concert

 กรณีศึกษาจัด ‘คอนเสิร์ต’ ในไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง?

“อุตสาหกรรมดนตรี” ในรูปแบบการจัด ‘คอนเสิร์ต’ แบบออนไซต์กลับมาอีกครั้งในรอบ 2 ปี และผลตอบรับที่ประเมินค่าไม่ได้ในด้านจิตใจของผู้บริโภคที่โหยหาเสียงเพลงและดนตรีในบรรยากาศของงานคอนเสิร์ต หลังก่อนหน้านี้ต้องหยุดชะงักเนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทางผู้ประกอบการจึงได้มีการปรับแผนจัดคอนเสิร์ตผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (Live Streaming) หรือการพูดคุยกับศิลปินผ่านวิดีโอคอลแทน แต่การจัดออนไลน์ก็ทำให้ขาดอรรถรสในการรับชมอย่างที่ควรจะเป็น

โดยจากการสำรวจการไปเที่ยวคอนเสิร์ตแต่ละครั้งนั้น ไม่ได้มีแค่ค่าบัตรคอนเสิร์ต แต่จะมีทั้งค่ารถโดยสาร ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันก็ได้รับผลประโยชน์ด้วย

ซึ่งหากดูกรณีศึกษาวงไอดอล K-POP ชื่อดังเกาหลีใต้อย่าง BTS ที่ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์สู่คุณค่าทางเศรษฐกิจนั้น ตามข้อมูลปี 2564 จากสำนักข่าวนิคเคอิ ระบุว่า ทุกกิจกรรมงานบันเทิงของ BTS ทั้งจากการขายอัลบั้ม สินค้า และคอนเสิร์ต ฯลฯ ส่งผลต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ถึงปีละกว่า 5 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 0.5% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของเกาหลีใต้

ขณะที่สถาบันวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเกาหลี (Korea Cultural & Tourism Institute) ได้ทำการวิจัยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการจัดคอนเสิร์ต 1 รอบ หลังพ้นช่วงโควิด-19 คาดจะกระตุ้นการผลิต 619.70-1.22 ล้านล้านวอน อีกทั้งจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม 5,692-10,815 อัตรา

ทั้งนี้คอนเสิร์ตจึงถือเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่งทั้งทางตรงและทางอ้อม สอดคล้องกับข้อมูลของ Oxford Economics และ Munich Personal RePEc Archive (MPRA) ที่ชี้ตรงกันว่า คอนเสิร์ตมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2562 ธุรกิจคอนเสิร์ตสามารถสร้างรายได้ในสหรัฐฯ มากถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 9 แสนตำแหน่งอีกด้วย

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยบ้านเราที่ปัจจุบันผู้ประกอบการหันมารันวงการธุรกิจคอนเสิร์ตมากกว่าเดิมในอดีต และดึงศิลปินชั้นนำจากต่างประเทศที่มีฐานแฟนคลับค่อนข้างมากมาแสดง รวมถึงศิลปินไทยเองก็มีการจัดคอนเสิร์ตมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งในบางครั้งหนึ่งงานก็จัดรวมทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศ เรียกได้ว่าช่วยเพิ่มมูลค่าของงาน เพิ่มกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงช่วยให้เม็ดเงินสะพัดมากขึ้นกว่าเดิมซึ่งไม่เพียงแต่ในกรุงเทพ แต่รวมถึงตามต่างจังหวัดด้วย โดยส่วนมากมาจากการขับเคลื่อนของผู้บริโภคช่วงระหว่าง Gen Z และ Gen Y เป็นหลัก

ทั้งนี้จากมุมมองของ ‘Business+’ จุดที่สังเกตได้เลยในการจัดคอนเสิร์ตแต่ละรอบ จะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อต่างๆ มีผู้ชมมากกว่า 1-2 พันคน มีการเปิดบูธขายของตามจุดต่างๆ และมีพนักงานที่ค่อนข้างมาก นอกเหนือจากนั้นยังมีในเรื่องของที่พักในระแวกใกล้เคียง รวมถึงการโดยสารทั้งขาไป-ขากลับ ก็มีบริการเปิดสำรองที่นั่ง เรียกได้ว่าเป็นการกระจายรายได้ไปหลากหลายส่วน

ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลกลุ่มหางานบนแพลตฟอร์ม Facebook เมื่อมีการจัดคอนเสิร์ตแต่ละครั้งตำแหน่งที่ผู้ประกอบการประกาศรับมากที่สุดคือ “เจ้าหน้าที่สต๊าฟ” บุคคลที่คอยรันคิว หรือ คุมพื้นที่ คุมความเรียบร้อยต่าง ๆ โดยค่าจ้างนั้นจะให้เป็นรายวัน เรทเงินจ้างเริ่มตั้งแต่ 500 บาท เป็นต้นไป ตามแต่รูปแบบของงานและจำนวนวันที่จัด ปัจจุบันการจัดคอนเสิร์ตนั้นไม่เพียงจัดแค่รอบเดียว แต่จัดมากกว่า 2 รอบเป็นอย่างต่ำ แต่หากจัดตามต่างจังหวัดคนในพื้นที่ก็จะได้รับสิทธิในการถูกว่าจ้าง และมีโอกาสเพิ่มช่องทางรายได้เสริม

ขณะที่เรื่องของที่พักนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ช่วงมีคอนเสิร์ตนั้นจะเต็มเกือบทุกที่ ถึงขั้นมีการหารห้องพักกับคนที่ไม่รู้จัก หากมาดูคอนเสิร์ตงานเดียวกัน โดยส่วนมากสถานที่ที่จะได้รับประโยชน์นั้นคงหนีไม่พ้นที่พักแถวเมืองทองธานี จนเกิดการสร้างที่พักแบบ โฮมสเตย์ ในช่วงเวลานั้น คือ ปรับบ้านให้เป็นห้องพักเพื่อรองรับกลุ่มคนโดยเฉพาะ

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้เรื่องที่พักคือเรื่องของการเดินทาง การเดินทางในปัจจุบันก็แตกต่างจากอดีตเนื่องจากมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่จุดประกายจากงานคอนเสิร์ต เปิดธุรกิจสำรองที่นั่งให้กับคนที่ต้องการไปดูคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ โดยคิดเป็นค่าหัวรายบุคคล เริ่มตั้งแต่ 100 บาท นอกเหนือจากการเปิดสำรองที่นั่งแล้วนั้น ยังมีการเปิดให้เช่าที่จอดรถตามตึกคอนโดต่าง ๆ

สำหรับธุรกิจเช่ามือถือนั้นนับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทุกคนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากการไปชมคอนเสิร์ตแต่ละครั้งผู้บริโภคก็อยากได้ภาพที่คมชัด และต้องการเก็บบันทึกเรื่องราวช่วงเวลาดี ๆ ไว้ ซึ่งธุรกิจเช่ามือถือนั้นไม่เพียงแต่ผู้เช่าจะไปเช่าผ่านร้านตู้โทรศัพท์เท่านั้น แต่จะเช่าผ่านบุคคลตามช่องทางโซเชียลด้วย

สุดท้ายด้านการท่องเที่ยวก็เป็นผลพลอยได้หลังจบงานคอนเสิร์ต ซึ่งยิ่งผู้ประกอบการดึงศิลปินชั้นนำจากต่างประเทศเข้ามาจัดคอนเสิร์ตนั้น ผู้บริโภคที่ต้องการตามติดผลงานก็ต้องเดินทางมาดูการแสดง จากที่เห็นได้ชัดเมื่อมีการดึงศิลปินเกาหลีใต้มานั้นทุกคนที่เป็นแฟนคลับจากทั่วโลกก็จะมารวมตัวกันที่ในแห่งเดียว และเมื่อว่างเว้นจากการดูคอนเสิร์ตก็จะเดินทางท่องเที่ยวต่อ ซึ่งถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี

จากข้อมูลที่เราได้นำเสนอไปทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการจัด ‘คอนเสิร์ต’ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้อาจจะไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ๆ แต่ก็ถือเป็นแหล่งหาเงินสำหรับผู้ประกอบการ และยังถือเป็นการเปิดโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการในประเทศได้

ที่มา : กลุ่มงานสตาร์ฟ, CANDYCLOVER, Futuretrend

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #คอนเสิร์ต #เศรษฐกิจ #BTS