใจด้วย 3 มาตรการหลักครอบคลุมทั้งสาธารณูปโภค ลดภาษี รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบางในวงเงินราว 2.33 หมื่นล้านบาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.จนถึง 31 มี.ค.2566

ความน่าสนใจของการใช้มาตรการเยียวยาครั้งนี้ เป็นเพราะว่า งบประมาณส่วนหนึ่งที่รัฐบาลโครเอเชียใช้ในครั้งนี้มาจากการขาย Carbon Credit โดยที่รัฐบาลโครเอเชียดำเนินโครงการตามกลไกพัฒนาที่สะอาดตามข้อตกลงกับนานาชาติ โดยคาดการณ์ว่ารายได้จากตลาด Carbon Credit ภายในปี 2568 จะสูงถึง 1.39 หมื่นล้านบาท

ที่นี้เรามาดูกันว่า รัฐบาลโครเอเชีย เขาแก้ปัญหานี้ให้กับประชาชนอย่างไรบ้าง?
1. มาตรการควบคุมค่าบริการสาธารณูปโภค
– อุดหนุนค่าแก๊สทำความอบอุ่น ประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ 0.1 คูน่า ต่อ 1 kWh (ประมาณ 50 สตางค์)
– อุดหนุนค่าแก๊สทำความอบอุ่น สำหรับกิจการขนาดเล็กและกลางที่มีปริมาณการบริโภคแก๊สทำความอบอุ่นตลอดปีไม่เกิน 10 gWh ที่ 0.15 คูน่า ต่อ 1 kWh (ประมาณ 75 สตางค์)
– กำหนดเพดานการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ให้ขึ้นได้ไม่เกิน 9.6% จากระดับราคาเดิม ส่วนค่าแก๊สทำความอบอุ่นให้ขึ้นได้ไม่เกิน 20% ทั้งนี้ อัตราค่าไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยปรับขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมกราคม 2562

2. มาตรการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) ในหมวดสินค้าจำเป็น ดังต่อไปนี้
– ลด VAT ค่าแหล่งพลังงานความร้อน (ถ่าน ไม้ฟืนก่อไฟ) จาก 25% เหลือ 13% ในระดับเดียวกับค่าไฟฟ้า มีผลถาวร
– เพื่อเป็นการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม รัฐบาลจะเก็บ VAT ค่าแก๊สทำความอบอุ่นเพียงแค่ 5% (จากที่ลดลงเหลือ 13%) ช่วงวันที่ 1 เมษายน 2565 – 31 มีนาคม 2566
– ลด VAT สินค้าอาหารพื้นฐาน (เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก ผลไม้ น้ ามันประกอบอาหาร อาหารทารก) จาก 13% เหลือ 5%
– ลด VAT สินค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร (ดิน ปุ๋ย สารชีวภัณฑ์ ต้นกล้า) จาก 25% เหลือ 5%
– ลด VAT สินค้าเกี่ยวกับสุขอนามัยส่วนบุคคล (เช่น ผ้าอนามัยส าหรับสตรี) จาก 25% เหลือ 13%

ทั้งนี้ VAT โครเอเชียอยู่ที่ 25% ในระดับเดียวกับสวีเดน สูงสุดเป็นอันดับสองใน EU รองจากฮังการี (27%)

3. มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
– แจกคูปองลดค่าไฟฟ้าและค่าแก๊ส มูลค่า 400 คูน่าต่อเดือน (ประมาณ 1,940 บาท) ให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยคาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือส่วนนี้ราว 91,000 คน
– ผู้สูงอายุที่มีรายได้จากเงินบำนาญต่อเดือนไม่เกิน 19,400 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือประมาณ 1,940 – 5,820 บาท 1 ครั้ง คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือส่วนนี้ราว 721,000 คน

เป็นที่น่าสนใจว่า 3 มาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน
โดยสาเหตุที่ทำให้โครเอเชียต้องรีบให้การช่วยเหลือประชาชนเพราะธนาคารแห่งชาติโครเอเชียคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2565 ขึ้น ในช่วง 3.5-4% จากเดิมที่คาดการณ์ที่ 2.4% เนื่องจากราคาสินค้าช่วงปลายปี 2564 ปรับขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบก๊าซธรรมชาติ วัตถุดิบในการผลิต และค่าไฟฟ้า ที่จะปรับตัวสูงขึ้นในตลาดโลกหลังรัสเซียบุกรุกยูเครน ผู้ประกอบการธุรกิจหลายรายอาจถือโอกาสขึ้นราคาสินค้า/บริการก่อนช่วงเปลี่ยนผ่านสกุลเงินหลัก

ในขณะที่เมื่อนำโครเอเชียมาเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิก EU อื่นแล้ว พบว่า ระดับรายได้ของแรงงานโครเอเชียยังมีค่ามาตรฐานอำนาจการซื้อ (Purchasing Power Standard) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย EU ในเดือนมกราคม 2565

ขณะที่รัฐบาลโครเอเชียต้องควบคุมระดับเงินเฟ้อให้ได้ เพราะเงินเฟ้อเป็นหนึ่งในเกณฑ์สำคัญสำหรับการเข้าร่วม EU โดยที่อัตราเงินเฟ้อต่อปีเฉลี่ยในรอบ 12 เดือนของโครเอเชียจะต้องไม่สูงกว่า 1.5% ของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 3 ประเทศสมาชิก EU

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ ประเมินว่า มาตรการเฉพาะกิจของรัฐบาลโครเอเชียจะช่วยบรรเทาภาระประชาชนในปี 2565 ได้บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อยที่ต้องเผชิญกับภาวะค่าครองชีพปรับขึ้นสูงขึ้น เพราะเมื่อพิจารณาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโครเอเชียประจำปี 2564 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 2.6% ซึ่งตั้งแต่ช่วงกลางปี CPI รายเดือนพุ่งสูงขึ้นมาก

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ ,กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #โครเอเชีย #เงินเฟ้อ #มาตรการเยียวยา #เศรษฐกิจ