ถุงยาง

ทำไม ‘ถุงยางไทย’ ถึงเป็นแชมป์โลกส่งออก

‘ถุงยางอนามัย’ เป็นที่รู้จักกันในดีในรูปแบบเครื่องมือป้องกันตอนมีเพศสัมพันธ์ อาทิ ป้องกันโรคติดต่อ คุมกำเนิด เป็นต้น โดยปัจจุบันถุงยางอนามัยทำมาจากยางธรรมชาติ (Latex) ที่ได้ผ่านการทดสอบและตรวจสอบแล้วว่ามีความปลอดภัย และมีความทนทานตามมาตรฐานที่กำหนด

ล่าสุดปี 2565 ‘สนค.’ ได้วิเคราะห์การส่งออกสินค้า พบสินค้าไทยที่ครองตำแหน่งแชมป์ส่งออกโลกจาก Global Demand Dashboard ในเว็บไซต์คิดค้า .com โดย ถุงยางอนามัย เป็นแชมป์โลกสินค้าไทยที่โดดเด่น มีส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

โดยไทยส่งออกถุงยางอนามัยเป็นมูลค่า 272.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และเวียดนาม ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าของโลกพบว่า ไทยครองส่วนแบ่งตลาดโลกในถุงยางอนามัยเป็นอันดับ 1 สูงถึง 44% ของมูลค่านำเข้ารวมทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 0.3% รองลงมาเป็นจีน 12.8% และมาเลเซีย 10.8% ซึ่งสาเหตุที่ประเทศไทยครองอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกถุงยางอนามัยเนื่องมาจากบริษัทต่างชาติรายใหญ่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย

อีกทั้งคนในประเทศเริ่มมีการคุมกำเนิดกันมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าวิถีการดำรงชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง มีความหลากหลายทางเพศ ความต้องการมีบุตร และจำนวนบุตรที่ต้องการเปลี่ยนไป

ทั้งนี้จากการสำรวจตลาดถุงยางอนามัยที่จะเติบโตเร็วที่สุด คือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม

ใครได้ประโยชน์จาก ‘ถุงยาง’ ?

-ประเทศ โดยไทยสามารถผลิตน้ำยางข้นซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตถุงยางอนามัยได้มากที่สุดของโลก ทําให้มีความได้เปรียบด้านต้นทุนวัตถุดิบ และยังเป็นฐานการผลิตของผู้ผลิตถุงยางอนามัยรายใหญของโลก เพื่อจำหน่ายไปยังตลาดโลก จึงถือได้ว่าอุตสาหกรรมถุงยางอนามัยจัดเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีศักยภาพและสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้

-ชาวสวนยางพารา เนื่องจากถุงยางผลิตจากน้ำยางธรรมชาติ  ซึ่งเมื่อมีความต้องการใช้ถุงยางมากขึ้น ก็ต้องมีผลผลิตมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกัน โดยจุดนี้จะทำให้ราคาน้ำยางมีมูลค่าสูงขึ้น

ทั้งนี้หากพูดถึงผู้ผลิตถุงยางรายใหญ่ที่สุดในไทย ก็คงหนีไม่พ้น บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TNR โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงยางอนามัยจากน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งก่อนหน้าที่บริษัทจะมีแบรนด์ถุงยางอนามัยเป็นของตัวเองนั้น ได้เริ่มมาจากการรับจ้างผลิตถุงยางอนามัยให้กับลูกค้าทั้งในรูปแบบบริษัทและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงเจลหล่อลื่นด้วย จากนั้นบริษัทเองก็เริ่มที่จะเข้ามาผลิตสินค้าเป็นแบรนด์ของตัวเองในปี 2542 ภายใต้ชื่อแบรนด์ ONETOUCH และถัดมาในปี 2561 บริษัทยังได้ลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายแบรนด์ PlayBoy ใน 188 ประเทศทั่วโลกอีกด้วย

โดยหากย้อนดูผลประกอบการย้อนหลัง 5 จะพบว่า

ปี 2561 มีรายได้ 1,737 ล้านบาท กำไรสุทธิ 274 ล้านบาท

ปี 2562 มีรายได้ 1,765 ล้านบาท กำไรสุทธิ 100 ล้านบาท

ปี 2563 มีรายได้ 1,760 ล้านบาท กำไรสุทธิ 111 ล้านบาท

ปี 2564 มีรายได้ 1,659 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 465 ล้านบาท

ปี 2565 มีรายได้ 1,991 ล้านบาท กำไรสุทธิ 262 ล้านบาท

ซึ่งเมื่อเห็นผลประกอบการคงจะเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมปี 2564 ถึงพลิกขาดทุน ทั้งที่มีกำไรมาตลอด โดยสาเหตุที่บริษัทขาดทุนนั้นส่วนหนึ่งก็เพราะจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้การบริโภคลดลง เนื่องจากต้องเว้นระยะห่าง ห้ามอยู่รวมกัน และเทศกาลที่เป็นช่วงพีคของการขายก็ชะลอตัว นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบของการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาของเพลย์บอย

นอกจากผู้เล่นรายใหญ่อย่าง TNR แล้ว ในประเทศเราก็ยังมีผู้ผลิตถุงยางอนามัยรายอื่นอยู่ ได้แก่ บริษัท เอสเอสแอล แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จำกัด (แบรนด์ durex), บริษัท เมดิเท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อินโนลาเท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อีลาสเท็กซ์ จำกัด และ บริษัท โอกาโมโต รับเบอร์ โปรดักส์ จำกัด (แบรนด์ Okamoto)

สำหรับตลาดถุงยางในอนาคตอ้างอิงข้อมูลจาก technavio ระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 2565-2570 จะมีมูลค่าสูงถึง 5,117.84 ล้านเรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย (CAGR) ที่ระดับ 9.68% ดังนั้นหากไทยยังครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 44% จะเท่ากับว่าในช่วงปี 2565-2570 ไทยจะสามารถส่งออกได้สูงถึง 2,251.18 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดีปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตนั้นคือการรุกแพลตฟอร์ม e-commerce ให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นช่องทางออนไลน์ที่ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น อีกทั้งการค้าออนไลน์สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าและลดต้นทุนการจัดสินค้าคงคลัง ดังนั้นการมีสินค้าจำหน่ายหลากหลายช่องทางจะเป็นส่วนที่ช่วยผลักดันการเติบโตของตลาดถุงยางอนามัย

.

ที่มา : อินโฟเควส, SET, technavio

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ถุงยาง #ถุงยางอนามัย #มูลค่าตลาดถุงยาง #Condom