CBG

เปิดธุรกิจในมือตระกูล ‘เสถียรธรรมะ’ นอกจากเครื่องดื่ม ‘คาราบาว’ มีอะไรอีกบ้าง?

ช่วงต้นเดือน พ.ย. 2566 กลุ่ม ‘คาราบาว กรุ๊ป’ ได้เปิดตัวเบียร์ 2 แบรนด์ใหม่ คือ “คาราบาว” และ “ตะวันแดง” เข้าสู้ในตลาดเครื่องดื่มเบียร์ที่มีมูลค่าสูงถึง 2.6 แสนล้านบาท (เป็นตลาดเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย)  ซึ่งต้องอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาดมากมายเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดที่มี 2 เจ้าใหญ่อย่าง ‘บุญรอด’ และ ‘ไทยเบฟ’ ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอย่างเหนียวแน่นหลายทศวรรษ

อย่างไรก็ตามยังมีอีกมุมที่น่าสนใจสำหรับกลุ่ม คาราบาว กรุ๊ป เพราะยังมีอีกหลายธุรกิจที่บริหารอยู่ และสร้างรายได้ให้กับเสถียรธรรมะ อีกมากมาย  โดย ‘กลุ่มคาราบาว’ มีธุรกิจหลักๆ คือ การทำเครื่องดื่มชูกำลัง , มินิมาร์ท , ร้านของชำ รวมไปถึงการผลิตขวดให้แก่บริษัทอื่นๆ ดังนี้

CBG

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ทำรายได้สูงสุดอันดับที่ 1 ณ ปี 2566 คือ CJ MORE (ซีเจ มอร์) ร้านซูเปอร์คอนวีเนี่ยนสโตร์ สร้างรายได้สูงถึง 35,557 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และในปัจจุบัน มีสาขาให้บริการกว่า 1,000 สาขา ครอบคลุมถึง 42 จังหวัดใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย และยังมีเป้าหมายขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง และยังมีแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย

อันดับที่ 2 คาราบาว (Carabao Energy Drink) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในชื่อ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG สร้างรายได้ในปีที่ผ่านมา 19,455 ล้านบาท ซึ่งประกอบธุรกิจ ผลิต ทำการตลาด จำหน่าย และบริหารจัดการการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มอื่น ๆ อย่างครบวงจร นอกจากเครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแล้ว ยังมีเครื่องดื่มวิตามินอย่างเช่น Woody C-Lock

อันดับ 3 คือ ร้านโชว์ห่วย ‘ร้านถูกดี มีมาตรฐาน’ ซึ่งปัจจุบันเปิดมาแล้ว 5,000 สาขา กว่า 60% กระจายตัวอยู่ในภาคตะวันเฉียงเหนือ ส่วนที่เหลือเป็นภาคกลาง ภาคเหนือ และกรุงเทพ-ปริมณฑล ซึ่งในแง่การลงทุนแล้ว มีงบการลงทุนไม่ต่ำกว่าระดับ 5,000 ล้านบาท และสร้างรายได้กว่า 17,521 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

อันดับที่ 4 บริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส จำกัด (APG) ซึ่งทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายขวดและผลิตภัณฑ์จากแก้วทุกชนิดผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสร้างรายได้  2,188 ล้านบาทในปี 2565

อันดับที่ 5 บริษัท เอเชีย แพ็คเกจจิ้ง แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (APM) ทำธุรกิจผลิตกระดาษลอนลูกฟูกและกระดาษแข็งลอนลูกฟูกผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ สร้างรายได้ 584  ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

และสุดท้ายคือ เบียร์คาราบาว – ตะวันแดง ซึ่งเปิดตลาดในช่วงเดือนพ.ย. 2566 และคาดหวังว่าจะเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดเบียร์ ขึ้นแท่นอันดับ 3 รองจาก บุญรอด และไทยเบฟ อย่างไรก็ตามการจะแข่งขันในตลาดเบียร์บ้านเรานั้นไม่ง่าย เพราะปัจจุบันถูกมองว่ากินรวบโดย 2 บริษัท ซึ่งส่วนแบ่งตลาดสูงสุดคือ ‘เบียร์ลีโอ’ ของ บุญรอด สัดส่วน 44.8% รองลงมาคือ ‘เบียร์ช้าง ของไทยเบฟ ด้วยสัดส่วน 31.2% ตามด้วย ‘เบียร์สิงห์’ จากบุญรอด สัดส่วน 11.2% ดังนั้น การที่คาราบาว จะเข้าสู่ตลาดนี้ได้จึงต้องอาศัยทั้งการเป็นสปอนเซอร์งานแข่งขันกีฬา และช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้าถึงคนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบการตลาดที่ค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ทั้งบุญรอด และไทยเบฟ มีช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเข้าถึงมือผู้บริโภคได้มากกว่า แต่คาราบาวนั้น จะขายอยู่ในช่องทางร้านค้าของตนเอง อย่าง ‘ซีเจมอลล์’ และ ‘ถูกดีมีมาตรฐาน’ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสาขาอยู่เขตต่างจังหวัด และรอบนอกกรุงเทพมหานครฯ

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ในช่องทางอื่นๆ ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG  : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #ตลาดเบียร์ #คาราบาว #ตะวันแดง