ไขปัญหาคาใจ พบสารก่อมะเร็งใน ‘โค้ก’ อันตรายร้ายแรงหรือแค่แพนิกไปเอง?

เชื่อว่าช่วงนี้ใครที่เป็นสาวกน้ำอัดลม โดยเฉพาะแบรนด์ชื่อดังอย่าง ‘โค้ก’ คงรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ กับข่าวที่กำลังเผยแพร่ในวงกว้างในขณะนี้ กับกรณีที่มีการระบุว่าพบสารก่อมะเร็งใน ‘โค้ก’ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในกลุ่มผู้บริโภคและตามมาด้วยการตั้งคำถามว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และสามารถเชื่อถือข้อมูลเหล่านนี้ได้มากน้อยเพียงใด วันนี้ Business+ จะพาทุกท่านไปหาคำตอบเพื่อไขปัญหาคาใจนี้ไปด้วยกัน

ก่อนอื่นคงต้องย้อนไปดูประเด็นต้นเรื่องที่นำมาซึ่งคำถามมากมาย รวมถึงความกังวลใจของใครหลาย ๆ คนว่ามีที่มาอย่างไร โดยต้องขอแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นเกี่ยวกับกรณีนี้ ได้แก่ 1.ประเด็นสาร E-150d 2.ประเด็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล แอสปาร์แตม (Aspartame) ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นต่างก็ถูกเชื่อมโยงกับโรคมะเร็งด้วยกันทั้งสิ้น เราจะเริ่มไขปัญหาไปทีละประเด็น โดยเริ่มจากประเด็นแรกกันก่อน

1.ประเด็นสาร E-150d
โดยประเด็นนี้เริ่มจากการที่มีผู้ใช้งานบัญชีแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ทำการแชร์ภาพผลิตภัณฑ์ ‘โค้ก’ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นหนึ่งในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้แก่สาร E-150d โดยระบุข้อความที่อ้างอิงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตด้วยเนื้อหาว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จำแนกสีย้อมคาราเมลแอมโมเนียมซัลไฟต์ (E150 d) ในกลุ่มสาร 249 ชนิดที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีการระบุข้อความว่า “อวสานโค้ก E150d ก่อมะเร็งในคน” ซึ่งจากโพสต์ดังกล่าว ทำให้มีการส่งต่อข้อมูลตาม ๆ กันในโลกโซเชียลเป็นจำนวนไม่น้อย และสร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบเครื่องดื่มชนิดนี้ไปพร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะสร้างความวิตกกังวลมากไปกว่านี้ Business+ จะขออนุญาตอ้างอิงบทความของ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ที่ได้โพสต์ข้อความไว้ในแฟนเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์’ โดยให้ความรู้ในเรื่องนี้ไว้ว่า

“IARC ไม่ได้บอกว่า สีคาราเมล E-150d เป็นสารก่อมะเร็งในคนนะครับ”

“มีคนส่งรูปนี้มาให้ดู พร้อมกับคำถามว่า จริงหรือไม่? ที่สาร E-150d เป็นสารก่อมะเร็งในคน ตามการตรวจสอบที่ดำเนินการโดย IARC ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งของ WHO (องค์การอนามัยโลก) โดยได้จำแนกสีย้อมแอมโมเนียมซัลไฟต์ (E-150d) ในกลุ่มสาร 249 ชนิดที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ !?  อย่างนี้ ก็กินโคล่าไม่ได้แล้วซิครับ อาจารย์ !?

คำตอบก็คือ ไม่จริงครับ IARC ไม่ได้จัดให้สาร E-150d ซึ่งเป็นสีผสมอาหารที่ทำจากคาราเมล (คือเอาน้ำตาลมาคั่ว ให้เกิดสีน้ำตาลไหม้) เป็นสารที่อาจจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ …

เพียงแต่ว่าในกระบวนการผลิตสารกลุ่มสีย้อมคาราเมลนี้ (มีหลายตัว) อาจเกิดสารใหม่ชื่อ 4-MEI หรือ 4-Methylimidazole ขึ้น ซึ่งตัวนี้ต่างหากที่ IARC จัดเอาไว้อยู่ในกลุ่ม 2B คือ Possibly carcinogenic to humans  (เช็คได้ที่เว็บ https://monographs.iarc.who.int/list-of-classifications)

แต่การอยู่ในกลุ่ม 2B นั้น คือแปลว่า อยู่ในกลุ่มที่พอจะมีหลักฐานในสัตว์ทดลองบ้าง แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดในมนุษย์ครับ .. ซึ่งหลักฐานดังกล่าว จะมาจากการให้หนูทดลองรับสารนี้เข้าไปเยอะๆ เป็นเวลานานๆ (ทั้งที่ปริมาณที่ใส่จริงในอาหารหรือน้ำอัดลมนั้น น้อยมากๆ)

ตามข้อมูลในวิกิ (https://en.wikipedia.org/wiki/4-Methylimidazole#Safety) ระบุว่า มีการทดลองให้หนูทดลองรับสาร 4-MEI  นี้ในปริมาณมาก (40 มิลลิกรัมขึ้นไป ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโล) ทุก ๆ วัน เป็นเวลา 2 ปีต่อกัน จึงมีเนื้องอกที่ปอดมากขึ้น และพวกที่ได้ปริมาณมากๆๆๆ (170 ม.ก.ต่อกิโลน้ำหนักตัว) จึงจะเกิดเนื้องอก ชนิดที่นำไปสู่มะเร็งปอดได้

สาร 4-MEI อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสีผสมอาหารคาราเมล กลุ่มที่ 3 (E-150c) และกลุ่มที่ 4 (E-150d) ระหว่างการให้ความร้อนกับน้ำตาลกับกลุ่มไนโตรเจน เพื่อให้เริ่มเกิดกระบวนการสร้างคาราเมลขึ้น หน่วยงานทางอาหารของยุโรป จึงมีการกำหนดให้ระดับของสาร 4-MEI ในสีผสมอาหารคาราเมล หมายเลข  E150c และ E150d ต้องมีไม่เกินกำหนด คือ ไม่เกิน 200 และ 250 มิลลิกรัม ต่อหนึ่งกิโลกรัมของสีคาราเมล E150c และ E150d ตามลำดับ (ที่ระดับความเข้มสี เท่ากับ  0.1)

ขณะที่หน่วยงานทางอาหารของสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ที่ ไม่เกิน 250 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของสีผสมอาหารคาราเมล .. โดยที่ FDA เชื่อมั่นว่า  มันไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงเฉียบพลันอะไร จากการได้รับ 4-MEI ในเวลาอันสั้น

สำหรับประเทศไทยเรา ก็มีการอนุญาตให้ใช้สีผสมอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสีคาราเมล กันอยู่แล้ว โดยจัดเป็น “สีธรรมชาติ”  ตัวอย่างเช่น ในอาหารกลุ่มขนมขบเคี้ยวนั้น อนุญาตให้ใช้สีคาราเมล รหัส INS-150d หรือสีคาราเมลกลุ่มที่ 4 ซัลไฟต์แอมโมเนียคาราเมล โดยให้มีปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้เจือปนในอาหารได้ถึง 5000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร และรหัส INS-150c หรือสีคาราเมลกลุ่มที่ 3 แอมโมเนียคาราเมล ให้มีปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้เจือปนในอาหารได้ถึง 5000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร เช่นกัน (จาก http://alimentum.fda.moph.go.th/…/Additive/CodexDetail…)

โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่าสีผสมอาหาร E150d หรือ Sulfite ammonia caramel นั้นจะมีการพบสาร 4-MEI ที่มีรายการการอาจจะทำให้เกิดมะเร็งได้ในหนูทดลองก็ตาม แต่ก็ต้องเมื่อหนูทดลองนั้นได้รับเป็นปริมาณมาก ๆ และเป็นเวลายาวนานก็ตาม และทำให้หน่วยงานทางอาหารของประเทศต่าง ๆ ถือว่า สีผสมอาหารคาราเมลนี้ ยังมีความเสี่ยงต่ำมากที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ และไม่จำเป็นต้องมีคำเตือนอยู่บนฉลากสินค้า เพียงแต่บริษัทผู้ผลิตจะต้องควบคุมให้ปริมาณสาร 4-MEI ไม่มากเกินกำหนดครับ

ข้อมูลจาก https://food-detektiv.de/en/additives/?enummer=Caramel%20IV และ https://www.nigay.com/…/Monograph_long_version_english.pdf

ดังนั้น หากอ้างอิงจากข้อมูลนี้ จะทำให้สามารถตัดประเด็นเรื่องสาร E-150d ที่อยู่ใน ‘โค้ก’ ก่อให้เกิดมะเร็งออกไปได้ เนื่องจากการจะรับสารก่อมะเร็งจาก E-150d จำเป็นต้องเกิดการบริโภคในปริมาณที่สูงมาก และหน่วยงานที่เชื่อถือได้หลายแห่งก็ยังมองว่า E-150d มีความเสี่ยงในระดับที่ต่ำมากในการจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์

2.ประเด็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล แอสปาร์แตม (Aspartame)

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง คือกรณีที่สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) หน่วยวิจัยมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าสารให้ความหวานแอสปาร์แตม (Aspartame) จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “เป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็ง” (Possible Carcinogen) ซึ่งในการยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ได้มีการระบุถึงเครื่องดื่มยอดนิยมอย่าง ‘โค้ก’ เอาไว้ด้วย โดยเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทศูนย์แคลอรี่ที่มีการใส่สารให้ความหวานชนิดนี้เป็นส่วนผสม ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับประเด็นนี้ แม้จะไม่สามารถปฏิเสธได้แบบ 100% ว่า สารให้ความหวานแอสปาร์แตม (Aspartame) ไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก ‘คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การ อาหารและเกษตร และองค์การอนามัยโลก แห่งสหประชาชาติ’ หรือ JECFA ที่เผยแพร่นับตั้งแต่ปี 1981 ระบุว่า แอสปาร์แตม (Aspartame) ปลอดภัยต่อการบริโภคในปริมาณจำกัดต่อวัน เช่น ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม (132 ปอนด์) จะต้องดื่มน้ำอัดลมประเภท Diet ระหว่าง 12-36 กระป๋อง (ขึ้นอยู่กับปริมาณแอสปาร์แตมในเครื่องดื่ม) ทุกวันจึงจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ซึ่งข้อมูลนี้ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางจากหน่วยงานกำกับดูแลระดับชาติ รวมถึงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัตถุเจือปนอาหารของ ‘WHO’ กำหนดปริมาณบริโภคสารแอสปาร์แตม (Aspartame) ต่อวันไว้ที่ 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักประมาณ 154 ปอนด์ (ประมาณ 70 กิโลกรัม) เทียบเท่ากับปริมาณแอสปาร์แตม (Aspartame) ใน Diet Coke ประมาณ 14 กระป๋อง

ขณะที่ ‘สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา’ มีขีดจำกัดรายวันที่สูงขึ้นเล็กน้อยที่ 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมสำหรับผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักประมาณ 132 ปอนด์ (ประมาณ 60 กิโลกรัม)

ดังนั้น ในการบริโภค ‘โค้ก’ ไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็งได้ง่ายนัก เพียงแต่ผู้บริโภคจำเป็นต้องบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน

ที่มา : reuters, nbcnews, nbcnews, Facebook อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #โค้ก #Coke #เจอสารก่อมะเร็งในโค้ก #ชัวร์ก่อนแชร์ #อาจารย์เจษฎ์