ส่องรายได้ผู้ผลิต ‘ปลากระป๋อง’ เจ้าดัง หลังไทยขึ้นแท่นส่งออกเบอร์ 2 ของโลก

หนึ่งในอาหารคู่ครัวที่แทบทุกบ้านมักจะมีติดไว้เสมอ คือ ‘ปลากระป๋อง’ เพราะนอกจากจะเป็นอาหารสำเร็จรูปที่ง่ายต่อการรับประทานแล้ว ยังมีราคาที่ย่อมเยา อีกทั้งยังสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้อีกหลากหลายเมนู ทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ได้เป็นสินค้าที่อิงกับกระแส แต่เป็นสินค้าที่อิงต่อความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า สินค้าปลากระป๋องและแปรรูป ถือเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทย ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และอันดับ 1 ของอาเซียน โดยในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2566) ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดโลก มูลค่า 1,145.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA (เขตการค้าเสรี) มูลค่า 351.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ ญี่ปุ่น ขยายตัว 22.7% ชิลี ขยายตัว 96.7% เปรู ขยายตัว 183.1% จีน ขยายตัว 25.7% กัมพูชา ขยายตัว 11.9% และฟิลิปปินส์ ขยายตัว 138.1%

โดยสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปที่ส่งออกไปตลาดคู่ FTA ทุกกลุ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง ขยายตัว 17.2% คิดเป็นสัดส่วน 51.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA ปลาแปรรูป อาทิ ปลาทูน่าที่ทำให้สุกแล้ว คาร์เวียร์ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล ขยายตัว 18.2% สัดส่วน 32.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ขยายตัว 8.4% สัดส่วน 4.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA และปลากระป๋องอื่นๆ ขยายตัว 6.2% สัดส่วน 11.1% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA ทั้งนี้ ในปี 2565 ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 931.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.6% จากปีก่อนหน้า ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ชิลี และเกาหลีใต้

จากข้อมูลข้างต้น วันนี้ Business+ จึงจะพาทุกท่านไปสำรวจข้อมูลผลประกอบการของผู้ผลิต ‘ปลากระป๋อง’ เจ้าดังของไทย ว่าในช่วง 2 ปีล่าสุดนี้มีทิศทางอย่างไร โดยได้หยิบยกแบรนด์ปลากระป๋องสัญชาติไทยมาจำนวน 3 เจ้าที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ได้แก่ สามแม่ครัว, ปุ้มปุ้ย และ โรซ่า ดังนี้

สามแม่ครัว
‘สามแม่ครัว’ เป็นแบรนด์ปลากระป๋องภายใต้ บริษัท รอแยลฟู้ดส์ จำกัด ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 โดยสิ่งที่ทำให้แบรนด์ ‘สามแม่ครัว’ ยืนหยัดในตลาดปลากระป๋องมาได้อย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ทางแบรนด์ยังมีการประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำกลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้เพื่อดึงดูดผู้บริโภคอยู่เสมอ อาทิ การลดราคาสินค้า, การจัดโปรโมชั่นในรูปแบบของการซื้อ 1 แถม 1 ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสนใจเป็นอย่างดี ทำให้แบรนด์ ‘สามแม่ครัว’ เป็นแบรนด์ปลากระป๋องอันดับต้น ๆ ที่คนไทยนึกถึง

สำหรับผลประกอบการในปี 2564-2565 ของ บริษัท รอแยลฟู้ดส์ จำกัด พบว่า
ปี 2564 มีรายได้อยู่ที่ 4,579,15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.31% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,227.68 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 459.72 ล้านบาท ลดลง 11.11% จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 517.19 ล้านบาท

ปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,275.55 ล้านบาท ลดลง 28.46% จากปี 2564 และมีกำไรสุทธิ 238.78 ล้านบาท ลดลง 48.06% จากปี 2564

ปุ้มปุ้ย
‘ปุ้มปุ้ย’ เป็นแบรนด์ปลากระป๋องภายใต้ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 โดยสิ่งที่ทำให้ ‘ปุ้มปุ้ย’ ประสบความสำเร็จ คือการให้ความสำคัญในทุก ๆ ขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งมีการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่ทำให้แบรนด์ ‘ปุ้มปุ้ย’ มีความโดดเด่นอีกอย่างคือการมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจากวัตถุดิบที่แตกต่าง เช่น ปลา หอย และเนื้อไก่ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างดียิ่งขึ้น

สำหรับผลประกอบการในปี 2564-2565 ของ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) พบว่า
ปี 2564 มีรายได้อยู่ที่ 1,605.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.76% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,547.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 33.48 ล้านบาท ลดลง 17.80% จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 40.73 ล้านบาท

ปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,468.45 ล้านบาท ลดลง 8.53% จากปี 2564 และมีกำไรสุทธิ 13.28 ล้านบาท ลดลง 60.32% จากปี 2564

โรซ่า
‘โรซ่า’ เป็นแบรนด์ปลากระป๋องภายใต้ บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2529 เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ทำการตลาดอย่างหนักผ่านการโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์แบบพื้นฐาน หรือการดึงเอาคนที่มีชื่อเสียงมาร่วมแสดงในโฆษณา อีกทั้งยังมีราคาการตั้งราคาสินค้าที่ไม่สูงมาก ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกให้กับผู้บริโภค ทำให้แบรนด์ ‘โรซ่า’ เป็นอีกหนึ่งแบรนด์สัญชาติไทยที่ยืนตลาดมาได้อย่างยาวนานถึงปัจจุบัน

สำหรับผลประกอบการในปี 2564-2565 ของ บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด พบว่า
ปี 2564 มีรายได้อยู่ที่ 4,305.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.26% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,129.55 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 471.71 ล้านบาท ลดลง 15.41% จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 408.70 ล้านบาท

ปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,636.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.67% จากปี 2564 และมีกำไรสุทธิ 276,24 ล้านบาท ลดลง 41.43% จากปี 2564

โดยจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 บริษัท แม้จะเป็นผู้ผลิต ‘ปลากระป๋อง’ สัญชาติไทยที่โลดแล่นอยู่ในธุรกิจนี้อย่างยาวนาน แต่ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจมาได้จนถึงปัจจุบัน สิ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เพราะผู้ผลิตเหล่านี้ไม่หยุดที่จะพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค และยังมีการทำการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้แบรนด์เป็นที่รู้จักอยู่เสมอ จนทำให้สามารถเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่ผู้บริโภคจะนึกถึงเมื่อต้องการซื้อ ‘ปลากระป๋อง’ ดังนั้น การทำธุรกิจ ไม่เพียงแค่การให้ความสัมพันธ์กับคุณภาพของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่การวางกลยุทธ์ในด้านต่าง ๆ ก็ถือเป็นจำเป็นอย่างมากที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก และดึงดูดลูกค้าให้เกิดการซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัท

ที่มา : InfoQuest, pumpuibrand, datawarehouse, rozaprompt

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #โรซ่า #สามแม่ครัว #ปุ้มปุ้ย #ปลากระป๋อง