หมดยุค CEO อยู่บนหอคอย ‘สาระ ล่ำซำ’ ใช้ทีมเวิร์กบริหาร MTL สู่เป้าหมาย Go for Health

“MTL จะไม่มี CEO นั่งอยู่บนหอคอยอีกต่อไป ไม่สั่งการชี้นิ้วเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลงมาลุยทำงานร่วมกันกับคนทำงาน เพราะการคิดแบบ Outside In ลูกค้าจะมองบุคลากรของบริษัทฯ เป็นก้อนสีบานเย็นเดียวกันทั้งหมด”

 

MTL ภายใต้การบริหารงานของคุณสาระ ล่ำซำ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งในแง่ของผลประกอบการและความไว้วางใจของลูกค้า แผนต่อไปของคุณสาระ คือ การบริหาร MTL ที่ทำให้ด้านสุขภาพเป็นที่โดดเด่นในใจลูกค้า มียอดเบี้ยประกันภัยของสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพเติบโตและเป็นผู้นำในตลาดประกันสุขภาพ ด้วยเป้าหมาย “MTL Go for Health” มุ่งส่งมอบบริการตั้งแต่ปกป้องไม่ให้มีการเจ็บป่วย (Protection และ Prevention) ไปจนถึงดูแลเมื่อมีการเจ็บป่วย ซึ่งครอบคลุมในทุก Journey ของลูกค้า

 

บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตในไทยที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และเป็น    แบรนด์ที่ผู้บริโภคไว้วางใจมาโดยตลอด ทั้งนี้ในปัจจุบัน ภาคธุรกิจประกันชีวิตได้เผชิญกับความท้าทายตลอดเวลาจากความผันผวนของสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพเศรษฐกิจโลก เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนของธุรกิจประกันชีวิตส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่าง COVID-19 ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ ส่งผลให้คนตระหนักในการทำประกันสุขภาพมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันในปี 2565 บริษัทฯ มีอันดับของผลงานเบี้ยสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพเป็นอันดับ 2 ของธุรกิจ

 

สำหรับ MTL แล้วมองว่าเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงเรื่อง Mindset ของแต่ละวัยที่เปลี่ยนแปลงไป สังคมผู้สูงวัย และเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ ถือว่าเป็นโอกาสและความท้าทายทางธุรกิจในเวลาเดียวกัน MTL จึงต้องมีหลักการบริหารงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) เพราะโดยทั่วไปแล้วผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตมักเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีระยะเวลาคุ้มครองยาวนานหลายปี

 

หากมองจากความต้องการของลูกค้าเพื่อตอบโจทย์ได้ตรงจุดแบบ Outside In จะเห็นได้ว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นโจทย์ท้าทายของอุตสาหกรรมประกันภัย เช่น กฎหมายและมาตรฐานใหม่ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจ เช่น มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 (IFRS 17) ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2025  ซึ่งส่งผลเรื่องวิธีการบันทึกบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง จึงต้องวางกลยุทธ์ว่าจะปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไร สำหรับ MTL ได้เตรียมพร้อมและรับมือกับมาตรฐานบัญชีใหม่นี้มาอย่างต่อเนื่องมากว่า 4-5 ปี

 

โดยได้จัดเตรียมแพลตฟอร์มในการจัดเก็บข้อมูลรายการธุรกรรมทางบัญชี เตรียมระบบการบันทึกบัญชีใหม่ วางแผนที่จะเริ่มใช้ IFRS 17 จริงตั้งแต่ปี 2023 ถึงแม้ว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2025 ก็ตาม ในส่วนของความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน MTL มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio : CAR) ที่แข็งแกร่งมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ พยายามควบคุมไม่ให้ค่า CAR ต่ำกว่าระดับ 280% ซึ่งสูงกว่าที่ทางภาคธุรกิจกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ที่ระดับ 140%

 

“การบริหารบริษัทประกันชีวิตถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายดีสำหรับผม ทั้งในเรื่องการบริหารให้บริษัทประกันชีวิตเติบโตได้อย่างยั่งยืนทั้งในแง่ของผลประกอบการ และพอร์ตการลงทุนของบริษัทที่จะต้องเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จะต้องเกิดจากการบริหารจัดการและจับโอกาสทางธุรกิจจากแนวคิด Outside In ตอบโจทย์สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ท่ามกลางสถานการณ์รอบตัวที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผมมองว่า MTL สามารถปรับตัวกับกระแสเทรนด์ต่าง ๆ หรือความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ดี

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นของ MTL เป็น Health Provider เน้นพอร์ตของสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา MTL มีผลงานของสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพเติบโตค่อนข้างดี” คุณสาระกล่าว

กลยุทธ์การบริหารฉบับคุณสาระ

คุณสาระต้องการให้ MTL เป็นบริษัทประกันชีวิตที่มีความโดดเด่นในด้านของสุขภาพ จึงวางเป้าหมาย “MTL Go for Health” โดยจะมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ครอบคลุมในทุก Journey ของลูกค้าแบบ End to End Process ตั้งแต่การปกป้องไม่ให้มีการเจ็บป่วย (Protection และ Prevention) ไปจนถึงดูแลเมื่อมีการเจ็บป่วย ซึ่งการที่จะเห็นภาพความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง จะต้องเปลี่ยนแนวคิดเดิม ๆ แบบ Inside Out เป็น Outside In เป็นหลัก มองหา Pain Point ของลูกค้าและคิดนอกกรอบเพื่อเสนอแนวทางที่ตอบโจทย์และสามารถแก้ Pain Point ได้เป็นอย่างดีแต่ยังต้องอยู่ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมของบริษัทฯ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามคุณสาระมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ขององค์กร คือ “คน” โดยจะต้องทำให้คนในองค์กรเห็นภาพเดียวกันทั้งหมดก่อน จากนั้นค่อยว่าเป้าหมายและทิศทางการเติบโตไปด้วยกัน

 

ในมุมมองของคุณสาระ มองว่าเรื่องความชัดเจนอย่างนโยบายของบริษัท และ Vision ขององค์กร ยังจำเป็นต้องมี แต่ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมด้วย โดยที่ผู้บริหารจะต้องทำหน้าที่ทั้งบริหาร และลงมาทำงานร่วมกันกับคนทำงาน

 

“ในวันนี้ MTL จะไม่มี CEO ที่นั่งอยู่บนหอคอยอีกต่อไป ไม่สั่งการชี้นิ้วเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความเป็นทีมเวิร์ก ลงมาลุยทำงานร่วมกันกับคนทำงานเพราะการคิดแบบ Outside In ลูกค้าจะมองบุคลากรของบริษัทฯ เป็นก้อนสีบานเย็นเดียวกันทั้งหมด”

 

นอกจากนี้คุณสาระยังมองว่าในปัจจุบันในแต่ละภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับโอกาสทางธุรกิจมากกว่าเดิม แต่อยู่ที่ว่าจะสามารถคว้าโอกาสและก้าวข้ามความท้าทายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่

 

“ต้องปรับ Mindset ของเราก่อน อย่ามองว่าเป็นปัญหา แต่ควรมองเป็นโอกาสมากกว่า ซึ่งผมพยายามถ่ายทอดแนวคิดนี้ให้กับคนของ MTL โดยที่จะต้องหาวิธีการต่าง ๆ (Action Plan) และมุ่งมั่นทำให้สำเร็จ ต้องไม่ยอมแพ้ (Never Give Up) หากไม่สำเร็จก็ถือว่า เราได้องค์ความรู้ใหม่ และบทเรียนใหม่จากประสบการณ์ ที่สามารถนำมาต่อยอดให้เราแข็งแกร่งมากขึ้นในอนาคตได้” คุณสาระกล่าว

 

ดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลควบคู่ไปกับ Core Business

คุณสาระมองว่าในหลาย ๆ องค์กรเริ่มดำเนินการเรื่อง ESG ที่ประกอบด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) มากขึ้น สำหรับ MTL ได้มีการเขียนแผนของการดำเนินการเรื่องความยั่งยืนที่จะต้องสอดคล้องกับ Core Business หลักของบริษัทฯ ที่ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การพัฒนาแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองที่ตอบโจทย์และการลงทุน

 

เพราะฉะนั้น MTL จึงออกแบบผลิตภัณฑ์หรือแบบประกันที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืน เช่น สังคมผู้สูงวัย โดยมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่รองรับอายุขัยที่มากขึ้น และขยายความคุ้มครองไปจนถึงอายุ 99 ปี เป็นต้น ซึ่งทำแบบประกันดังกล่าวถือเป็นการช่วยเหลือในส่วนของสังคมด้วย

 

ในแง่ของการลงทุน MTL จะมุ่งเน้นไปที่การลงทุนให้กับองค์กรที่มีส่วนร่วมต่อการดูแลรักษาและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนในองค์กรที่มีนโยบายที่จะพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน การลงทุนในตราสารหนี้สีเขียว หรือ การลงทุนในตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) เป็นต้น ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม

“เราให้ความสำคัญกับสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลอย่างเต็มที่ แต่ที่สำคัญคือจะต้องสอดคล้องกับ Core business ของ MTL ซึ่งจะทำให้ความยั่งยืนนั้นอยู่ใน DNA ของ MTL”

 

ในแง่ของพนักงาน MTL เราให้ความสำคัญกับการ Reskill ให้กับตัวแทนขายให้มากขึ้น เพราะหากเป็นตัวแทนประกันยังจำเป็นต้องได้รับการเสริมศักยภาพ ทักษะ และความรู้ที่เกี่ยวกับการขาย และเรื่องอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมในเรื่องการขายและบริการ เพื่อให้ตัวแทนสามารถแนะนำและให้คำปรึกษาทางการเงินได้เป็นอย่างดี

 

ขณะที่ MTL ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง MTL Click ซึ่งเป็นศูนย์รวมบริการต่าง ๆ ให้ครอบคลุมกับความต้องการของลูกค้าแบบสะดวก ครบ จบในแอปเดียว ถือว่ามีส่วนช่วยด้านสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอนไดออกไซด์จากการลดการใช้กระดาษและจากการไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา ซึ่งยังสอดคล้องกับ Core business ของ MTL ทั้งนี้ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน MTL Click รวมกว่า 700,000 คน

 

หลักการและแนวความคิดของคุณสาระในเรื่องของความยั่งยืนที่เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับ Core business ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม และสร้างประโยชน์และความยั่งยืนให้กับ MTL อย่างชัดเจน สิ่งนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณสาระขับเคลื่อน MTL ให้สามารถก้าวผ่านทุกความท้าทาย และพร้อมเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ จนได้รับรางวัลสุดยอดผู้นำองค์กรแห่งปี THAILAND TOP CEO OF THE YEAR 2022 จากนิตยสาร BUSINESS+ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA