หลังจากก่อนหน้านี้ ‘Business+’ ได้นำเสนอภาพรวมอุตสาหกรรมสินค้ามะพร้าวในตลาดโลกไปแล้ว ในบทความ มูลค่าตลาดมะพร้าวโลก อีก 4 ปี 2 หมื่นล้านเหรียญ ‘ไทย’ กับทางเลือกที่ส่งออกแค่ ‘จีน’ ข้อมูลจาก ‘Globenewswire’ คาดว่า ในปี 2570 มูลค่าการตลาดมะพร้าวทั่วโลกจะสูงถึง 20,630 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ช่วงระหว่างปี 2564-2570 ที่ 7.3% โดยประเทศจีนถือเป็นอันดับ 1 ของการส่งออกมะพร้าวของไทย
ทั้งนี้เมื่อเห็นภาพใหญ่ไปแล้ว เราจะพามาเจาะลึกข้อมูลลงไปอีกขั้น ซึ่งภายหลังจากการสำรวจบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พบ 3 บริษัท ที่ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำผลไม้ที่มีส่วนประกอบของมะพร้าว อีกทั้งมีการส่งออกไปยังต่างประเทศที่ไม่ได้ขายแค่ในไทย โดยสินค้านั้นสามารถพบเห็นได้ตามท้องตลาด คือ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPCO, บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE และ บริษัท โรแยล พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ PLUS
สำหรับ TIPCO ก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักในนาม บริษัท สับปะรดไทย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2519 ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักคือ สับปะรด แต่ต่อมาได้มีการขยายการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจน้ำผลไม้พร้อมดื่มจึงมีผลไม้ที่หลากหลายมากขึ้น และมะพร้าวก็คือหนึ่งในนั้น โดยบริษัทได้เห็นถึงความสำคัญของมะพร้าวที่มีทั้งแร่ธาตุและเกลือแร่จากธรรมชาติที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย
อีกทั้งผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวได้รับความนิยมอย่างสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศยุโรป บริษัทจึงไม่ได้ผลิตแค่เพียงน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม แต่ได้ขยายสายผลิตภัณฑ์จากผลไม้เข้าสู่ผลิตภัณฑ์อาหาร โดยในปีที่ผ่านมามีการลงทุนในสายการผลิตกะทิบรรจุในกระป๋อง น้ำมะพร้าวบรรจุในกระป๋องและในกล่องกระดาษปลอดเชื้อ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวและกะทิของทิปโก้ได้มีการส่งออกไปแล้วทั่วโลก ซึ่งตลาดหลักเป็นประเทศจีน เกาหลี สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
โดยในปี 2565 บริษัทมีรายได้ขาย 2,895 ล้านบาท ซึ่งส่วนแบ่งหลักมาจากหมวดเครื่องเดื่ม 57% และ ยอดขายผลิตภัณฑ์ พืช ผัก และผลไม้ 42% เหตุมาจากสินค้ามีการส่งออกเพิ่มขึ้น
ด้าน MALEE เริ่มต้นมาจากการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท โรงงานมาลีสามพราน จำกัด เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2521 ปัจจุบันดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับผลไม้กระป๋องและผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ยูเอชทีและพาสเจอร์ไร ภายใต้ตราสินค้า “มาลี” โดยผลิตภัณฑ์มาลีส่งออกไปทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ เช่น ภูมิภาค CLMV, จีน, ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา
สำหรับผลิตภัณฑ์มะพร้าวของมาลีนั้น จะเป็นแค่ครื่องดื่มอย่างเดียว ไม่มีการแปรรูปเป็นอย่างอื่นเหมือนคู่แข่งที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ แต่ทั้งนี้ก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยในปี 2565 บริษัทมีรายได้ขาย 6,537 ล้านบาท ซึ่งยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 16% ต่างประเทศเพิ่มขึ้น 29% สินค้าผลิตภัณฑ์มาลี ได้รับความนิยมมากขึ้นจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และแคมเปญการตลาด ซึ่งกลุ่มน้ำมะพร้าวพรีเมียม มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 22.1% จากปีก่อน
ส่วน PLUS นั้น ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2541 โดยแต่ดั้งเดิมเพื่อมาจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ด้วยแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการแข่งขันสูงมากและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในปี 2554 บริษัทจึงได้หันมาทำธุรกิจในการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำผลไม้ น้ำมะพร้าว น้ำนมมะพร้าวซึ่งเป็นที่นิยมสูงมากในต่างประเทศ บริษัทจึงได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจรับจ้างผลิตและจำหน่ายน้ำมะพร้าวเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ
ปัจจุบันสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกกว่า 106 ประเทศ โดยประเทศที่ส่งออกไปนั้น ได้แก่ อเมริกาเหนือ 6 ประเทศ, อเมริกาใต้ 11 ประเทศ, แอฟริกา 22 ประเทศ, ยุโรป 27 ประเทศ, ตะวันออกกลาง 14 ประเทศ, เอเชีย 22 ประเทศ และ ออสเตรเลีย 4 ประเทศ
ในปี 2565 บริษัทมีรายได้ขาย 1,428.2 ล้านบาท โดยเครื่องดื่มกลุ่มน้ำมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตอบรับสูงสุด ซึ่งลูกค้าทวีปอเมริกาและเอเชียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับสัดส่วนยอดขายต่างประเทศกว่า 99% เป็นกลุ่มลูกค้าอเมริกา, ตะวันออกกลาง และเอเชีย ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี เป็นต้น
ทั้งนี้หากลองสังเกตทั้ง 3 บริษัท ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตหลักนั้นมาจากมะพร้าว เช่นเดียวกับการส่งออกก็หนีไม่พ้นการส่งไปประเทศจีน ซึ่งก็หมายความได้ว่าจีนถือเป็นผู้บริโภคมะพร้าวรายสำคัญอันดับ 1 ของไทยและความต้องการก็ยังคงมีเพิ่มขึ้นเสมอตามจำนวนประชากรในปัจจุบัน
.
ที่มา : เว็บไซต์บริษัท, SET, efin