โอกาสเจ้าของแบรนด์ขนมไทยสู่ ‘ชิคาโก’ เมืองศูนย์กลางโรงงานลูกกวาดของโลก

อุตสาหกรรมการผลิตขนมหวานสำเร็จรูป ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าค้าปลีกสูงถึง 37 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 และอุตสาหกรรมนี้ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 58,000 คน จากโรงงานมากกว่า 1,500 แห่งใน 50 รัฐ ซึ่งนับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ผลิตจำนวนมาก

ซึ่งผลผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐฯ เองมีสัดส่วนทางการตลาดสูงถึง 70% และมีสัดส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศ 30%

โดยชิคาโก ที่ตั้งอยู่ในรัฐอิลลินอยส์ เป็นเมืองที่ได้สมญานามเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าลูกกวาดของโลก (Candy Capital of the World) เพราะมีโรงงานของผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงหลายรายตั้งอยู่ จึงทำให้ชิคาโกจะมีการจัดงานแสดงสินค้า Sweets & Snacks Expo ในทุก ๆ ปี

สำหรับผู้นำตลาดขนมหวานสำเร็จรูป 5 อันดับแรกของสหรัฐฯ ประกอบด้วย
Hershey’s ส่วนแบ่งทางการตลาด 32%
Mars Wrigley ส่วนแบ่งทางการตลาด 27%
Nestle’ ส่วนแบ่งทางการตลาด 10%
R Stover ส่วนแบ่งทางการตลาด 6%
Mondelez ส่วนแบ่งทางการตลาด 5%

โดยผู้ผลิตเหล่านี้มีทั้งการผลิตและจำหน่ายเอง รวมถึงการนำเข้าขนมหวานสำเร็จรูป และ Chocolate จากต่างประเทศด้วยเช่นเดียวกัน

ซึ่งสหรัฐฯ ได้นำเข้าสินค้าขนมหวานสำเร็จรูปจากแคนาดามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 39.43% ในช่วงปี 2563-2564 ตามมาด้วย เม็กซิโก เป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน 23.49% ส่วนอันดับที่ 3 คือ เยอรมนี ด้วยสัดส่วน 6.04% และนำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 56.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1,962.45 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่ม 40.35%

ขณะที่การนำเข้าสินค้าขนมหวานสำเร็จรูปกลุ่ม Chocolate ระหว่างปี 2563-2564 พบว่า สหรัฐฯ นำเข้าจาก แคนาดา มากที่สุดเช่นเดียวกันด้วยสัดส่วน 46.87% และนำเข้าจากเม็กซิโกด้วยสัดส่วน 14.63% ขณะที่นำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 6.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (212.8 ล้านบาท) ขยายตัว 896.72%

ถึงแม้ 2 ส่วนนี้สหรัฐฯ จะนำเข้าจากไทยค่อนข้างน้อย แต่หากเป็นการนำเข้าสินค้าขนมหวานสำเร็จรูปกลุ่ม Non-Chocolate จะพบว่า ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับที่ 7 ของสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า 51.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1,814.05 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31.75%

#โอกาสสำหรับการขยายตลาดของไทย
หากเป็นสินค้าประเภทขนมหวานสำเร็จรูปของไทย สามารถนำเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ โดยได้รับการยกเว้นภาษีในหลายประเภทด้วยกัน และจากการที่การนำเข้าขยายตัวของตลาดต่อเนื่องในระดับสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นการแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

โดยผู้นำเข้าในสหรัฐฯ จะมองหาสินค้ารายการใหม่ ๆ เพื่อนำมาเสนอต่อกลุ่มผู้บริโภคหลากหลายในสหรัฐฯ เช่น กลุ่มผู้บริโภคฮิสแปนิก (กลุ่มคนที่พูดภาษาสเปน หรือสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่พูดภาษาสเปน) รวมไปถึงกลุ่มผู้บริโภคเอเชีย

เป็นโอกาสของผู้ประกอบการ Startup ในการนำเสนอสินค้าขนมหวานสำเร็จรูปชนิด
เป็นนวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคมีผลต่อความต้องการสินค้า ขนมหวานสำเร็จรูป ประเภทที่ส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้น Plant-based confectionery กำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรง และตอบโจทย์ให้กับความต้องการของกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

และช่องทาง E-Commerce เป็นช่องทางที่ผู้บริโภคนิยมซื้อ โดยขนมหวานสำเร็จรูปถูกจำหน่ายในช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก และขยายตัวสูง 19.9% ในปี 2564 สำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์จำหน่าย ซึ่งเป็นที่นิยมในสหรัฐฯ ได้แก่ Amazon.com, Walmart.com, dylandycanybar.com, sugarfina.com

และเนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่มีชื่อเสียง จึงต้องอาศัยจุดแข็งนี้มาปรับรูปแบบสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่า ให้กลายเป็นขนมหวานสำเร็จรูป โดยคงรูปแบบรสชาติผลไม้ เช่น Fruit Twists, Hot Extruded Fruit Strips, Fruit Straws, Fruit Bits, Fruit Shapes, Fruit Sandwiches

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องลองหาไอเดียสำหรับการสร้าง ขนมหวานสำเร็จรูปที่ส่งเสริมในเรื่องสุขภาพ เพราะปัจจุบันกระแสการบริโภคเพื่อสุขภาพ มาแรง ผู้ผลิตจึงได้ปรับตัวผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว โดยการลดปัจจัยที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพลง เช่น ลดน้ำตาล ลดปริมาณเกลือ ลดไขมัน หรือเพิ่มการปรุงแต่งรสแบบรสธรรมชาติและนำเสนอสินค้าหลากหลายรูปแบบเพื่อสนองความต้องการผู้บริโภค

ประกอบกับควรทำการตลาด และโฆษณาสินค้าผ่าน Social Media ต่าง ๆ พ่วงกับการจัดโปรโมชันตามเทศกาลต่าง ๆ หรือแม้จะใช้กลยุทธ์การซื้อ License ตัว Cartoon Character ที่เป็นที่รู้จักและนิยมในสหรัฐฯ เพื่อนำมาประกอบกับฉลากบรรจุภัณฑ์หรือทำเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่ Candies เช่น Disney’s, Nintendo, Barbie, Hello Kitty, Trolls ซึ่งจะมุ่งจำหน่ายไปยังผู้บริโภคกลุ่มเด็ก สินค้าในกลุ่มนี้นำเข้าจากต่างประเทศในอัตราสูง

ซึ่งงาน Sweets & Snacks Expo 2022 ที่จัดไปเมื่อวันที่ 24-26 พฤษภาคม
2565 เป็นงานแสดงสินค้านานาชาติแบบ B2B สำหรับตลาดสินค้าขนมขบเคี้ยว ของทานเล่น และลูกกวาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอเมริกาเหนือได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ในปีนี้ขนมขบเคี้ยว ของทานเล่นที่ทำจากพืชหรือ Plant-based food กำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรง

ตัวอย่างสินค้าที่นวัตกรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ The Most Innovative New Product Awards (MINPA) ประจำปี 2022 จากสมาคม NCA เช่น ช็อคโกแล็ต Classic Recipe ที่ทำจากนมข้าวโอ๊ตของบริษัท Lindt & Sprungli (USA)

Carrot Bacon ของบริษัท Carolina Smoke ประเภท plantbased jerky ที่ทำจากแครอท มีส่วนผสมของน้ำมันมะกอก, Pure Canadian Maple Syrup เครื่องเทศ กระเทียม และปลอด Gluten, หมากฝรั่ง Gums & Mint รสผลไม้ผสม ไร้น้ำตาล ของบริษัท Mars

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ขนมหวาน #ตลาดขนมหวาน #ผู้ประกอบการไทย