รู้หรือไม่? ไทยยังต้องนำเข้ามะพร้าว แม้จะเป็นพืชสำคัญกับนวัฒนธรรมไทยมายาวนาน

‘มะพร้าว’ เป็นพืชที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะหลังจากเกิด COVID-19 ซึ่งก่อให้เกิดกระแสการดูแลสุขภาพ เพราะน้ำมะพร้าวมีแคลอรี่ต่ำ และสามารถเพิ่มอิเล็กโทรไลต์ (แร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาระดับของเหลวในร่างกาย และช่วยให้ระบบที่สำคัญทำงานได้อย่างปกติ) ด้วยสรรพคุณเฉพาะตัวของมะพร้าวจึงทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็น Energy Drink จากธรรมชาติ

ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ผู้ส่งออกมะพร้าวในระดับ Top5 ของโลก เพราะยังติดปัญหาเรื่องผลผลิตที่น้อยกว่า และค่าแรงที่สูงกว่าผู้นำตลาดทำให้การส่งออกมีต้นทุนสูง แต่ประเทศไทย ยังมีจุดแข็งที่ขึ้นชื่อในเรื่อง ‘มะพร้าวน้ำหอม’ ซึ่งเป็นพันธุ์พิเศษที่สามารถปลูกได้ในไทยเท่านั้น และในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกมะพร้าวของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง

แต่รู้หรือไม่ว่า ไทยยังต้องอาศัยการนำเข้ามะพร้าวบางประเภทจากเวียดนาม และอินโดนีเซีย ถึงแม้ว่ามะพร้าวไทยจะเป็นหนึ่งในพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย และคนไทยรู้จักใช้เนื้อมะพร้าวในการบริโภคเป็นอาหารทั้งคาวและหวานในชีวิตประจำวันมาอย่างยาวนาน

หลายปีที่ผ่านมา ผู้นำการส่งออกมะพร้าวหลักของโลก ยังคงเป็น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ซึ่งมีความพร้อมในการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวมากกว่าประเทศไทยที่มีผลผลิตที่ต่ำกว่า รวมทั้งค่าจ้างแรงงานที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำการส่งออกมะพร้าวหลักของโลก

แต่ในมุมมองของผู้เล่นในอุตสาหกรรม รวมถึงนักวิเคราะห์ต่างมองว่า ผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยมีจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าวของไทยที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพที่ดีกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมที่มีรสชาติและกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ (สามารถปลูกได้เฉพาะในประเทศไทย) ทำให้ไทยมีจุดแข็ง และจะช่วยเสริมศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นทั้งเกษตร และอุตสาหกรรมชั้นนำ

เห็นได้จากมูลค่าการส่งออกมะพร้าวของไทยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2564 ไทยมีปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 646,188.17 ตัน คิดเป็นมูลค่า 23,134.83 ล้านบาท เติบโตจากปี 2563 จำนวน 16.92%

สำหรับแหล่งผลิตมะพร้าวในไทย 5 อันดับแรก มีดังนี้
1. ประจวบคีรีขันธ์ สัดส่วน 30%
2. ชุมพร สัดส่วน 17%
3. สุราษฏร์ธานี สัดส่วน 10%
4. ชลบุรี 9%
5. นครศรีธรรมราช 7%

หากมองเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมจะเห็นว่าเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมสูงมากจากตลาดโลก โดยมีการส่งออกได้ถึง 370 ล้านลูก หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท

ซึ่งพบข้อมูลว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์มะพร้าวมากที่สุดในโลก ด้วยสัดส่วนถึง 58% ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกไทย เพราะมีการเชื่อมต่อทางชายแดนที่ติดต่อกัน ทำให้การขนส่งโลจิสติกส์เป็นไปได้ง่ายกว่า และต้นทุนต่ำ ส่วนในกลุ่มยุโรปเรามีตลาดหลัก 3 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร เพราะมีร้านอาหารไทยจำนวนมากจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวปรุงอาหารและทำขนมหวาน

โดยคู่ค้าที่สำคัญของไทยสำหรับมะพร้าวทั้งกะลา ที่ไทยส่งออกไปมากที่สุด มีดังนี้
1. จีน 91.80%
2. ฮ่องกง 3.10%
3. ไต้หวัน 1.81%
4. สิงคโปร์ 1.70%
5. สหรัฐอเมริกา 0.73%

ส่วนมะพร้าวอ่อนและมะพร้าวอื่น ๆ ที่ไทยส่งออกไปมากที่สุด มีดังนี้
1. จีน 69.12%
2. สหรัฐอเมริกา 14.49%
3. ฮ่องกง 4.21%
4. ออสเตรเลีย 2.82%
5. สิงคโปร์ 2.46%

ถึงแม้การส่งออกมะพร้าวของไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยกลับยังต้องนำเข้ามะพร้าวเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ สาเหตุเป็นเพราะผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภค

โดยมะพร้าวที่ยังต้องนำเข้า คือ ผลผลิตมะพร้าวแกง ซึ่งเป็นมะพร้าวนิยมนำมาขูดเนื้อเพื่อคั้นน้ำกะทิ เพราะเนื้อหนา และแข็ง เหมาะกับการขูด

ปัจจุบันไทยมีการนำเข้า 2 กรอบ คือ องค์การการค้าโลก (WTO) และ AFTA โดยกรอบ WTO กำหนดให้ในโควตาปริมาณไม่เกินปีละ 2,317 ตัน ภาษี 20% ให้นำเข้า ม.ค.-ก.พ. และ ก.ย.-ธ.ค. และนอกโควตา ไม่จำกัดปริมาณ ภาษี 54%

ส่วนกรอบ AFTA การนำเข้าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ภายในประเทศ ห้ามนำไปจ้างกะเทาะนอกโรงงาน ต้องรายงานบัญชีสมดุลแปรสภาพมะพร้าวผลเป็นเนื้อมะพร้าวขาว และให้นำเข้าช่วง ม.ค.-ก.พ. และ ก.ย.-ธ.ค. โดยการนำเข้ามะพร้าวทั้ง 2 กรอบความตกลงต้องนำเข้า ณ ด่านสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น

โดยไทยได้นำเข้ามะพร้าวจากเวียดนาม ราว 58.04% และอินโดนีเซียราว 41.90% โดยในปี 2563 มีการนำเข้ามะพร้าวสูงถึง 357,022 ตัน มูลค่า 130.54 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4,699.44 ล้านบาท)

สำหรับสาเหตุที่เราต้องนำเข้าเป็นเพราะว่าถึงแม้ไทยจะสามารถปลูกมะพร้าวประเภทนี้ได้ แต่ก็มีช่วงที่ผลผลิตออกน้อยในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปี เนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ผลผลิตลดลง และบางส่วนไม่ได้คุณภาพ

ประกอบกับการระบาดของแมลงศัตรูที่สำคัญ ทั้งหนอนหัวดำ และแมลงดำหนามมะพร้าวส่งผลให้ผลิตลดลง ดังนั้น ภาครัฐฯ จึงอนุญาตให้ไทยนำเข้ามะพร้าวประเภทนี้ได้ ในช่วงเวลาที่กำหนด

แต่การนำเข้ามะพร้าวในบางครั้งก็ส่งผลกระทบต่อราคามะพร้าวในประเทศด้วยเช่นเดียวกัน โดยการนำเข้ามะพร้าวเข้ามาจะกดราคามะพร้าวในประเทศให้ตกต่ำลง โดยมะพร้าวผลใหญ่ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั่วประเทศปี 2564 อยู่ที่ 12.37 บาท/ผล ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องควบคุม และติดตามการนำเข้ามะพร้าวอย่างเข้มงวด ให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด

เพราะที่ผ่านมาภาคเกษตรกรยังคงได้รับผลกระทบจากการเปิดให้นำเข้ามะพร้าว โดยที่ แกนนำเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว ได้ร้องเรียน และยื่นข้อกำหนดว่า ทางการควรยุตินำเข้ามะพร้าวผล กะทิเข้มข้นและน้ำกะทิแช่แข็งทั้งในและนอกโควตา WTO จนกว่าราคามะพร้าวผลไม่ต่ำกว่า 15 บาท และในกรณีที่มะพร้าวผลในประเทศราคาต่ำกว่า 12 บาทต่อผล จะต้องต้องหยุดการนำเข้าทันที

เมื่อมองไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทยนั้น ‘Business+’ มองว่า เราต้องอาศัยการพัฒนาทั้งซัพพลายเชน เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ในส่วนของต้นน้ำ หรือเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว ควรเลือกปลูกสายพันธุ์ที่มีความต้องการในตลาดโลกสูง คือ มะพร้าวน้ำหอม (เพราะความต้องการในตลาดโลกสูง และไทยเป็นประเทศเดียวที่ผลิตได้) รวมถึงมะพร้าวที่ใช้สำหรับแกงที่เป็นวัตถุดิบในการคั้นกะทิ (ซึ่งเป็นประเภทที่ไทยต้องนำเข้าอยู่ในขณะนี้) นอกจากนี้ไทยยังประสบปัญหาในบางประเทศมีเงื่อนไขกีดกันการค้า โดยอ้างว่ามีการนำลิงกังมาใช้ในการเก็บผลผลิต ซึ่งไปเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ป่า ในส่วนนี้ทางภาครัฐควรเข้ามาสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่ดีให้กับประเทศ และควบคุมให้อยู่ในกฏหมายกำหนด

ในแง่ของผู้ประกอบการกลางน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะนำผลผลิตมะพร้าวมาแปรรูปขั้นต้น เช่น น้ำมะพร้าว กะทิ หรือการสกัดน้ำมันมะพร้าว ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อขยายธุรกิจตอบรับกับความต้องการของตลาดโลกในอนาคต ด้วยการวิจัยและพัฒนาด้วยการจับมือกับพันธมิตร สู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบได้ โดยเฉพาะกับธุรกิจด้านสุขภาพ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จได้จากกระแสความนิยมของมะพร้าวในตลาดโลก

ขณะที่ในส่วนของปลายน้ำ ผู้ประกอบการควรเน้นไปที่การนำนวัตกรรมมาแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าว เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมะพร้าว ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมในต่างประเทศเป็นอย่างมาก หรือแม้กระทั่งการแปรรูปเป็น อาหารและขนม หรือเครื่องสำอาง เพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้า

เมื่อพูดมาถึงการแปรรูปขั้นสุดท้ายแล้ว เราพบข้อมูลว่า ผู้ประกอบการไทยได้เจาะตลาดเข้าไปในประเทศจีน และไต้หวัน ด้วยการเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย คือ เครื่องดื่ม

หนึ่งในแบรนด์น้ำมะพร้าวบรรจุขวดของไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการขยายตลาดมาไต้หวันในระยะนี้คือ น้ำมะพร้าวยี่ห้อ IF ที่มีจำหน่ายไปมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก รวมถึงจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน และสามารถทำยอดขายรวมได้มากกว่า 50 ล้านขวดในปี 2564

โดยกลยุทธ์ที่แบรนด์แห่งนี้ใช้มีความน่าสนใจและเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยอย่างมาก ถึงแม้ว่าตลาดสินค้าเครื่องดื่มบรรจุขวดของไต้หวันจะเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง การจะเข้าสู่ตลาดอาจต้องใช้งบประมาณด้านการตลาดที่สูงมาก ดังนั้น IF จึงเลือกใช้กลยุทธ์อย่าง ‘การสร้างความร่วมมือแบบ CoBranding กับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงของไต้หวัน’ เพื่อเป็นทางลัดในการเข้าสู่ตลาด

ซึ่งมีพันธมิตรอย่าง LOUISA COFFEE ซึ่งเป็นเชนร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงและมีสาขามากกว่า 500 แห่งทั่วไต้หวัน ที่อยู่ในช่วงการผลักดันกาแฟน้ำมะพร้าว ที่ถือเป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในตลาดไต้หวัน

จากการที่ผู้นำแบรนด์มีความสนใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพอยู่แล้ว และเน้นการเลือกใช้วัตถุดิบสำหรับการทำกาแฟที่จะต้องไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพและต้องมีรสชาติที่เข้ากันได้กับกาแฟของบริษัท จึงมีความสนใจที่จะนำน้ำมะพร้าวมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำกาแฟ เนื่องจากเห็นว่ามีความเหมาะสำหรับผู้ที่รักการออกกำลังกาย และได้เห็นตัวอย่างจากสหรัฐฯ และยุโรป จึงมีความสนใจสินค้าแบรนด์ IF ของไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักในตลาดอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว โดยเห็นว่าเป็นสินค้าที่สอดคล้องกับเทรนด์ในการบริโภคเกี่ยวกับการออกกำลังกายและรักษาสุขภาพเป็นอย่างมาก

อีกทั้งรสชาติก็ยังเข้ากับกาแฟของบริษัทได้ดี LOUISA จึงตัดสินใจสร้างความร่วมมือกับแบรนด์ไทยรายนี้ ในการทำสินค้ากาแฟน้ำมะพร้าวร่วมกันโดยมีทั้งแบบอเมริกาโน่และลาเต้ ซึ่งสินค้าใหม่นี้ประสบความสำเร็จในการทำตลาดไต้หวันเป็นอย่างมาก เพราะตั้งแต่มีการเปิดตัวสินค้าสู่ตลาดในเดือนกันยายน 2564 จนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา LOUISA สามารถจำหน่ายกาแฟน้ำมะพร้าวได้รวมมากกว่า 500,000 แก้วเลยทีเดียว

อีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจสำหรับการเข้าไปบุกของผู้ประกอบการคนไทย คือตลาดมะพร้าวในประเทศจีน เพราะมะพร้าวเป็นหนึ่งในผลไม้ 22 ชนิด ที่จีนมีการอนุญาตนำเข้าจากไทยและช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา และมะพร้าวไทยเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีน เพราะรสชาติที่อร่อยถูกปากและเนื้อมีความหนา โดยที่จีนมีการนำเข้ามะพร้าวจากไทยมากเป็นอันดับ 1

สำหรับผู้ประกอบการไทยหากต้องการตีตลาดเครื่องดื่มมะพร้าว ต้องแสวงหาช่องทางในการเจาะตลาด และต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยให้มีคุณภาพ หลากหลาย นอกจากนี้ยังต้องวางแผนทางการตลาด ด้วยการอาศัยความร่วมมือกับผู้รีวิวสินค้า หรือแบรนด์เครื่องดื่มในประเทศนั้น ๆ เพื่อในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทย และส่งสินค้าไทยสู่สายตาของผู้บริโภคด้วยการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เหมาะกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศนั้น ๆ รวมไปถึงต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามเทศกาลสำคัญอยู่ตลอดเวลา

หนึ่งในแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศจีน คือ TikTok นอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ความบันเทิงที่มีเนื้อหาสาระทุกประเภทแล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกใช้ทำการตลาดและสร้างยอดขายให้กับหลาย ๆ แบรนด์ในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การบุกตลาดจีน และไต้หวันยังคงมีปัจจัยท้าทายที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือการที่ กรมศุลกากรจีน แบนสินค้านำเข้าจากไต้หวันจากประเด็นร้อนระหว่าง “สหรัฐ-จีน-ไต้หวัน” ที่อาจจะสั่นสะเทือนเศรษฐกิจ และการค้าโลก โดยขณะนี้มีรายงานว่าจีนเริ่มแบนสินค้าหลายชนิด เช่นอาหารทะเล ผลไม้ โดยใช้ข้ออ้างว่าใช้ยาฆ่าแมลงมากเกินไป , ห้ามปลาแช่แข็งเพราะพบเชื้อ COVID-19 ซึ่งการทำสงครามการค้าครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อการบริโภคที่ลดลง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย และต้นทุนดำเนินงานที่สูงขึ้น

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : DITP

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจ #น้ำมะพร้าว #มะพร้าว #coconut