เปิดวิสัยทัศน์ “ชวลิต ทิพพาวนิช” แห่ง IRPC เมื่อกุญแจสู่ความยั่งยืน คือการสร้างความสมดุลกับทุกฝ่าย

 

ชวลิต ทิพพาวนิช ขับเคลื่อน IRPC สู่องค์กรสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว

(To Shape Material and Energy Solutions in Harmony with Life)

หลังเข้ารับตำแหน่งผู้นำสุงสุด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ‘ชวลิต ทิพพาวนิช’ ได้แสดงวิสัยทัศน์องค์กร มุ่งสู่การเป็นองค์กร “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว (To Shape Material and Energy Solutions in Harmony with Life)” ที่มากกว่าการเป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมัน

สอดรับกับทิศทางของโลกในอนาคต เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกรูปแบบ สร้างความยั่งยืนและเกิดประโยชน์แก่ประเทศ

แน่นอนว่า วิสัยทัศน์ใหม่นี้ คุณชวลิตตั้งเป้าหมายมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) มากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2568 และเพิ่มเป็น 3.5 หมื่นล้านบาทในปี 2573

‘วิสัยทัศน์’ เปรียบเสมือนเข็มทิศในการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งตลอดการทำงานในตำแหน่งสูงสุดที่ IRPC สังคมได้เห็นแผนเร่งตอบสนอง และรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ รวมถึงความท้าทายใหม่ ๆ

ภายใต้การนำของคุณชวลิต ก็ต้องยอมรับว่า CEO คนที่ 6 ของ IRPC สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้เป็นอย่างดี จนทำให้องค์กรประสบความสำเร็จอย่างสูง

ด้วยผลงานที่ประจักษ์ ส่งผลให้คุณชวลิต ทิพพาวนิช คว้ารางวัล THAILAND TOP CEO OF THE YEAR 2022 สาขา ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ไปครอง

“การตอบโจทย์ตัวเองคือการตอบโจทย์ขั้นต่ำสุด แต่มันไม่ทำให้เรายั่งยืนได้ มันต้องตอบโจทย์ระบบนิเวศทั้งหมดที่เราอยู่ด้วย”

คุณชวลิต ทิพพาวนิช เปิดเผยให้เราฟังว่า สำหรับปี 2564 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่น่าภูมิใจของ IRPC สามารถทำลายสถิติด้านผลประกอบการ โดยมีกำไรสูงถึง 14,505 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังเป็นปีที่บริษัทเห็นความชัดเจนของกลยุทธ์ใหม่ ต่อยอดจากความสำเร็จในการเป็นผู้นำในด้านปิโตรเคมีครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยในปีนี้ IRPC มุ่งทำธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) มากกว่าเดิม ทั้งในด้านนวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงานเพื่อชีวิตที่ลงตัว เพื่อให้เห็นว่าธุรกิจของ IRPC ไม่ได้จำกัดอยู่ที่โรงกลั่นและปิโตรเคมี

คุณชวลิต เผยวิสัยทัศน์ คือ “TO SHAPE MATERIAL AND ENERGY SOLUTIONS IN HARMONY WITH LIFE” หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เป็นการแถลงถึงเป้าหมาย เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้เห็นความมุ่งมั่นของ IRPC ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้คนอย่างยั่งยืน

เพื่อฉายภาพให้เห็นวิสัยทัศน์ใหม่ของ IRPC คุณชวลิต ได้แบ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ภาคธุรกิจ บริษัทฯ เปลี่ยนมุมมองใหม่จากการวางเป้าหมายเพื่อให้ได้กำไรสูงที่สุด เป็นการสร้างธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ต้องมีมาตรฐานในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม นำสภาพแวดล้อมต่าง ๆ มาตั้งเป็นโจทย์ และสร้างธุรกิจใหม่เป็น Material Solution ให้ได้

ขณะเดียวกันต้องให้ข้อมูลทิศทางองค์กรอย่างเปิดเผยทั้งการบริหารธุรกิจเดิม และการสร้างธุรกิจใหม่เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจทิศทางของบริษัท

“เราพยายามดูเรื่องนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) นอกจากนี้ เรายังมองเรื่องพลังงานไฮโดรเจน รวมถึงการสนับสนุนวัตถุดิบโรงงานประกอบแบตเตอรี่รถ EV

เราอยากนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน ตอบโจทย์ประเทศ เช่น วัสดุทางการแพทย์ ที่ภาครัฐมุ่งเน้นให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ใน EEC ถ้าประเทศไทยไม่ทำ คนก็จะไปหาตัวเลือกอื่นในต่างประเทศ ซึ่งการทำเพื่อชุมชน ธุรกิจเราก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย ประเทศก็จะเติบโต”

ถัดมา คือ สังคม ที่ผ่านมา IRPC ประสบความสำเร็จกับการตอบโจทย์สังคม ผ่านการจัดตั้งบริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด (Innopolymed) ร่วมกับ ปตท. เข้ามาพัฒนาด้านการแพทย์โดยฉพาะ และได้ออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นโซลูชันใหม่ ๆ

ทั้งหน้ากากอนามัย ชุดป้องกันทางการแพทย์ (PPE) รวมถึงผ้าปูเตียง ที่ได้รับการทดสอบผลิตภัณฑ์จาก วชิรแล็บ เพื่อสังคม เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับความสบายใจในตัวผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานในระดับโลก

นอกจากนี้ยังเดินหน้าพัฒนาขาเทียมรูปแบบใหม่ โดยใช้องค์ความรู้ด้านการพิมพ์แบบ 3 มิติ (3D Printing) รวมไปถึงการพัฒนามือเทียมและนิ้วเทียม

และเรื่องสุดท้าย คือ สิ่งแวดล้อม ซึ่ง IRPC ยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ เช่น โซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ในแหล่งน้ำจืด คุณชวลิต กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในด้านสิ่งแวดล้อมว่า ต้องยอมรับว่ากลุ่มพลังงาน เป็นกลุ่มที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในประเทศ

ขณะที่ทั่วโลกมีประชามติร่วมกันว่าจะช่วยลดภาวะโลกร้อน ประเทศไทยก็มีเป้าว่าจะไปถึง Carbon Neutral ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065

ในปีนี้ IRPC มีแผนที่ชัดเจนในด้านความยั่งยืน โดยใช้กลยุทธ์ ERA ประกอบด้วย

Eco – operation & technology คือ ภาคการผลิตต่าง ๆ จะต้องลดการใช้พลังงานต่อหน่วย รวมไปถึงการทำ Zero Waste to Landfill จะทำอย่างไรเพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งวัสดุเหลือใช้ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม

Reshape Portfolio คือ ทุกการลงทุนในธุรกิจใหม่ทุกธุรกิจ จะต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากกว่าธุรกิจก่อนหน้า

Absorption and offset คือ การหาวิธีเก็บในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือที่เรียกว่า Carbon Capture and Storage เพื่อจัดเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตไปกักไว้ในชั้นธรณีอย่างปลอดภัย และเพื่อไม่ให้คาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้อีก

“จากแผนดังกล่าวจะทำให้เราลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ภายในปี 2030 โดยเทียบพื้นฐานจากปี 2018 เป็น Carbon Neutral ในปี 2050 และเป็น Net Zero ในปี 2060 ซึ่งเร็วกว่านโยบายของประเทศไทย 5 ปี”

นอกจากกลยุทธ์การบริหารธุรกิจแล้ว การบริหารองค์กรภายใน ถือเป็นอีกจุดเด่นในการสร้างการเติบโตของ IRPC ซึ่งคุณชวลิตมองว่า คนเป็นทรัพยากรที่มีค่า และการพัฒนาคนเป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า

จึงนำกลยุทธ์ 3B มาใช้ Build คือการสร้างคนเก่าให้มีศักยภาพมากขึ้น Buy สรรหาบุคลากรเข้ามาตอบโจทย์ทิศทางของธุรกิจใหม่ และ Borrow ยืมบุคลากรจากบริษัทในเครือเข้ามาเสริมการทำงานชั่วคราว

นอกจากนี้ IRPC ยังใช้คอนเซปต์ ดี เก่ง กล้า เข้ามาบริหารองค์กร โดยคุณชวลิตกล่าวว่า พนักงานจะต้องมีความซื่อสัตย์เป็นอันดับแรก เพราะหากไม่มีก็จะไม่สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับสังคม และเพื่อนร่วมงาน  เพราะฉะนั้นจะทำอะไรต้องตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ต้องเข้าใจเป้าหมายองค์กรและศักยภาพของตัวเอง ถ้าทำได้ก็จะเป็นผู้นำในด้านการเปลี่ยนแปลง ต้องทำงานร่วมกัน เพราะปัจจุบันโจทย์ธุรกิจมันเป็น Moving Target ที่คู่แข่งพัฒนาไปเรื่อย ๆ พนักงานจะต้องเข้าใจ ต้องติดตามผลงานตัวเอง และคอยช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน เพื่อตอบโจทย์ภาพใหญ่องค์กรให้เกิดความยั่งยืน

ทั้งหมดนี้ คือกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืนของของแม่ทัพใหญ่แห่ง IRPC ที่ฉายภาพให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการบริหารธุรกิจที่คิดแต่การตอบโจทย์ด้านตัวเลขอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป แต่จะต้องสร้างความสมดุลกับทุกฝ่าย ทั้งธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“การตอบโจทย์ตัวเองคือการตอบโจทย์ขั้นต่ำสุด แต่มันไม่ทำให้เรายั่งยืนได้ มันต้องตอบโจทย์ระบบนิเวศทั้งหมดที่เราอยู่ด้วย” คุณชวลิต กล่าวทิ้งท้าย

 

สำหรับใครที่ต้องการรับฟังบทสัมภาษณ์จากคุณสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สามารถรับชมได้ที่ : https://youtu.be/LwFIHd5-Qzg

 

เขียนและเรียบเรียง : ทรงกลด แซ่โง้ว

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #IRPC