มะพร้าว

มูลค่าตลาดมะพร้าวโลก อีก 4 ปี 2 หมื่นล้านเหรียญ ‘ไทย’ กับทางเลือกที่ส่งออกแค่ ‘จีน’

‘มะพร้าวน้ำหอม’ พืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่สามารถประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวานในชีวิตประจำวัน เป็นที่นิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยในปี 2565 ไทยส่งออกมะพร้าวน้ำหอม ราว 416,808 ตัน มูลค่า 277.1 ล้านเรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.7%

สำหรับประเทศที่ส่งออกไปมากสุดคือประเทศจีน อยู่ที่ 376,548 ตัน มูลค่า 241.2 ล้านเรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 49.3% โดยไทยส่งออกไปจีนมีสัดส่วนสูงถึง 87% ของมูลค่าการส่งออกมะพร้าวน้ำหอม รองลงมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา 4.7% และฮ่องกง 2.1% ตามลำดับ ซึ่งมะพร้าวน้ำหอมที่ส่งออกไปนั้นทางประเทศปลายทางก็จะนำไปแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ

โดยหากพูดถึงอุตสาหกรรมสินค้ามะพร้าวในตลาดโลกทั้ง น้ำมันมะพร้าว น้ำมะพร้าว กะทิ มะพร้าวอบแห้ง เป็นต้น อ้างอิงจากผลการศึกษาข้อมูลของ globenewswire ระบุว่า ในปี 2563 มูลค่าตลาดมะพร้าวทั่วโลกอยู่ที่ 12,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดจะสูงถึง 20,630 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2570 คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ช่วงระหว่างปี 2564-2570 ที่ 7.3%

ซึ่งการเติบโตของตลาดที่โดดเด่นนั้นเนื่องจากผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับอาหารที่มาจากพืช โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคเริ่มหันไปใช้วิถีชีวิตมังสวิรัติ ดังนั้นอาหารที่ย่อยง่าย มีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีคุณค่าทางโภชนาการ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันความต้องการผลิตภัณฑ์มะพร้าวทั่วโลก

ทั้งนี้หากดูในแง่ของภาคการผลิตทั่วโลกอเมริกาเหนือและเอเชียเป็นภูมิภาคการผลิตหลักที่สำคัญที่สุด ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 68% ของส่วนแบ่งการตลาดในแง่ของรายได้มากกว่า 41% ของผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ถูกผลิตในตลาดอเมริกาเหนือ โดยอเมริการเหนือยังครองตำแหน่งผู้บริโภคผลิตภัณฑ์มะพร้าวมากที่สุดในโลกด้วย

นอกจากนี้จากรายงานของ MMR ได้ทำการวิเคราะห์ความต้องการผลิตภัณฑ์มะพร้าวในปี 2570 ระบุว่า อาหารและเครื่องดื่มมีความต้องการเป็นอับดับหนึ่ง รองลงมาเป็นเครื่องสำอาง ถัดมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และสุดท้ายคือสิ่งทอ

สำหรับประเทศไทยบ้านเรานั้นยังคงมีการเน้นการส่งออกไปยังประเทศจีน ด้วยจีนเป็นแหล่งดั้งเดิมในการส่งออกมะพร้าวอันดับ 1 ของไทย แต่ภูมิภาคที่มีการบริโภคมะพร้าวมากเป็นดับหนึ่งกลับเป็นฝั่งอเมริกาเหนือ โดยเหตุผลหลักที่จีนเลือกนำเข้ามะพร้าวของไทยนั้นเป็นเพราะจะนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เช่น นมมะพร้าว กาแฟมะพร้าว เป็นต้น ด้วยมะพร้าวของไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นที่นิมยมชาวต่างชาติ และเป็นที่ชื่นชอบสูงในผู้บริโภคชาวจีนนั่นเอง ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือ การขนส่งที่ค่อนข้างคล่องตัว ทั้งทางบก ทางเรือ และทางราง

ขณะที่ทางฝั่งอเมริกาเหนือที่ไทยยังไม่ค่อยสามารถทำการตลาดได้นั้น เนื่องจาก 90% ของมะพร้าวมาจากประเทศอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, อินเดีย, บราซิล และศรีลังกา ทั้งนี้อาจจะมาจากราคามูลค่าต่อผลที่ส่งออก หรือระยะทาง ที่ทำให้เราเป็นรอง ซึ่งถ้าไทยจะปรับเปลี่ยนเฉลี่ยการตีตลาดเพื่อการส่งออกไปยังอีกประเทศใหม่ให้มากขึ้นนั้นคงต้องมีการวางแผนโดยกระบวนการแรกต้องมาจากการสนับสนุนจากภาครัฐ และต้องมีการทำตลาดสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องขั้นตอนกฎหมายต่าง ๆ รวมถึงต้องผ่านกรรมวิธีที่มีความละเอียดละอ่อนมากขึ้น ซึ่งถ้าหากสามารถเจาะตลาดอเมริกาเหนือได้นั้น ก็จะส่งผลดีต่อชาวสวนมะพร้าว รวมถึงประเทศก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยจากภาพจำมะพร้าวที่เราคุ้นตาและเห็นบ่อย ๆ คือ มะพร้าวอบแห้ง น้ำมันมะพร้าว แต่ในอนาคตหากได้ขยายตลาด สร้างตลาดใหม่ ก็อาจจะมีการแปรรูปสินค้าหลากหลายมากขึ้น คาดจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะพร้าวได้เป็นอย่างดี และจะทำให้ประชาชนหันมาสนใจในการทำการเกษตรมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลิตลดการนำเข้า

.

ที่มา : tpso, globenewswire, MMR, aghires

.
เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #coconut #มะพร้าว #น้ำมะพร้าว