Citibank ธนาคารผู้คิดค้นนวัตกรรมการเงินรายแรกของโลก

หากพูดถึง ‘Citibank’ ภาพลักษณ์เมืองไทยคงโดนเด่นในผลิตภัณฑ์ ‘บัตรเครดิต’ เพราะถือเป็นธนาคารที่มีผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตให้เลือกมากระดับต้น ๆ

แล้วรู้หรือไม่ว่า Citibank คือธนาคารที่คิดค้นตู้ ATM ของโลกและนวัตกรรมบริการธนาคารผ่านคอมพิวเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง และปัจจุบันก็เป็นธนาคารแห่งนี้ก็มีสาขาอยู่กระจายอยู่มากมายทั่วโลก

เรื่องราวของ Citibank น่าสนใจอย่างไร?

ย้อนกลับไปในปี 1812 First National City Bank เปิดตัวขึ้นในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยพ่อค้าชาวนิวยอร์กและมีผู้บริหารคนแรกคือคุณ Samuel Osgood ที่เข้ามาทำธุรกิจในเวลานั้น ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ‘Citibank’ จดจำง่ายมาจนถึงปัจจุบัน

โดยในช่วงแรก ๆ ที่ธนาคารแห่งนี้เปิดตัวมีกลุ่มลูกค้าเป็น พ่อค้า, เจ้าของธุรกิจ, นักธุรกิจต่างชาติ ที่ต้องการบริหารการเงินให้กับตนเอง จนกระทั่งธุรกิจดำเนินมาจนถึงปี 1863 Citi ได้เข้าร่วมระบบธนาคารของสหรัฐอเมริกา และด้วยระยะเวลาเพียง 5 ปีธนาคารแห่งนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

พร้อมทั้งยังเป็นธนาคารที่เริ่มใช้กฎหมายของรัฐบาลกลางให้ได้รับอนุญาตให้เป็นธนาคารแห่งแรกที่สามารถก่อตั้งในต่างประเทศได้ ทำให้เริ่มขยายกิจการไปตามหัวเมืองใหญ่ ๆ อาทิ ลอนดอน เซี่ยงไฮ้ และกัลกัตตา

และด้วยอายุที่มีมายาวนานกว่า 210 ปี ทำให้ธนาคารแห่งนี้ผ่านวิกฤตโลกมามากมาย อาทิ สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 , วิกฤตหนี้สาธารณะในลาตินอเมริกา, วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และอื่น ๆ

ที่น่าสนใจคือจุดแข็งอะไร ที่ทำให้ธนาคารแห่งนี้เป็นที่รู้จักและไว้วางใจไปทั่วโลก?

ธนาคารแห่งนี้มีจุดแข็งคือ ‘นวัตกรรมการเงินล้ำสมัย’ ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั้น ๆ เอื้อให้การเงินของทุก ๆ คนเป็นเรื่องง่าย จะเห็นได้จากการคิดค้น ‘ตู้ ATM เป็นรายแรกของโลก’ เพื่อเอื้ออำนวยให้ลูกค้าได้เข้าถึงบริการเงินสดที่ไม่จำเป็นต้องเข้าธนาคาร

หรือจะเป็นบริการการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต 24 ชั่วโมง เพราะในปี 1995 ธนาคารแห่งนี้อนุญาตให้ลูกค้าเข้าถึงบัญชีออนไลน์ได้โดยตรง ซึ่งเวลานั้นคนเราสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราทำให้การเงินบนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องง่ายขึ้นเรื่อย ๆ

และถึงแม้ว่าธนาคารแห่งนี้จะดูเหมือนแข็งแกร่งและมั่นคงพอสมควร แต่ในปี 2008 ที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จากภาวะฟองสบู่แตกในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และการผิดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพรม์และสินเชื่อส่งผลให้มีดอกเบี้ยลอยตัวตั้งแต่ปี 2005-2006

Citibank ถือเป็นหนึ่งในธนาคารที่วิกฤตหนักที่สุด เพราะจำเป็นจะต้องเลิกจ้างพนักงานเกือบทั่วโลก เพื่อจะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและมุ่งหวังที่จะนำเงินที่เสียไปกลับคืนมาและสร้างเสถียรภาพให้กับธนาคารอีกครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อเวลาผ่านไปธนาคารแห่งนี้ก็เริ่มฟื้นคืนมาเรื่อย ๆ จนในปัจจุบันแบ่งบริษัทออกเป็น 2 บริษัท ได้แก่

– Citicorp Inc. จัดการงานธนาคารแบบดั้งเดิมทั้งหมด

– Citi Holdings Inc. จัดการส่วนที่ไม่ใช่ธนาคารเช่นนายหน้าและการจัดการสินทรัพย์

ซึ่งรายได้กว่า 26% ของบริษัทมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 26 ของโลก โดยมีมูลค่าบริษัท Citigroup Inc. อยู่ที่ 90,549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อีกทั้ง ในปัจจุบันธนาคารแห่งนี้ ให้บริการแก่ลูกค้า 200 ล้านบัญชี กระจายอยู่ใน 160 ประเทศทั่วโลก ทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการของ Citibank สามารถเชื่อมต่อเข้ากันได้ง่าย ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหน ๆ ก็สามารถค้นหาบริการได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย Citibank ได้เข้ามาเริ่มธุรกิจตั้งแต่ปี 1967 ด้วยชื่อ The Commercial Credit Corporation (Thailand) Ltd. ซึ่งเป็นธุรกิจด้านการให้กู้ยืม สำหรับรถยนต์และสินค้าอุปโภคบริโภค และภายหลังจากนั้นเริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในฐานะผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิต และธุรกิจต่าง ๆ ที่ครบวงจรมากขึ้น

และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ธนาคาร UOB ได้เข้าซื้อธุรกิจธนาคาร Citibank ในประเทศไทย ทำให้ในปัจจุบัน UOB เป็นผู้จัดหาผลิตภัณฑ์และบริการให้แก่ลูกค้าแต่ Citibank ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และการบริการนั้น ๆ เช่นเดิม

ท้ายที่สุดของบทความนี้ต้องยอมรับว่า ธนาคารรายใหญ่อย่าง Citibank ก็สร้างจุดแข็งด้านนวัตกรรมที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเป็นหลัก ผสมเข้ากับธุรกิจที่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ตลอด ทำให้ยังเป็นธนาคารที่ทั่วโลกต่างไว้วางใจได้นั่นเอง..

ที่มา : Citibank, successstory, finance.yahoo

เขียนและเรียบเรียง : อโญศิริ สุระตโก

 

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

 

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

 

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ซิตี้แบงก์ #บัตรเครดิต #Citibank