ถอดรหัสความสำเร็จแบรนด์ CP FOTON กับบทบาท ‘ผู้นำ’ รถบรรทุกไฟฟ้ารายแรกของประเทศไทย

หากพิจารณาภาพรวมตลาดการแข่งขันรถบรรทุกในเมืองไทย เรียกว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันที่ดุเดือดไม่น้อย เพราะมีผู้เล่นรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมานาน นั่นคือ อีซูซุ และฮีโน่

แต่เชื่อหรือไม่ว่า มีแบรนด์รถบรรทุกที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดเพียง 4 ปี นั่นคือ แบรนด์ CP FOTON บนความร่วมมือระหว่าง CP Group และ Foton Motor Group ซึ่งเป็นผู้นำอุตสาหกรรมรถยนต์เพื่อการพาณิชย์จากประเทศจีน มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด 17 ปีซ้อน ด้วยการเปิดตลาดรถบรรทุกไฟฟ้าเป็นรายแรกและครองความเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย

รถบรรทุกไฟฟ้าของ CP FOTON ให้ความสำคัญในเรื่อง Value for Money ทั้งในเรื่องคุณภาพสินค้า นวัตกรรมสุดล้ำ ราคาจำหน่ายที่จับต้องได้ และเชื่อมั่นได้ถึงการบริการหลังการขาย ทำให้รถบรรทุก CP FOTON ในปี 2565 บริษัทฯ เติบโตขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบจากปีก่อน และมั่นใจว่าปี 2566 จะมียอดขายเติบโตได้อีกเป็นเท่าตัว ที่สำคัญบริษัทฯ พร้อมแล้วสำหรับการจัดตั้งโรงงานการผลิตและประกอบรถบรรทุกในไทย ซึ่งจะสามารถเปิดโรงงานและเริ่มการผลิตได้ภายในช่วงกลางปี 2567 ที่กำลังการผลิต ปีละ 2,000-3,000 คัน ในช่วงต้น

Business+ ถอดบทเรียนพลิกเกมของแบรนด์ CP FOTON ซึ่งสามารถก้าวถึงตำแหน่ง ‘ผู้นำ’ รถบรรทุกไฟฟ้ารายแรกของประเทศไทยได้สำเร็จ

หากไล่เลียงถึงหัวใจสำคัญที่จะเข้ามามีส่วนต่อความสำเร็จ ในการทำตลาดรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ จะพบว่า หลัก ๆ ยังคงมาจากเรื่องของ Brand และการมี Product Line เพียงพอต่อการตอบโจทย์ของลูกค้า แต่สิ่งที่มีความสำคัญและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ได้แก่ ความคุ้มค่าและคุ้มทุนในการคืนทุนของผู้ประกอบการ

อย่างในกรณีของรถบรรทุกไฟฟ้าแบรนด์ CP FOTON เมื่อต้องลงสนามแข่งขันสู้กับผู้นำตลาดเดิม โดยคุณกฤษณะ เศรษฐธรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันสินค้าแบรนด์ CP FOTON เป็นที่ยอมรับในฐานะยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่มีความทันสมัย คุณภาพผลิตภัณฑ์ระดับ Best in Class มีรุ่นรถครอบคลุมทุกการใช้งาน ทั้งรถบรรทุกที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า ประกอบกับเรามีความจริงใจในการพัฒนาตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ไทยอย่างครอบคลุมรอบด้าน ซึ่งหากถอดคำกล่าวของคุณกฤษณะ เราจะเห็นถึง 4 กลยุทธ์สำคัญที่ทาง CP FOTON ให้ความสำคัญ นั่นคือ

1.คุณภาพผลิตภัณฑ์ระดับ Best in Class ที่ทาง CP FOTON มีความร่วมมือเชื่อมโยงกับแบรนด์ระดับโลก อาทิ เดมเลอร์ สำหรับการออกแบบและผลิตรถ, แบรนด์คัมมินส์ สำหรับการผลิตเครื่องยนต์ และการผลิตชุดส่งกำลังระดับโลกแบรนด์ ZF ซึ่งเป็นที่สุดแห่งระบบส่งกำลังระดับโลกจากเยอรมนี

2.เรื่องความพร้อมของเซลส์หรือทีมขาย ที่มีการพัฒนาขีดความสามารถแบบต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับการใช้งานของลูกค้า ผลักดันสินค้าสู่ช่องทางขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย CP FOTON มีเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายมาตรฐานทั่วประเทศกว่า 20 แห่ง

3.เรื่องของการทำ Marketing Activation เพื่อทำให้เกิด Brand Visibility ในทุกไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย

4.การสร้างระบบการจัดจำหน่ายและให้บริการที่แข็งแกร่ง ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจของการทำตลาด ผ่านเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศกว่า 20 แห่ง และศูนย์ดูแลซ่อมบำรุง-บริการอะไหล่อีก 8 แห่ง เพื่อช่วยขยายประสิทธิภาพงานบริการหลังการขาย โดยจะเข้าถึงพื้นที่ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง มีระบบ Call center ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งมีรถบริการเคลื่อนที่ (Mobile Service)

แน่นอนว่า การทำตลาดแบบ O2O จะเป็นการเชื่อมต่อประสบการณ์การให้บริการหลังการขายแบบ 24×7 ถือว่าเป็นการให้บริการที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกอุ่นใจได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ยังไม่นับรวมกับต้นทุนพลังงาน เมื่อเทียบกับรถบรรทุกที่เติมเชื้อเพลิงแบบสันดาป (น้ำมันดีเซล) ซึ่งว่ากันว่า ธุรกิจใดที่ควบคุมต้นทุนได้ดีที่สุด ธุรกิจก็จะมีผลกำไรมากเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า รถบรรทุกไฟฟ้าของ CP FOTON สามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิง (ขึ้นอยู่กับรถบรรทุกที่ใช้) เมื่อเทียบกับพลังงานน้ำมันแบบมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ หากมองถึงการสนับสนุนของพันธมิตรสำคัญอย่างโฟตอน ก็จะพบว่าแบรนด์เพิ่งฉลองครบรอบ 27 ปีไปเมื่อเร็ว ๆ ซึ่งได้เผยถึงกลยุทธ์ธุรกิจหลัก 5 ประการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันทะเยอทะยานของบริษัทฯ โดยเน้นที่การเสริมศักยภาพทางเทคโนโลยี โมเดลธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และการดำเนินงานในระดับโลก

ผู้บริหารโฟตอนบอกว่า แบรนด์จะมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์คาร์บอนคู่ขนาน ด้วยกลยุทธ์พลังงานใหม่ การสร้างระบบนิเวศดิจิทัล โลกาภิวัตน์ เพื่อเร่งสร้างนวัตกรรม ให้รับมือกับความท้าทายและโอกาสต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โฟตอน หวังเร่งการยกระดับนวัตกรรม โดยคว้าโอกาสที่มาพร้อมกับ “กลยุทธ์คาร์บอนคู่ขนาน” ซึ่งทางบริษัทฯ จะยังคงเดินหน้าคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และสร้างความสำเร็จต่อไป พร้อมตั้งเป้าในการปล่อยคาร์บอนถึงเพดานสูงสุด ภายในปี 2571 ก่อนจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในโรงงานหลักให้ได้ ภายในปี 2578 และห่วงโซ่มูลค่าเป็นกลางทางคาร์บอนได้ทั้งหมดภายในปี 2593

และไฮไลต์สำคัญคือ โฟตอนมีเป้าหมายในการเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานพาหนะพลังงานใหม่ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ตลาดในเมือง กลุ่มเมือง และตลาดโลจิสติกส์ระยะไกล โดย Product Line ของโฟตอน จะมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีไฟฟ้า 100% เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเทคโนโลยีไฮบริด เพื่อเร่งวางแผนผลิตภัณฑ์รถยนต์พลังงานใหม่ โดยตั้งเป้าให้รถยนต์พลังงานใหม่มีอัตราการเข้าถึงแตะ 20% ภายในปี 2568 และ 50% ภายในปี 2573

กรรมการผู้จัดการ CP FOTON กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการจัดตั้งโรงงานการผลิตและประกอบรถบรรทุกในไทย ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ซึ่งจะสามารถเปิดโรงงานและเริ่มการผลิตได้ภายในช่วงกลางปี 2567 โดยในเฟสแรกระยะ 5 ปี ขนาดของโรงงานรองรับการผลิตที่ปีละ 2,000 – 3,000 คัน และจะมีขยายเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่ง CP FOTON มองไทยคือฐานการผลิตที่สำคัญในการผลิตและประกอบรถ เพื่อจัดจำหน่ายในไทยและเป็นโรงงานหลักที่ผลิตรถเพื่อการพาณิชย์พวงมาลัยขวาเพื่อส่งออกจำหน่ายไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

ทั้งนี้ การตั้งโรงงานที่ไทยเป็นการตอกย้ำการลงทุนต่อเนื่องและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการที่เลือกใช้รถจาก CP FOTON ดังนั้นรถเพื่อการพาณิชย์มีโอกาสเติบโตที่ดีและต่อเนื่องในอนาคต เพราะธุรกิจขนส่งยังคงเดินหน้าเติบโต รวมถึงธุรกิจก่อสร้างที่จำเป็นต้องใช้รถบรรทุกด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าการลงทุนสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถของบริษัทในไทย จะเป็นการลงทุนที่มองเห็นการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน

จากข้อมูลทั้งหมด เราจะเห็นว่ารถบรรทุกไฟฟ้าแบรนด์ CP FOTON นอกจากจะเป็น ‘ผู้นำ’ รถบรรทุกไฟฟ้ารายแรกของประเทศไทยแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า ยังเป็นการ Disrupt แบบมีนัยสำคัญอีกด้วย 

.

เขียนและเรียบเรียง : วิทยา กิจชาญไพบูลย์

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #CPFOTON #รถบรรทุกไฟฟ้า